บทความเกี่ยวกับ คู่มือเลี้ยงลูก
คนเป็นคนที่ - 6667 [Date : 25 ธ.ค. 2550 ]   
 
สารตะกั่ว... ตัวอันตราย!
 
วันที่ 25 ธ.ค. 2550   โดย นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
 
 

 

 

ที่มาของสารตะกั่ว

 

เรื่องราวของความปลอดภัยในเด็ก เดือนที่ผ่านมานี้ คงไม่มีข่าวไหนฮือฮาเท่า ข่าวฝรั่ง 2 ชาติประกาศอย่างโครมครามว่า...ของเล่นเด็กที่ผลิตในจีนนั้น...เป็นพิษ!

ฝรั่ง 2 ชาติที่ว่านี้ก็คือ ผู้บริหารบริษัทของเด็กเล่นอเมริกัน (บ.แมทธิว) และ อังกฤษ (บ.แฮมเลียร์) โดยรายแรงแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้จัดจำหน่ายด้วยการขอรับของเล่นที่ผลิตในจีนคืนมาทั้งหมดรวมแล้วกว่า 18 ล้านชิ้น

เนื่องจากตรวจพบ (หลังจากกระจายสินค้าไปแล้วทั่วโลก) ว่า สีที่ใช้กับของเล่นนี้ มีสารตะกั่วปนเปื้อนเกินมาตรฐาน หนำซ้ำของเล่นหลายชนิดยังมีส่วนประกอบของแม่เหล็กเล็กๆ ที่หมิ่นเหม่อันตรายหากนำไปอม หรือกัด แล้วกลืนแม่เหล็กลงไปติดคอ

นอกจากนั้นยังมีของเล่นเด็กที่ทำจากไม้ทาสี ที่พบว่ากล่องไม้บรรจุภัณฑ์มีสารตะกั่วปนเปื้อนเกินกำหนด ในขณะที่อังกฤษยืนยันว่าได้เก็บของเล่นสารตะกั่วจากจีนทั้ง 2 รายการจนเกลี้ยงห้างแล้ว แถมยังรับปากอีกว่า จากนี้ไปจะกวดขันกับสินค้าจีนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อผลการตรวจสอบสินค้าประเภทสร้อยข้อมือที่ขายดิบขายดีราคา 5 ปอนด์ (320 บาท) ปนเปื้อนสารตะกั่วถึง 93% อันเป็นปริมาณที่สูงลิบ ขนาดทำอันตรายต่อสมอง หากเด็กคนไหนหยิบไปเคี้ยวเล่น

หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน ข่าวเรื่องที่ศูนย์อนามัยและสิ่งแวดล้อมแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ออกมาระบุว่า ผ้ากันเปื้อนสำหรับเด็ก (ผ้ากันน้ำลาย) รูปหมีพูห์ ซึ่งผลิตจากจีนก็พบสารตะกั่วเจือปนสูงกว่ามาตรฐานของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม ที่ได้กำหนดไว้ถึง 4 เท่า

จะพบว่าในระยะที่ผ่านมา สินค้าจีนเสียรังวัดไปมากกับข่าว “เชิงลบ” ในเรื่องของความปลอดภัย ที่นอกจากจะมีการปนเปื้อนของสารตะกั่ว ยังมีเรื่องของอาหารสัตว์เลี้ยง ที่มีสารเมลามีนปนเปื้อนเกินมาตรฐานถึงกับทำให้เจ้าโฮ่ง-เจ้าเหมียวแสนรักของชาวอเมริกันถึงกับสิ้นใจตายมาแล้วหลายตัว

ส่วนในปานามา ที่ระบุว่ามีคนเสียชีวิตจากยาแก้ไอเมดอินไชน่ามาแล้วถึง อย่างน้อย 5 คน เพราะปนเปื้อนด้วยสารทำละลายที่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม

ส่วนประเทศแถบละติน หรือแม้แต่สิงคโปร์ ก็เซย์โนยาสีฟันจากจีนหลังการตรวจพบนำสารละลายมาใช้เพิ่มความหวานให้กับยาสีฟัน

 

สารตะกั่ว...มีผลอย่างไร

 

สารตะกั่วเป็นโลหะหนักที่เป็นส่วนผสมสำคัญของสีและตัวพลาสติกในของเล่น หากสีของเล่นหลุดลอกติดมือเด็กได้ง่ายเด็กจะเอามือสัมผัสอาหารหรือดูดอมมือเล่น สารตะกั่วเหล่านั้นจะเป็นอันตรายต่อเด็กได้ง่าย

