บทความเกี่ยวกับ เบี่ยงเบน
คนเป็นคนที่ - 4467 [Date : 19 เม.ย. 2553 ]   
 
ผิดเพศ-ผิดฝา
 
วันที่ 19 เม.ย. 2553   โดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
 
 
ผิดเพศ-ผิดฝา
 

ผิดเพศ-ผิดฝา


หมอได้รับจดหมายทาง E-mail สองฉบับค่ะ จากน้องพัชรี และน้องฝ้าย (ชื่อสมมุติ) ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่ทำให้เธอหนักอกหนักใจและเครียด เนื่องจากเรื่องราวของน้องสองคนน่าสนใจ และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น หมอจึงขอถ่ายทอดเรื่องราวมาบอกเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังนะคะ

จดหมายฉบับแรก เป็นของน้องพัชรีค่ะ เธอเขียนมาว่า

Q : สวัสดีค่ะคุณหมอ หนูอายุได้ 16 ปีค่ะ สองปีก่อน คุณแม่พาหนูไปหาหมอด้วยเรื่องไม่มีประจำเดือนมาเลย ทั้งๆ ที่เพื่อนๆ ในห้องเรียนมีประจำเดือนกันหมดห้องแล้ว หมอตรวจร่างกาย และบอกว่าปกติดี ให้หนูรอไปก่อน จนมาปีนี้หมอจึงตรวจหนูอีกครั้ง และพบว่าหนูมีความผิดปกติ หนูรู้สึกโกรธมากที่ทำไมเมื่อสองปีก่อน จึงไม่สามารถบอกว่าหนูผิดปกติ แต่รอมาจนถึงตอนนี้

A : สวัสดีค่ะหนูพัชรี การที่ไม่เคยมีประจำเดือน ทั้งๆ ที่อยู่ในวัยที่ควรมีนั้น จะถือว่าผิดปกติ ต้องตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม ก็ต่อเมื่อ…
1. อายุ 14 ปี ไม่เคยมีประจำเดือน และร่างกายภายนอกไม่มีลักษณะเป็น "สาว" นั่นคือไม่มีการเจริญเติบโตของเต้านม ไม่มีขนที่รักแร้ และหัวเหน่า ฯลฯ
2. อายุ 16 ปี ไม่เคยมีประจำเดือน ทั้งๆ ที่ร่างกายภายนอกเป็นสาว นั่นคือมีเต้านมเจริญเติบโตสมวัย มีขนที่รักแร้ และหัวเหน่า ฯลฯ
หมอเข้าใจว่า หนูพัชรีคงเป็นแบบที่สอง คือ มีร่างกายภายนอกเป็นสาวเต็มตัว แต่ไม่มีประจำเดือน คุณหมอที่ตรวจหนูจึงตรวจพบว่าผิดปกติ เมื่อหนูอายุได้ 16 ปี
Q : เมื่อหมอตรวจร่างกาย วัดส่วนสูง และตรวจภายในหนู หมอบอกว่า หนูสูงดี แต่ไม่มีมดลูกและปากมดลูก ส่วนช่องคลอดก็เป็นถุงตัน เมื่อเจาะเลือด หมอบอกหนูว่ามีฮอร์โมนเพศชายสูง และมี "ต่อมเพศ" ผิดปกติ อยู่ที่ขาหนีบสองข้าง ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติ ไม่มีประจำเดือน ควรต้องตัดออก ทำให้หนูสงสัยมาก ว่าทำไมหนูจึงเป็นเช่นนี้ และกรณีนี้มีคนอื่นเป็นกันบ้างไหม
A : การไม่มีประจำเดือนโดยร่างกายนอกเป็นสาวสมวัย มีส่วนสูงปกติหรือสูงกว่าคนอื่นๆ แต่ไม่มีมดลูก ปากมดลูก เป็นความผิดปกติของยีนส์ หรือหน่วยพันธุกรรมอย่างหนึ่งค่ะ ที่ทำให้อวัยวะบางส่วนของหนู ไม่ยอมรับการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเพศชายจาก "ต่อมเพศ" ที่หนูพูดถึงซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อหนูอยู่ในครรภ์มารดา

เพราะธรรมชาติของร่างกายหนู ไม่ยอมรับฮอร์โมนเพศชาย และฮอร์โมนเพศชายนี้ สามารถเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายของคนเราได้ หนูจึงมีลักษณะเป็นสาว และเมื่อร่างกายหนูเป็นสาวเต็มตัวแล้ว ต่อมเพศที่ว่านี้ก็ไม่มีความจำเป็น เพราะถ้าทิ้งไว้ อาจจะกลายเป็นมะเร็งได้ โดยทั่วไปหมอจะแนะนำให้ตัดต่อมเพศออกเมื่อหนูเจริญเติบโตเป็นสาวเต็มตัว หรือเมื่ออายุ 20 ปี แต่บางทีพอรู้ว่ามีต่อมเพศที่ไม่ปกติ ส่วนใหญ่ก็ไม่สบายใจ อยากให้ตัดออกเลย และหลังผ่าตัดคงต้องรับประทานฮอร์โมนไปช่วงหนึ่ง

