บทความเกี่ยวกับ เสพสมให้สมอารมณ์หมาย
คนเป็นคนที่ - 7699 [Date : 07 พ.ย. 2550 ]   
 
พื้นฐานนำทางสู่การยอมรับในสังคม
 
วันที่ 07 พ.ย. 2550   โดย ทักษะสังคม
 
 

ทักษะสังคมเปรียบเสมือนรากแก้วแห่งการปรับตัวให้เรียนรู้กฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้ลูกมีพื้นฐานทางสังคมที่ดีต่อไป พ่อแม่จึงควรเรียนรู้และส่งเสริมทักษะเหล่านี้ให้เจ้าตัวเล็กอย่างถูกวิธีค่ะ

ทักษะสังคมสำคัญตรงไหน?

บางคนอาจจะเข้าใจว่า การเข้าสังคมฝึกฝนกันได้เมื่อลูกโตหรือย่างเข้าสู่วัยทำงาน แต่จริงๆ แล้วทักษะทางสังคมของลูกสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่แรกเกิดเลยล่ะค่ะ ลูกวัยเบบี๋จะเรียนรู้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวผ่านธรรมชาติการเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นพื้นฐาน ก่อนจะพัฒนาไปสู่การรู้จักตอบสนอง และมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นตามแบบแผนที่คนในสังคมปฏิบัติกัน เพื่อเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นในสังคม และเข้ากับคนอื่นในสถานการณ์ที่แตกต่างกันต่อไป เพราะฉะนั้นทักษะสังคมของลูกจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเริ่มฝึกกันตั้งแต่แรกเกิดค่ะ

พ่อแม่&สิ่งแวดล้อม ช่วยลูกสร้างทักษะสังคม

เมื่อคุณแม่รู้กันแล้วว่า ทักษะสังคมมีความสำคัญต่อการปรับตัวให้อยู่ในสังคมต่อไปในอนาคตได้อย่างไร ลองมาดูกันบ้างว่าอะไรที่จะเป็นตัวช่วยในการสร้างทักษะของลูกบ้าง

พ่อแม่ ถือเป็นตัวช่วยที่สำคัญที่สุด เพราะความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกในช่วงแรกของชีวิต จะหยั่งรากลึกในเรื่องทักษะทางสังคมของลูก ถ้าพ่อแม่มอบความรัก ความอบอุ่น และมีปฏิสัมพันธ์กับลูกอย่างเหมาะสมตั้งแต่แรกเกิด ความรู้สึกแรกของลูกที่ได้อยู่ในวงแขนอันอบอุ่นของคุณแม่ย่อมมีผลต่อความมั่นคงทางอารมณ์และต่อเนื่องไปที่พัฒนาการทางสังคมของลูกในอนาคตอย่างแน่นอนค่ะ

สิ่งแวดล้อมในบ้าน เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ลูกเรียนรู้วิธีสร้างความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกับคนอื่นนะคะ เพราะลูกจะเรียนรู้ผ่านการเฝ้าดูพฤติกรรมที่คนรอบตัวปฏิบัติกัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่พ่อปฏิบัติกับแม่ หรือวิธีที่แต่ละคนปฏิบัติต่อตัวลูกเอง ลูกจะซึมซับและนำวิธีการเหล่านี้ไปลองปฏิบัติกับผู้อื่นต่อไป

โอกาส เมื่อลูกน้อยได้รับการเลี้ยงดูที่ดีจากพ่อแม่และตัวอย่างที่ดีที่แวดล้อมรอบตัวลูกแล้ว ควรเปิดโอกาสให้ลูกเมื่อลูกน้อยได้รับการเลี้ยงดูที่ดีจากพ่อแม่และตัวอย่สงที่ดีที่แวดล้อมรอบตัวลูกแล้ว ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ทดลองใช้วิธีการเข้าสังคมที่เขาซึมซับมากับคนอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัวบ้าง ปล่อยให้ลูกออกไปเล่นกับเพื่อนนอกบ้าน หรือไปสนามเด็กเล่น โดยมีพ่อแม่คอยเฝ้าดูอยู่ใกล้ๆ เพราะถ้าไม่มีการเปิดโอกาสจากพ่อแม่ ลูกก็จะไม่รู้จักการสร้างมิตรภาพที่แท้จริงค่ะ

ทักษะสังคมของคนตัวเล็ก

ในแต่ละช่วงวัยของชีวิต ลูกจะเรียนรู้ทักษะสังคมได้แตกต่างกันค่ะ แม้แต่วัยขวบปีแรกของลูก เขาก็เรียนรู้ทักษะสังคมได้อย่างครบถ้วนแล้ว แต่พัฒนาการทางสังคมอาจจะไม่โดดเด่นอย่างพัฒนาการด้านร่างกาย จนกระทั่งก้าวผ่านขวบปีแรกขึ้นไปนั่นล่ะค่ะทักษะสังคมของเจ้าตัวเล็กจึงเริ่มปรากฎอย่างชัดเจนขึ้น