สารตะกั่วเป็นสารที่นานาประเทศก็ล้วนแต่ซีเรียสกับพิษภัยของมันเหตุเพราะมันมีอันตรายถึงขั้นชักได้หากได้รับในปริมาณมาก หรือหากได้รับน้อยๆ แต่บ่อยๆ ก็เท่ากับสะสมพิษร้ายทุกวี่ทุกวันอย่างไม่รู้ตัวโดยอาจมีอาการตั้งแต่ ท้องผูก-เบื่ออาหาร-ปวดท้อง-ซีด เพราะเม็ดเลือดถูกทำลาย กระทั่งเกิดความผิดปกติทางสมอง พัฒนาการล่าช้า ระดับสติปัญญาลดต่ำ มีปัญหาทางพฤติกรรม

โดยเฉพาะเด็กๆ เราต้องระมัดระวังเรื่องของสารตะกั่วให้มาก เพราะธรรมชาติของเด็กๆ นั้น มักดูดซึมพิษร้ายจากตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่ (เด็ก 40 %, ผู้ใหญ่ 10%)

 

·        ในบ้านเรานั้นนอกจากบรรดาของเล่นที่คุณพ่อคุณแม่ (แทบทั้งหมดเลยก็ว่าได้) ยังไม่ค่อยเชื่อมั่นกับการตรวจ การคัดกรองมาตรฐานความปลอดภัย

·        ว่ากันว่ามีการนำเปลือกแบตเตอรี่ที่ทิ้งแล้ว เอาไปปูลาดเป็นถนนคนเดินในหลายๆ แห่ง

·        จากการสำรวจสินค้าประเภทสีระบาย และของเล่นสำหรับเด็กที่ขายลดราคา โดยเฉพาะที่วางขายตามแผงลอย พบว่ามีสารตะกั่ว เกินมาตรฐานแทบทั้งสิ้น

·        พบสารตะกั่วในถังน้ำเย็นสแตนเลสของโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เหตุเพราะถังน้ำเย็นเหล่านั้นโดยมากมีการบัดกรีเชื่อมต่อตัวถังด้วยตะกั่ว แล้วยังพบอีกว่า ในวันจันทร์จะพบสารตะกั่วในน้ำมากกว่าทุกวัน เพราะน้ำขังสะสมไว้ในวันที่นักเรียนหยุด (เสาร์,อาทิตย์)

(เหตุการณ์คล้ายกันนี้ เคยเกิดขึ้นขึ้นมาแล้วในสหรัฐอเมริกา เมื่อ 20 ปีก่อน ทางรัฐแก้ปัญหาโดยเรียกเก็บคืนถังน้ำที่มีปัญหาทั้งหมด)

·        ยากวาดลิ้น เพื่อแก้ปัญหาลิ้นเป็นฝ้าขาวในเด็ก อันยังเป็นที่นิยมกันในบ้านเรา ปรากฏว่าเมื่อไดรับการตรวจสอบจากกระทรวงสาธารณสุข ก็เป็นที่น่าตกใจ เพราะพบสารตะกั่วในยากวาดลิ้น ที่สูงกว่ามาตรฐานถึง 700 เท่า!

คุณหมอจึงได้ออกมาให้ความรู้แก่คุณพ่อคุณแม่ว่าการแก้ปัญหาลิ้นเป็นฝ้าขาวเนื่องจากดื่มนมนั้น ก็คือ การใช้ผ้าสะอาดๆ ชุบน้ำสะอาดๆ แล้วเช็ดเบาๆ ที่ลิ้น-เหงือก-กระพุ้งแก้ม ไม่จำเป็นต้องใช้ยากวาดลิ้นให้เสียเงิน และเสี่ยงกับพิษของสารตะกั่ว

·        เด็กไทยที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง มีแนวโน้มได้รับสารตะกั่วมากขึ้น ตามอายุที่เพิ่มขึ้น เพราะเหตุเด็กๆ ต้องสูดดมควันพิษจากรถ ฝุ่นละอองและมลภาวะต่างๆ ในเมือง ทั้งการเดินทางไปโรงเรียนในแต่ละวัน ทั้งเดินเท้า นั่งรถ หรือนั่งเรือ

นั่นรวมทั้งเด็กๆ ที่วิ่งเล่นตามข้างถนน หรือ ในสนามเด็กเล่นที่อยู่ติดถนนมีการจราจรที่พลุกพล่าน

 

บ้านเรามีระบบควบคุมความปลอดภัยในของเล่นนี้อย่างไร

 

ในประเทศไทยของเล่นถูกควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่น มาตรฐาน มอก.ที่ 685 – 2530 ซึ่งได้มีการแก้ไขตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 2280 (พศ 2540) ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับ กล่าวคือของเล่นที่ไม่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานไม่สามารถขายได้ อย่างไรก็ตาม วิธีการรับรองมาตรฐานเป็นเพียงการรับรองโรงงานผู้ผลิต และรับรองเป็นประเภทและแบบของของเล่น (22 แบบ) ผู้ผลิตที่ได้ใบรับรองแบบใดแบบหนึ่งสามารถเปลี่ยนชนิด (รุ่น) ของของเล่นในแบบเดียวกันได้โดยไม่ต้องขอใบรับรองอีก

