บทความเกี่ยวกับ คุมกำเนิด
คนเป็นคนที่ - 2126 [Date : 14 เม.ย. 2553 ]   
 
สรุปประเด็นเรื่อง กฎหมาย มาตรา 305 ควรแก้ไขหรือไม่อย่างไร
 
วันที่ 14 เม.ย. 2553   โดย ศ.กิตติคุณ น.พ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธและคณะ
 
 
สรุปประเด็นเรื่อง กฎหมาย มาตรา 305 ควรแก้ไขหรือไม่อย่างไร
 

สรุปประเด็นเรื่อง
กฎหมาย มาตรา 305 ควรแก้ไขหรือไม่อย่างไร

น.พ.สมบูรณ์ ญาณไพศาล
หัวหน้ากลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์


ดร.กิตติพงษ์ - วันนี้คงพูดคุยกันในประเด็นเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 305 ว่าควรแก้ไขอย่างไร กฎหมายอาญามาตร 305 เป็นกฎหมายที่ได้รับการกล่าวขาน มากที่สุดในทางลบ เพราะ
  • ไม่เป็นธรรมกับผู้หญิงในขณะที่เขาต้องการความช่วยเหลือ โดยไม่คำนึงถึงสภาพปัญหา
  • มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย เปิดช่องให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
  • กฎหมายนี้ขัดขวางการพัฒนาระบบให้ความช่วยเหลือผู้หญิง
ร.ศ.ดร.ทวีเกียรติ - ขอขอบคุณผู้วิจัยที่ได้ศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องทำแท้งออกมา ในขณะที่ทางด้านกฎหมายไม่ได้สนใจข้อเท็จจริงมากเท่าไหร่ มาตรา 305 เป็นอำนาจกระทำ ไม่ใช่ลงโทษ
  • โดยกฎหมาย ความผิดฐานทำแท้งเกิดขึ้นนับตั้งแต่การตั้งครรภ์ถึงการคลอดที่สมบูรณ์ การตั้งครรภ์ต้องเป็นการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นโดยวิธีธรรมชาติ คือ นับตั้งแต่ตัวสเปอร์ ผสมกับไข่เกิดการปฏิสนธิ ต่อมาคำจำกัดความนี้ใช้ไม่ได้เพราะมีการผสมในหลอดแก้ว เพราะฉะนั้น ความผิดฐานทำแท้งน่าจะเริ่มต้นเมื่อมีการฝังตัวของตัวอ่อน

  • ความผิดฐานทำแท้งเริ่มต้นเมื่อใด ในทางศาสนาพระคัมภีร์ บอกว่า 40 วัน หลังฏิสนธิ ตอนคลอดต้องคลอดออกมาทั้งตัว ถ้าหากหัวเท้าติดอยู่ในช่องคลอดถือว่า ยังไม่คลอด ก็ถือเป็นการทำแท้ง ถ้าคลอดออกมาแล้วเด็กเสียชีวิตภายหลังกรณีนี้ ไม่มีความผิด

  • แนวคิดของกฎหมายไทย กฎหมายไม่ห้ามการทำแท้ง เพราะสมัยก่อน ไม่เคยมีการทำแท้ง แต่ต่อมาเขียนกฎหมายไปลอกเลียนจากเยอรมัน โดยไม่ได้คำนึงถึงวัฒนธรรมประเพณีของชาวคริสต์แคทอลิก ซึ่งถือว่าเด็กในครรภ์ เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาให้ (Gift of god) กฎหมายฝรั่งเศสจึงมีการห้ามทำแท้ง รวมทั้งการฆ่าตัวตายถือเป็นความผิดในกฎหมายอาญาห้ามเด็ดขาด มีโทษร้ายแรง ดังนั้น เมื่อไทยกำหนดกฎหมายอาญาเรื่องความผิดฐานทำแท้งขึ้นมา โดยเอาอย่างประเทศที่ถือศาสนาคริสเตียน จึงไม่มีเหตุยกเว้นใดๆ เลย กฎหมายอาญามาตรา 127

  • กฎหมายฝรั่งเศสห้ามทำแท้งเด็ดขาด แม้แต่พยายามทำแท้งก็โทษเท่ากับ ความผิดสำเร็จ แต่มีทางออก คือในช่วง 10 สัปดาห์แรกผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ ซึ่งอยู่ในกฎหมายสุขภาพของผู้หญิง (กฎหมายสาธารณสุข) ช่วงเวลานี้เป็นการทำแท้งเสรี ก่อนทำแท้งจะมีนักสังคมสงเคราะห์ให้คำแนะนำว่า ถ้าไม่ทำแท้งรัฐบาลจะให้ การช่วยเหลือเด็ก เลี้ยงดูให้ แต่ถ้าครรภ์เกิน 10 สัปดาห์ จะถือว่าผิดกฎหมายอาญา ถ้าหากผู้หญิงตัดสินใจทำแท้งภายในอายุครรภ์ 10 สัปดาห์ จะถือว่า ผิดกฎหมายอาญา ถ้าหากผู้หญิงตัดสินใจทำแท้งภายในอายุครรภ์ 10 สัปดาห์ ถือว่าเป็นสิทธิที่กระทำได้ ผู้ห้ามจะติดคุก 1 ปี ฐานขัดขวางการทำแท้ง

