บทความเกี่ยวกับ ผู้หญิง ผู้หญิง
คนเป็นคนที่ - 5877 [Date : 14 เม.ย. 2553 ]   
 
ยากันแท้ง อันตรายต่อทารกหรือไม่
 
วันที่ 14 เม.ย. 2553   โดย รศ.พญ.สายฝน ชวาลไพบูลย์
 
 
: ยากันแท้ง อันตรายต่อทารกหรือไม่
 

ยากันแท้ง อันตรายต่อทารกหรือไม่


Q : สวัสดีค่ะ ดิฉันแต่งงานมาได้ 10 ปี ปัจจุบันอายุ 39 ปี ก่อนจะทราบว่าตั้งท้อง มีสีน้ำตาลออกมาเหมือนกับเวลารอบเดือนใกล้จะมาหรือใกล้จะหมด ซึ่งเป็นอยู่ได้ 2 อาทิตย์ เมื่อดิฉันไปหาหมอ คุณหมอได้อัลตราซาวนด์ เพื่อดูว่าท้องในหรือนอกมดลูก ซึ่งปรากฏว่าท้องในมดลูกและได้จ่ายยา Duphaston และ Folic acid พร้อมทั้งฉีดยากันแท้งให้ และนัดให้มาอีก 1 อาทิตย์

หลังจากนั้น ดิฉันมาพบคุณหมอตามกำหนด หลังอัตราซาวนด์ คุณหมอก็จ่ายยาตัวเดิมและฉีดยากันแท้งอีก และนัดให้มาอีก 1 อาทิตย์ คุณหมอท่านนี้ได้ชี้แจงว่ายา Duphaston ที่ให้ไม่เป็นอันตรายต่อทารก เพราะเป็นฮอร์โมนที่คล้ายกับฮอร์โมนที่รังไข่สร้างขึ้น ส่วนยากันแท้งที่จริงก็คือน้ำฮอร์โมน ซึ่งดิฉันได้ฉีดจนครบ 6 เข็ม

ดิฉันเจาะน้ำคร่ำในสัปดาห์ที่ 18 ลำตัวเด็กยาว 12.6 ซม. แต่เมื่ออายุ 20 สัปดาห์ ดิฉันมีตกขาวมากไหลออกมาเป็นน้ำ ไม่มีกลิ่นและไม่มีอาการคัน คุณหมอให้ยามาเหน็บช่องคลอด 6 วัน (เช้า-เย็น) โดยบอกว่าให้สอดยาให้ลึกที่สุด เพื่อจะได้ฆ่าเชื้อถึงด้านในด้วย ซึ่งดิฉันก็ได้ทำตามทุกอย่าง
1. ดิฉันอยากทราบว่ายากันแท้งที่ฉีดไป 6 เข็ม เป็นอันตรายกับทารกหรือไม่

2. การเหน็บยาฆ่าเชื้อราโดยการสอดยาให้ลึกนั้นจะมีผลอะไร

3. ขนาดความยาวของตัวเด็กนั้นปกติหรือไม่ค่ะ เพราะท้องดิฉันเล็กมากและน้ำหนักเดิม 50 กก. ตอนอายุ 21 สัปดาห์ 55.1 กก. ถือว่าขึ้นน้อยไปหรือเปล่าค่ะ เมื่อครบกำหนดคลอด ลูกจะมีน้ำหนักน้อยไปหรือไม่

4. เด็กที่คลอดออกมาแล้วต้องอยู่ตู้อบเพราะสาเหตุใดค่ะ และหากดิฉันกับสามีมีเลือดกรุ๊ปเดียวกันคือกรุ๊ปโอ ลูกจะมีเลือดกรุ๊ปเดียวกับพ่อแม่หรือไม่ค่ะ