ในมาตรฐานดังกล่าวปี 2530 ได้กำหนดให้สารตะกั่วในสารละลายที่สกีดได้จากสีและสารเคลือบอื่นๆ บนของเล่นมีค่าไม่เกิน 250 มก. ต่อ กก. และได้ถูกแก้ไขให้ลดลงเป็น 90 มก.ต่อกก. ในปี 2540 ซึ่งเป็นไปมาตรฐานสากล

นอกจากนั้นตามมาตรฐาน กระทรวงอุตสาหกรรมยังกำหนดให้ตรวจสอบโลหะหนักอีก 7 ชนิด ซึ่งหากสะสมแล้วจะเกิดผลเรื้อรัง คือ

 

·        โครเมียม มีผลให้ไตอักเสบ แผลที่ผิวหนังและเยื่อบุผิว รวมทั้งเป็นสารก่อมะเร็งระบบทางเดินหายใจ

·        ปรอท ทำให้เกิดผิวหนังลอกแดง มีผลต่อสมองทำให้ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง

·        แคดเมียม ทำให้เกิดกระเพาะ ลำไส้อักเสบ ปอดอักเสบ ไตทำงานผิดปกติ และเป็นสารก่อมะเร็งปอด

·        สารหนู ทำให้เกิดตับอักเสบ ตัวเหลืองผิวหนังสีดำ ทำลายเส้นประสาททำให้ชา เป็นอัมพาต และทำให้ไตอักเสบได้

·        พลวง มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดปอดอักเสบและเป็นสารก่อมะเร็งในปอด

·        แบเรียม ทำให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงหัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจมีผลต่อสมองและไต

·        ซิลิเนียม ผลการสะสมเรื้อรังไม่ชัดเจน พบมีการสะสมในเล็บ เส้นผม และฟัน

 

การป้องกัน

 

พ่อแม่ต้องเลือกของเล่นโดยดูจากผู้ผลิตที่เราตรวจสอบได้ คือ มีเครื่องหมายมอก. (มาตรฐานอุตสาหกรรม) และมีชื่อที่อยู่ผู้จัดจำหน่ายชัดเจนตามกฎหมายกำหนด ของเล่นที่ไม่มีมอก. ไม่มีหลักประกันความปลอดภัยใดๆ

หลีกเลี่ยงของเล่นที่มีสีลอกเป็นผง หรือลอกเป็นแผ่นๆ เพราะเด็กหยิบจับแล้วสีติดมือเด็กเอาเข้าปากได้

ของเล่นมีมอก. แล้ว ก็ยังมีปลอมได้อีก ของเล่นนำเข้าบางครั้งไม่ยอมตรวจตามกำหนด รั่วไหลทะลุด่านเข้ามา แล้วมาติดมอก. ปลอมได้ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องมารวมพลังกันเสนอแนะให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค กำกับให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ปฏิบัติตามกฎอย่างจริงจัง ให้ดำเนินการสุ่มส่งตรวจบ่อยๆ หากมีอันตรายให้รีบเก็บสินค้า ลงโทษทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่าย

เพราะหากมียี่ห้อมอก.ปลอมแล้วละก็ ประชาชนจะหมดสิทธิช่วยเหลือตนเองได้เลย หน่วยงานที่รับผิดชอบต่างหากที่จะต้องออกมาสร้างระบบป้องกันที่เข้มแข็ง

ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น กรณีบริษัทแมทเธว บริษัทของเล่นใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกา เรียกได้ว่าเป็นทำการฮาราคิรีคว้านไส้ตัวเอง เพราะของเล่นดังกล่าวเป็นของเล่นของตัวเองที่จ้างวานโรงงานในประเทศจีนผลิต การประกาศดังกล่าวนับว่าใจถึงมาก เพราะอย่างไรแมทเธวก็ไม่เปลี่ยนฐานการผลิตจากจีนไปประเทศอื่นเป็นแน่ และการกระทำครั้งนี้ก็ไม่แน่ว่าจะทำให้ผู้ซื้อรักบริษัท มั่นใจในบริษัทมากขึ้น ตรงกันข้ามอาจรู้สึกว่าบริษัทควบคุมและทำคิวซีโรงงานต่างๆ ในเครือข่ายได้ไม่ดี ก็เลยหันไปซื้อของบริษัทอื่นเสียเลยจะดีกว่า

ต้องซูฮกความใจถึง ความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท (CSR : corporate social responsibility) และต้องยอมรับองค์กรควบคุมมาตรฐานและคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศเขาด้วย

พ่อแม่ต้องรวมพลังกันเชียร์หน่วยงานบ้านเราให้เข้มแข็งแบบเขาบ้างครับ

 
 

[ ที่มา...นิตยสารบันทึกคุณแม่ No.171 October 2007 ]

URL Link : http://www.familydirect.co.th

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]