กรณีของหนูพัชรีนี้ พบได้ไม่บ่อย นานๆ จะเจอคนไข้แบบนี้สักหนึ่งคน อาการที่หนูเป็น เรียกว่า "Androgen insensitivity" เป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดได้โดยพันธุกรรม นั่นคือหนูอาจจะมีญาติพี่น้องที่เป็นแบบเดียวกับหนูได้อีกค่ะ
Q : หมอยังขอเจาะเลือดดูโครโมโซมของหนู และแจ้งผลว่าหนู มีโครโมโซม 46XY หนูเองเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์รู้ว่า ผู้หญิงทั่วไปต้องมีโครโมโซม เป็น 46XX อย่างนี้หนูเป็นเพศชายหรือเพศหญิง เรื่องนี้ทำให้หนูสับสนคิดมาก หนูเองไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นเพศชายเลย ร่างกายของหนูก็เป็นเพศหญิงทุกอย่าง เสียงของหนูก็เป็นผู้หญิง อย่างนี้หนูจะเป็นกะเทยใช่ไหมคะ
A : อาการที่หนูเป็น มันเป็นเช่นนี้เอง และหนูพัชรีไม่ต้องกังวลใจไป เพราะเรื่องโครโมโซมก็เป็นเรื่องโครโมโซม ไม่ได้เป็นสิ่งที่มากำหนดเพศคนเราทั้งหมด อันที่จริงเพศของคนเรานั้นกำหนดได้หลายอย่าง เช่น กำหนดจากหน่วยพันธุกรรม จากพ่อและแม่หรือเรียกว่าโครโมโซม นั่นคือ เมื่อมีโครโมโซม 46XY ก็เป็นชาย 46XX ก็เป็นหญิง กำหนดจากฮอร์โมน ร่างกายบางคนไม่สนองตอบฮอร์โมนเพศชาย ก็ย่อมเป็นเพศหญิง กำหนดจากความต้องการของจิตใจ กำหนดจากการเลี้ยงดู กำหนดจากสภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังนั้นการจะเป็นเพศอะไร ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างและไม่มีใครบอกว่าใคร "ผิดเพศ" ได้ ในประเทศที่มีอิสระเสรี มีประชาธิปไตยทางความคิด เพศนั้นเป็นสิทธิของคนเราอย่างหนึ่ง ที่จะเลือกเป็น

และการประพฤติดี ทำดี คิดดี ไม่ได้อยู่ที่เป็นเพศอะไร หรือไม่เป็นเพศอะไรเลยค่ะ ขอให้หนูพัชรีจงสบายใจ มีความสุข และเป็นอย่างที่เราเป็น
Q : หนูขอถามคุณหมอข้อสุดท้ายว่า อย่างหนูนี่ ในอนาคตถ้าหนูแต่งงานไปกับผู้ชายดีๆ สักคนหนึ่ง จะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ ขอให้หมอตอบหนูเร็วๆ เพราะหนูรู้ตัวว่าใกล้จะบ้าแล้ว
A : หมอเข้าใจว่าหนูยังเรียนหนังสืออยู่ และคงอีกนานที่หนูจะแต่งงาน อนาคตบางอย่างเป็นเรื่องที่ไม่ต้องไปกังวลถึงนะคะ อย่างไรหมอขอบอกกับหนูตามตรงว่า ถ้าหนูแต่งงาน หนูอาจจะมีปัญหาบ้าง เช่น มีปัญหาเรื่องร่วมเพศ เพราะช่องคลอดเป็นถุงตันที่ไม่ลึก และอาจจะไม่มีลูก เพราะไม่มีรังไข่และมดลูก แต่อย่างไรปัญหาทั้งสองนี้แก้ได้ค่ะ โดยการใช้ศัลยกรรมตกแต่ง และเทคนิคช่วยผู้มีบุตรยาก (Assisted reproductive technology) ซึ่งในอนาคต การแพทย์ก็ยิ่งเจริญก้าวหน้า จนไปถึงขั้นโคลนนิ่งมนุษย์ได้ ดังนั้นหนูไม่ต้องวิตกกังวล จงเชื่อว่าหนูเป็นผู้หญิงธรรมดาเหมือนผู้หญิงคนอื่นๆ ขอให้หนูตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของลูกที่ดี ลูกศิษย์ที่ดี ฯลฯ ตั้งใจหมั่นศึกษา เล่าเรียน เพื่อเป็นคนที่มีคุณค่าต่อครอบครัว และประเทศชาติ หมอขอให้หนูประสบโชคดี