1 ปี
  • แรกผลักจากทักษะการสื่อสารที่ดีขึ้น ทำให้เจ้าตัวเล็กออกไปสู่โลกกว้าง แต่ความผูกพันกับแม่ยังมีอยู่อย่างเหนียวแน่นจึงมักไม่ยอมห่างแม่
  • แสดงอารมณ์ชอบไม่ชอบออกมาอย่างชัดเจน
  • ยังไม่ค่อยสนใจที่จะเล่นกับเพื่อนเท่าไหร่

2 ปี
  • ความรู้สึกต้องการอิสระยังขัดแย้งกับความกลัวถูกพรากจากแม่
  • ครั้งแรกที่เจอกันแม้จะมีทีท่าว่าเป็นมิตร แต่เจ้าตัวเล็กยังมีอาการหวงของเล่น

3 ปี
  • มีบางช่วงที่เจ้าตัวเล็กไม่ยอมเพื่อน เวลาเล่นกับเด็กวัยเดียวกันค่อนข้างเกเรผลักเพื่อนบ้าง แย่งของเล่นบ้าง
  • มองดูเด็กคนอื่นเล่นอาจจะไปเล่นด้วยสักเดี๋ยว แต่ในไม่ช้าก็จะเล่นคนเดียวไม่ยุ่งกับใคร
  • เล่นกับเพื่อนคนโปรดหรือเล่นกันแค่ 2 คน

1-3 ปี

เป็นวัยที่เจ้าตัวเล็กนั้นเริ่มออกสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัว บางครั้งก็ละจากพ่อแม่ได้ชั่วครู่ชั่วยาม เพราะลูกเริ่มต้องการอิสระขณะที่ยังยึดตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางอยู่เจ้าตัวเล็กวัยนี้เริ่มรู้จักเข้ากลุ่มกับเด็กในวัยเดียวกันหรือโตกว่า เริ่มจะเลียนแบบเพื่อนใช้เวลาส่วนใหญ่จ้องมองดูว่าใครเขาทำอะไรกัน แต่คุณแม่จะสังเกตเห็นว่าลูกยังมีอาการหวงของเล่นอยู่ ขณะเดียวกันก็เริ่มรู้จักแบ่งปันของเล่นให้เพื่อนคนโปรดที่ชอบเล่นด้วยสักคนหรือ 2 คนเท่านั้น

การเข้าสังคมของลูกวัยนี้จึงคล้ายกับการลองผิดลองถูกเช่นเดียวกับการฝึกฝนทักษะด้านอื่น จนกว่าลูกจะอายุราวๆ 3 ปี นู่นล่ะค่ะจึงจะค่อยๆ เรียนรู้การเป็นเพื่อนที่ดี และรู้จักสร้างมิตรภาพกับคนอื่นได้อย่างราบรื่นมากขึ้น

Concern

เวลาแย่งของเล่น ลูกอาจจะขัดแย้งหรือทำร้ายเด็กคนอื่นบ้างเป็นปกติ แต่จะไม่ปกติแน่ถ้าลูกก้าวร้าวใส่คนอื่นตลอดเวลา เล่นกับใครไม่ได้เป็นต้องกัด ต้องตีหรือผลักคนอื่น ถ้าเป็นอย่างนี้คุณแม่ควรปรึกษาผู้ที่มีประสบการณ์หรือกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็กค่ะ

4 ปี
  • มีอะไรก็แบ่งปันเพื่อน แต่ก็ให้แบบรู้จักหวังผลตอบแทน
  • รู้จักผ่อนปรน รู้จักเข้ากลุ่ม แต่ยังไม่เข้าใจเรื่องการช่วยเหลือกัน
  • มีกลยุทธ์ในการเข้ากลุ่ม เช่น ทำท่าตลก พูดเรื่องขบขัน ชวนหัวเราะเพื่อให้เพื่อยอมรับ

5 ปี
  • เข้าใจความจำเป็นของการ “ให้” และการ “รับ”
  • สนใจที่จะเล่นเป็นกลุ่ม และเริ่มเกาะกลุ่มกันมากขึ้น
  • รู้จักกฎเกณฑ์และข้อตกลง เช่น เราเล่นได้ไกลสุดแค่หัวมุมถนนเท่านั้นนะ

6 ปี
  • อยากทำให้พ่อแม่และคนในบ้านพึงพอใจ
  • รู้จักการเป็นผู้นำเสนอความเห็นแบ่งปันของเล่นและเป็นเพื่อนกัน
  • แสดงความสนใจที่จะผูกมิตรกับคนอื่น

