บทความเกี่ยวกับ คู่มือเลี้ยงลูก
คนเป็นคนที่ - 7172 [Date : 23 พ.ย. 2550 ]   
 
ตาเอย...ทำไมขี้เกียจ
 
วันที่ 23 พ.ย. 2550   โดย พญ.สิทธิกา โคกขุนทด
 
 

 

 

โรคตาขี้เกียจ อาจไม่คุ้นหู แต่เชื่อไหมว่ามีเด็กหลายคนที่เป็นโรคนี้โดยพ่อแม่เองก็ไม่รู้ เพราะหากว่ามองเผินๆ เหมือนไม่มีอะไรผิดปกติ ดังนั้นเรามาทำความรู้จักและคอยสังเกตโรคตาขี้เกียจก่อนจะสายเกินแก้กันเถอะค่ะ

ตาขี้เกียจ (lazy eye) คือ ภาวะที่ตาของเด็กมัวลง หรือมีการมองเห็นที่ผิดปกติของตาเด็ก หากตรวจพบเนิ่นๆ จะสามารถรักษาหายได้ง่าย แต่ถ้าไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง หรือปล่อยทิ้งไว้ สายตาข้างที่มีความิดปกติ ก็อาจจะสูญเสียการมองเห็นไปแบบถาวร

ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับโรคตาขี้เกียจที่พ่อแม่ต้องให้ความสนใจ เพื่อสุขภาพตาที่ดีของลูก พญ.สิทธิกา โคกขุนทด จะนำข้อมูลดีๆ มาบอกเล่าให้ทราบค่ะ

ทำไมจึงเป็นตาขี้เกียจ

โดยปกติแล้วพัฒนาการของสายตาคนเราเริ่มตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ และพัฒนาจนสมบูรณ์เมื่ออายุ 6-7 ขวบ พัฒนาการของการมองเห็นนี้จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นให้สามารถมองเห็นโดยใช้ตาทั้ง 2 ข้างได้อย่างปกติ

แต่ถ้ามีความผิดปกติ หรือมีสาเหตุที่ทำให้ตาอีกข้างไม่ได้ใช้มอง หรือว่าอาจใช้มองน้อยกว่าอีกข้างในช่วงแรกเกิด จนถึงอายุ 7 ปี ก็จะทำให้ตาพัฒนาได้ไม่เต็มที่อาจทำให้ตาข้างนั้นมัวไปตลอดชีวิต

สาเหตุของตาขี้เกียจ

โรคตาขี้เกียจไม่ใช่อยู่ๆ ก็เป็นได้ ต้องเกิดร่วมกับความผิดปกติอื่นๆ ทางสายตาจนส่งผลให้เกิดโรคตาขี้เกียจขึ้น เช่น

1. ภาวะตาเข เป็นภาวะที่แนวการมองของตาทั้งสองข้างไม่ขนานกัน ทำให้เกิดการเห็นภาพซ้อน (การมองเห็นของหนึ่งชิ้นเป็นสองชิ้น) ซึ่งสมองของเด็กจะมีการปรับตัวเพื่อขจัดภาพซ้อน โดยการสร้างจุดบอดขึ้นมาบดบังภาพที่เกิดจากตาข้างที่เข เด็กจึงข้างที่มองเพียงข้างเดียว ทำให้ตาข้างที่เขไม่ทำงาน จึงเกิดเป็นตาขี้เกียจได้ในที่สุด

2. ภาวะสายตาผิดปกติ จะเป็นภาวะที่แสงไม่สามารถที่จะรวมภาพได้ชัดเจนที่จอประสาทตา เด็กจึงมองเห็นไม่ชัด แต่สมองจะจำไว้ว่า นี่แหละคือภาพที่ชัดที่สุดและจะจำเช่นนี้ตลอดไป ได้แก่ สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ถ้าไม่แก้ไขตั้งแต่ตอนอายุยังน้อยๆ ก็จะเกิดตาขี้เกียจ ซึ่งอาจจะเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ เช่น เด็กที่มีสายตาผิดปกติมากๆ สั้นมาก ยาวมาก หรือเอียงมากทั้ง 2 ข้างเมื่อโตแล้วมาตรวจสายตา อาจพบว่าตาข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างไม่สามารถปรับระดับสายตาให้เป็นปกติได้ เนื่องจากเป็นตาขี้เกียจมาก่อนแล้ว

3. ภาวะที่สายตาทั้ง 2 ข้าง แตกต่างกันมาก คือ มีสายตาสั้นมากหรือยาวมากข้างเดียว เด็กจึงเลือกใช้เฉพาะข้างที่ดีมองทำให้ตาอีกข้างหนึ่งขี้เกียจ เช่น ถ้าสายตาข้างขวาสั้น 100 ข้างซ้ายสั้น 800 จะพบว่าตาข้างซ้ายมีภาวการณ์มองเห็นไม่ชัดเจนเท่าตาข้างขวา ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะเกิดตาขี้เกียจในภายหลัง

เด็กกลุ่มนี้พ่อแม้ไม่ทราบว่าลูกมีความผิดปกติทางสายตา เพราะว่าจะไม่มีลักษณะตาเขเป็นที่สังเกต และพฤติกรรมการมองเห็นจะเหมือนกับเด็กปกติทั่วๆ ไปเนื่องจากเด็กใช้ตาข้างที่ดีมอง แต่เมื่อไหร่ที่ลองปิดตาข้างที่ดีของลูก จึงจะพบว่ามีตาขี้เกียจข้างหนึ่ง