เพ็ญรัตน์/กรุงเทพ


A : หมอขอแสดงความยินดีกับคุณเพ็ญรัตน์ด้วยนะคะ ที่กำลังจะมีสมาชิกใหม่ในครอบครัว คุณเพ็ญรัตน์อายุ 39 ปีแล้ว จึงจัดว่าเป็นสตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงค่ะ คุณเพ็ญรัตน์จึงควรจะอยู่ในความดูแลของสูติแพทย์และไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

คุณเพ็ญรัตน์มีอาการเลือดออกซึ่งถือว่ามีความผิดปกติในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์และได้รับการรักษาโดยการฉีดยากันแท้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยา proluton depot ขนาด 250 มิลลิกรัม โดยแพทย์จะฉีดยาทุกๆ สัปดาห์ ยาตัวนี้คือฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนค่ะ ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนที่สร้างจากรังไข่ในช่วงแรกของการเริ่มตั้งครรภ์ การใช้ฮอร์โมนดังกล่าวนี้จะช่วยเสริมการทำงานของฮอร์โมนที่สร้างจากรังไข่ได้ ไม่มีอันตรายต่อทารกแต่อย่างใด ส่วน duphaston ก็เป็นฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนที่จะออกฤทธิ์ป้องกันการแท้งซึ่งเกิดจากการขาดฮอร์โมนเช่นเดียวกันค่ะ

การสอดยาฆ่าเชื้อทางช่องคลอดไม่มีผลต่อทารก แต่ถ้าสอดตื้นเกินไปจะทำให้ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ดี ควรสอดให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ส่วนใหญ่ก็จะเป็นตำแหน่งปากมดลูกหรือใต้ต่อมปากมดลูก ไม่ใช่ทางช่องคลอดด้านนอกค่ะ

ขนาดความยาวของตัวเด็กปกติดีค่ะ ส่วนน้ำหนักตัวของคุณเพญรัตน์ก็ขึ้นปกติ

ช่วงไตรมาสแรกน้ำหนักอาจไม่ขึ้นเลย บางคนอาจจะลดลงด้วยซ้ำถ้ามีอาการอาเจียน แพ้ท้องมาก โดยรวมแล้วน้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์นั้นควรจะขึ้นประมาณ 12-15 กิโลกรัม คุณเพ็ญรัตน์พยายามทานอาหารที่มีโปรตีนและแคลเซียมสูง ดื่มนม ทานผักและผลไม้ให้มาก น้ำหนักตัวน่าจะขึ้นดีได้ และทารกก็จะมีน้ำหนักตัวที่ดี ลูกจะมีน้ำหนักตัวน้อยหรือไม่ ส่วนหนึ่งขึ้นกับพันธุกรรม โภชนาการและโรคประจำตัวที่คุณแม่มีอยู่ค่ะ ตอนนี้ควรทำใจให้สบายๆ ไปฝากครรภ์ตามที่นัดทุกครั้ง แพทย์จะบอกเองว่าคุณเพ็ญรัตน์ตั้งครรภ์ปกติดีหรือมีความเสี่ยงอะไรหรือไม่

ทารกแรกคลอดที่อยู่ตู้อบอาจมีปัญหาได้หลายอย่าง เช่น มีอุณหภูมิร่างกายต่ำเกินไป มีการติดเชื้อ ซึ่งส่วนหนึ่งมีปัญหามาจากทารกตัวเล็ก คลอดก่อนกำหนด แต่ก็มีไม่น้อยที่เกิดจากทารกมีความผิดปกติทางโครงสร้างของระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกาย หรืออาจจะเกิดจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ในช่วงที่คลอด และในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่มีเลือดกรุ๊ปโอลูกก็จะกรุ๊ปโอด้วย ไม่มีทางที่จะเป็นกรุ๊ปอื่นค่ะ


(update 12 มกราคม 2010)
[ ที่มา.. นิตยสารรักลูก ปีที่ 26 ฉบับที่ 312 มกราคม 2552 ]
 
 

URL Link : http://www.elib-online.com/doctors52/lady_preg051.html

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]