4-6 ปี

ถึงวัยนี้การเล่นของเล่นจะค่อยๆ หายไป เพราะเจ้าตัวเล็กรู้จักการแบ่งปัน และเรียนรู้วิธีที่จะเอาของเล่นกลับคืนมาจากเพื่อนแล้วล่ะค่ะ คุณแม่จึงจะเห็นว่าลูกในวัย 4-6 ปี สามารถเล่นด้วยกันเป็นกลุ่มประมาณ 3 คนได้อย่างรักใครปรองดองและสงบสุข แถมช่วงนี้เวลาส่วนใหญ่ของลูกยังจะใช้ไปกับการสมาคมกับเด็กคนอื่นเพราะอยากมีเพื่อน บางครั้งคุณแม่จะเห็นเจ้าตัวเล็กยอมเป็นลูกไล่ให้เด็กโตกว่าหรือยอมเข้ากลุ่มกับเด็กที่เล็กกว่าค่ะ

Concern

แม้ลูกวัยนี้จะเข้ากับเพื่อนและคนอื่นในสังคมได้ดี แต่คุณแม่ควรสอนให้ลูกได้รับของจากคนแปลกหน้า และระวังคนแปลกหน้าบ้างในบางสถานที่หรือบางสถานการณ์เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานที่คนพลุกพล่าน ฯลฯ เพราะคนแปลกหน้าที่ลูก (และแม่) ไม่รู้จักก็อาจทำอันตรายลูกได้

6 คาถาช่วยลูกผูกมิตร

เพื่อให้ลูกเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับคนอื่น คุณพ่อคุณแม่ควรแนะนำเทคนิคดีๆ เหล่านี้ไปมอบให้ลูกค่ะ
1. ใครๆ ต้องชอบหนู บอกลูกว่า ถ้าใครๆ ได้เจอหรือรู้จักเขาแล้วเป็นต้องชอบความน่ารักและความมีน้ำใจของเขาแน่นอน

2. ยิ้มเข้าไว้ สอนให้ลูกรู้จักยิ้มทักทายคนแปลกหน้าก่อน เพราะมิตรภาพใหม่ๆ จะงอกเงยจากรอยยิ้มพิมพ์ใจนี่เอง

3. เอาใจเขามาใส่ใจเรา สอนให้ลูกรู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่นอยู่เสมอ เราไม่ชอบอะไรคนอื่นก็อาจจะไม่ชอบเหมือนกัน

4. เป็นผู้ฟังที่ดี หากสอนลูกพูดคนเดียว เพื่อนอาจหนีหายไปแต่ถ้าสอนให้ลูกรู้จักฟังบ้าง ลูกจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้น

5. แบ่งปันและรอคอย เรื่องสำคัญที่จะทำให้ลูกรู้จักเพื่อนได้ง่ายขึ้น เพราะบางครั้งของเล่นอาจจะไม่เพียงพอกับเพื่อนในกลุ่ม ลูกจะต้องแบ่งให้เพื่อนเล่น และรอคอยของเล่นจากเพื่อน

ถ้าหนูมีปัญหาการเข้าสังคม
  • พอถึงเวลาเข้าโรงเรียนจริงๆ ลูกจะไม่รู้จักที่จะเล่นกับเพื่อนๆ

  • ไม่รู้จักอารมณ์ตัวเองและไม่รู้จักอารมณ์ของผู้อื่น ไม่รับรู้ความรู้สึกของเพื่อนๆ ว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร

  • ไม่รู้จักการีแบ่งปัน เพราะส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านลูกมักได้ของเล่นทุกชิ้นที่อยากได้และอยากจะเล่นอะไรก็ได้ พอถึงโรงเรียนของกล่น กลับไม่ใช่ของเขาคนเดียว ลูกจะออกอาการงงๆ และเริ่มงอแง

  • ชอบวิตกกังวล เศร้าซึม เจอบ่อยเวลาที่ลูกเริ่มเข้าโรงเรียนเพราะตื่นเพื่อนร่วมห้อง คุณครู หรือสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ

ถ้าหนูเข้าสังคมได้ดี…
  • เจ้าตัวเล็กจะได้เรียนรู้สังคมใหม่นอกจากคนในครอบครัว
  • เพื่อนๆ ช่วยให้ลูกได้เรียนรู้การช่วยเหลือ แบ่งปัน และอดทนที่จะรอคอย
  • สังคมสอนให้ลูกรู้จักการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
  • สังคมช่วยให้ลูกมั่นใจและเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนติดแม่แจ

พ่อแม่ทุกคนย่อมอยากให้ลูกเป็นที่รักใคร่ของคนอื่นจริงไหมคะ เพราะฉะนั้นการสร้างพื้นฐานทักษะสังคมที่ดีให้แก่ลูก ก็ช่วยปูทางสู่การเข้าสังคมให้เขาแล้ว
 
 

[ ที่มา...นิตยสารดวงใจพ่อแม่ Vol.12 No.143 September 2007 ]

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]