4. ภาวะบดบังทางเดินของแสง นั่นคือภาวะใดๆ ก็ตามที่มีภาวะบดบังทางเดินของแสงเข้าไปกระตุ้นถึงในจอประสาทตา เช่น กระจกตาดำขุ่นเป็นฝ้าขาว กระจกตาดำโค้งผิดรูป ต้อกระจก มีเลือดออกภายในลูกตา เป็นต้น หรือภาวะที่ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งมีความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด เช่น เปลือกตาลงมาปิดตาดำครึ่งหรือค่อนไปทางข้างใดข้างหนึ่งตลอดเวลา ทำให้ดวงตาข้างนั้นถูกปิดบังการมองเห็น

ถ้าภาวะเหล่านี้เกิดในเด็กที่อายุน้อยกว่า 6-7 ปี จะทำให้ตาข้างนั้นขี้เกียจได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจตลอดไป ถึงแม้ว่าจะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ก็ไม่สามารถกลับมามองเห็นได้ปกติ เด็กๆ กลุ่มนี้จึงต้องรีบรักษาด้วยการให้แสงผ่านศูนย์กลางาการมองภาพชัดให้เร็วที่สุด ซึ่งโรคตาขี้เกียจจากสาเหตุในข้อนี้ จะรักษายากที่สุด

5. ภาวะตาขี้เกียจซ้อน เกิดจากการปิดตาเป็นเวลานานๆ เช่น ในกรณีเด็กมีตาเขข้างเดียว ร่วมกับตาขี้เกียจ หมอจะแนะนำให้ปิดตาข้างที่ดีเพื่อกระตุ้นให้ตาอีกข้างได้ใช้งาน ถ้าหากว่าปิดตานานเกินไป ไมได้มารับการตรวจการมองเห็นจากจักษุแพทย์ตาข้างที่ดีที่ปิดอยู่นั้นก็อาจจะเกิดตาขี้เกียจขึ้นมาได้เช่นกัน

สังเกตตาขี้เกียจจากพฤติกรรมลูก

เนื่องจากว่าโรคนี้จะไม่สามารถสังเกตความผิดปกติได้จากภายนอก จาก 5 ข้อที่กล่าวมาสแล้วในตอนต้นคุณพ่อคุณแม่อาจต้องสังเกตจากพฤติกรรมดังต่อไปนี้

  • ลูกเล่นของเล่นที่ใกล้มากๆ
  • ดูตาเหล่ตลอดเวลา เหล่บางครั้ง
  • จำหน้าพ่อแม่ไม่ได้
  • ซนโน่นซนนี่บ่อยเกินไป

เห็นตาดำผิดปกติ ตาโตดูไม่เท่ากัน

วิธีทดสอบ

ลองนำของเล่นมาหลอกล่อแล้วใช้มือปิดบังตาข้างใดข้างหนึ่งไว้ หากตาลูกไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อของเล่น แสดงว่าตาข้างนั้นของลูกอาจจะมองไม่เห็นสิ่งของที่อยู่ตรงหน้าได้ดี

การพาลูกไปตรวจตาด้วยเครื่องวัดสายตาอัตโนมัติระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันตามร้านแว่นนั้น ไม่สามารถบอกภาวะตาขี้เกียจได้ จึงควรพาลูกรับการตรวจอย่างละเอียดจากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนที่เด็กจะเข้าสู่วัยเรียน คืออายุประมาณ 3 ปี

โรคนี้...รักษาได้

ตาขี้เกียจสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ แต่จะได้ผลดีขนาดไหนขึ้นอยู่กับอายุของเด็กยิ่งอายุน้อยโอกาสที่สายตาจะกลับสู่ปกติก็จะยิ่งมาก

วิธีรักษา แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย โดยเลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือใช้หลายวิธีผสมกันดังนี้

1. การสวมแว่น วิธีนี้จะง่ายที่สุดค่ะใช้ในกรณีที่มีภาวะสายตาผิดปกติ เพื่อให้เด็กสามารถมองเห็นได้ชัดจึงจำเป็นต้องสวมแว่นตาไว้ตลอดเวลา

2. การปิดตาข้างที่ดี ใช้สำหรับรายที่มีภาวะตาขี้เกียจข้างเดียว และจะยังมีอาการตาขี้เกียจอยู่แม้จะสวมแว่นตา

3. การหยอดยาขยายม่านตา เพื่อให้ตาข้างที่หยอดซึ่งเป็นตาข้างที่ดี มองไม่ชัดเป็นการกระตุ้นให้ตาข้างที่ขี้เกียจมีการใช้มากขึ้น

4. การผ่าตัดกล้ามเนื้อตา วิธีการนี้ใช้สำหรับเด็กตาขี้เกียจที่มีภาวะของตาเขร่วมด้วยเท่านั้น ซึ่งต้องได้รับการรักษาโดยการปิดตาข้างที่ดีเอาไว้ และเด็กสวมแว่นสายตาได้เป็นที่น่าพอใจแล้ว

เด็กบางคนการปิดตาเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่พอ จึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้นประสาทตาร่วมด้วยโดยการใช้เครื่องช่วยฝึกกล้ามเนื้อตา (symoptophor) เข้าช่วยในระยะแรกๆ ร่วมกับการปิดตาข้างที่ดี

นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยความร่วมมือของพ่อแม่ที่จะช่วยกระตุ้น ช่วยฝึกการใช้สายตาให้ลูก ซึ่งถ้าทำตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด ผลการรักษามักจะออกมาดี

 
 

[ ที่มา...นิตยสารรักลูก ปีที่ 25 ฉบับที่297 ตุลาคม 2550 ]

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]