E-mail ฉบับที่สอง มาจากน้องฝ้ายค่ะ น้องฝ้ายถามมาว่า

Q : คุณหมอคะ ฝ้ายอ่านข่าวเรื่องฝาแฝดผิดฝา จากการสลับตัวในโรงพยาบาลเมื่อยี่สิบปีก่อน แม้เรื่องราวยังไม่ได้พิสูจน์ แต่ดูเหมือนทางโรงพยาบาลก็ออกมายอมรับว่าผิดจริง แต่เรื่องราวทั้งหมดก็จบอย่างมีความสุข ทางครอบครัวของแฝด และครอบครัวของคนที่สงสัยว่า เป็นแฝดถูกสลับฝาต่างปรองดองกันดี และกลายเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน แต่ฝ้ายกลับมาคิดถึงตนเอง คุณหมอคะ ฝ้ายเองก็เป็นลูกแฝดค่ะ แต่ฝ้ายไม่เหมือนพี่สาวเลย พี่สาวของฝ้ายทั้งขาว หน้าตาสวย หุ่นดี ไม่มีสิว ส่วนฝ้ายทั้งดำ เตี้ย และมีสิว ฝ้ายเองน้อยใจมาก และรู้สึกว่าเรื่องนี้ทำให้พ่อแม่ไม่รักฝ้าย เป็นไปได้ไหมคะที่โรงพยาบาลจะสลับตัวฝ้ายซึ่งเป็นลูกใครไม่รู้มาให้พ่อแม่ฝ้ายเลี้ยง ขอให้คุณหมอตอบฝ้ายด่วน ป.ล. ตอนนี้ฝ้ายอายุ 12 ปีค่ะ
A : น้องฝ้ายคะฝาแฝดนั้นมีอยู่ 2 แบบค่ะ คือ
1. ฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน ฝาแฝดแบบนี้ หน้าตามักเหมือนกัน เพศเดียวกัน
2. ฝาแฝดไข่สองใบ ฝาแฝดแบบนี้ หน้าตามักไม่เหมือนกันทีเดียว และอาจจะเป็นคนละเพศก็ได้ ฝาแฝดแบบที่สองนี้พบได้มากกว่าแบบที่หนึ่งค่ะ และมักเป็นกรรมพันธุ์
ในกรณีของน้องฝ้ายนั้น เข้าใจว่าน้องฝ้ายจะเป็นฝาแฝดแบบไข่สองใบ จึงหน้าตารูปร่างไม่เหมือนแฝดผู้พี่ ซึ่งกรณีนี้พบได้บ่อยๆ ดังมีรายงานว่า หญิงสาวผิวขาว (ฝรั่ง) คนหนึ่ง คลอดลูกฝาแฝดแบบไข่สองใบ ลูกคนหนึ่งผิวดำสนิท ผมหยิกดำ ลูกอีกคนผิวขาว ผมสีทอง

โดยทั่วไป การสลับตัวเด็กทารกแรกคลอดในโรงพยาบาลนั้นเป็นไปได้ยากมาก แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า อาจเป็นไปได้ 12 ปีก่อน ตอนน้องฝ้ายเกิด ก็เป็นตอนที่หมอเป็นแพทย์ประจำบ้านสูติ-นีเวช โรงพยาบาลศิริราช ตอนนั้นหมอจำได้แม่นว่า การระมัดระวังไม่ให้สลับตัวเด็ก นั้นเป็นมาตรฐานการรักษาพยาบาลอย่างหนึ่ง โดยเมื่อมารดาคลอดเด็กออกมา จะมีการผูกชื่อมารดาไว้ที่ข้อมือหรือข้อเท้าของเด็กทันที ในกรณีที่มารดาหลังคลอดรู้สึกเป็นตัวปกติ จะรำเด็กให้มารดาดูเพศ ดูหน้าตา ก่อนพาไปอาบน้ำ เหตุที่ต้องระมัดระวังมาก เพราะในตอนนั้นมีเรื่องร้องเรียน จากสามีของคนไข้ที่มาคลอดโดยการผ่าตัดคลอดว่า เขามีลูกสาวสามคนแล้ว เมื่อภรรยามาคลอด และได้รับยาสลบ ยังไม่ฟื้น เขาได้โทรศัพท์มาถามเพศลูก และพยาบาลตอบว่าเพศชาย แต่เมื่อมาเยี่ยม พบว่าเป็นเพศหญิง คิดว่าพยาบาลสลับเด็ก และไม่ยอมรับเด็กคนนี้

สำหรับน้องฝ้ายหมอเชื่อว่า พ่อแม่นั้นรักลูกทุกคนค่ะ ไม่ว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร น้องฝ้ายอย่าน้อยใจหรือคิดไปเองเลยค่ะ ขอให้น้องฝ้ายมั่นใจในสิ่งที่เราเป็น และหมั่นทำความดี ขยันเรียน ทำจิตใจให้ผ่องใส เมื่อหนูโตกว่านี้ ความสวยทั้งภายนอกและภายใน จะมาเองค่ะ

(update 9 มิถุนายน 2003)
[ ที่มา..หนังสือ นิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546]
 
 

[ ที่มา...http://www.elib-online.com/doctors46/gay_gay001.html ]

URL Link : http://www.elib-online.com/doctors46/gay_gay001.html

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]