  • กฎหมายเยอรมันทำแท้งได้โดย กำหนดอายุครรภ์ 3 เดือน ตอนคลอดถือว่า ขณะที่เจ็บครรภ์ชีวิตได้เกิดขึ้นแล้ว หากมีการทำร้ายเด็กตรงนี้ ถือว่าเป็นการทำแท้ง และผิดกฎหมาย

  • อังกฤษได้มีการแบ่งระยะเวลาของการตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์แรก สามารถทำแท้งได้ ไม่มีความผิดทางกฎหมาย หลังจาก 3
  • 7 เดือน ถือเป็นการทำแท้งและหลัง 7 เดือน เป็นการฆ่าเด็กซึ่งมีความผิด

  • สหรัฐอเมริกา ถือว่าการทำแท้งเป็นสิทธิที่เสมอภาคของผู้หญิง แต่มีปัญหาว่า คนจนไม่มีเงินจ่ายค่าทำแท้ง แต่ไม่มีกฎหมายโดยตรง ศาลสูงเป็นคนตัดสินใจ ซึ่งระยะเวลาการตั้งครรภ์ที่กำหนดให้ทำแท้งได้ จะแตกต่างไปในแต่ละรัฐ

  • ประเทศไทยร่างกฎหมาย 305 ไม่ได้พิจารณาถึงแนวคิดว่าเป็นอย่างไร แต่นำเอากฎหมายต่างประเทศมาเป็นแนวทางในการร่างกฎหมาย สรุปได้ว่า งานวิจัยนี้มีประโยชน์มาก และควรเสนอข้อเท็จจริงนี้ต่อสังคมเพื่อให้เห็นปัญหาการทำแท้ง และร่วมกันแก้ไขปัญหา
ดร.กิตติพงษ์ - ขอขอบคุณ ดร.ทวีเกียรติ และก่อนที่จะขอรับฟังข้อคิดเห็น ของ ดร.วิฑูรย์ ผมขอเสนอประเด็นที่ว่า เรากำลังเผชิญอะไรกับชีวิตของนักกฎหมาย กับกระบวนการร่างกฎหมายที่มีปัญหา ปัญหาของกฎหมายทำแท้งค่อนข้างแสดง ให้เห็นชัดว่า ส่วนหนึ่งเป็นปัญหามาจากที่รับเอากฎหมายมา 2 ระบบ คือ
1. Civil Law ระบบที่เขียนเป็นประมวล แล้วตีความจากประมวลถ้อยคำ
2. Common Law เป็นของอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้เอากฎเกณฑ์ จากประมวลเป็นหลัก แต่มีปรัชญาแนวคิดซึ่งต้องปรับเข้ากับสังคม
ยกตัวอย่างเรื่องทำแท้ง แนวคิดของ Common Law ถือว่าการทำแท้ง เป็นสิทธิส่วนตัวของแม่ แต่ชีวิตในครรภ์ก็มีความสำคัญ กฎหมายทำแท้งของต่างประเทศ เป็นกฎหมายที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ในช่วงต่อไปขอเรียนเชิญ ศ.น.พ.วิฑูรย์ เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ในอดีตที่ผ่านมา ท่านได้ทำอย่างไรไปแล้วบ้าง จากอดีตที่อาจารย์วิฑูรย์ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการแก้กฎหมาย ซึ่งอาจจะไม่เรียกว่าล้มเหลว แต่ก็ไม่สำเร็จ และถ้าเราจะแก้กฎหมายทำแท้ง ควรจะแก้อย่างไรบ้าง และโดยวิธีใดจึงจะสำเร็จ มีการอภิปรายกันว่า กรณีคุมกำเนิดผิดพลาด และกรณีเด็กในครรภ์จะพิการ จะทราบได้อย่างไร เพราะขณะนั้นเทคโนโลยีทางการแพทย์ ยังไม่ก้าวหน้ามากนัก และอาจก่อให้เกิดการทำแท้งเสรีได้ จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องการทำแท้งเสรีมาก มีการต่อต้านและกฎหมายนี้ไม่ได้เขียนข้อกำหนดในทางปฏิบัติไว้ เขียนไว้เพียงตัวบทกฎหมาย แต่ปัจจุบันนี้การวินิจฉัยระหว่างตั้งครรภ์มีความก้าวหน้ามา สามารถทราบได้ว่าเด็กที่จะเกิดมาจะพิการหรือไม่ และมีการยอมรับเรื่องความสำคัญ ของสุขภาพจิตมากขึ้น ดังนั้น ถ้าการแก้ไขกฎหมายทำแท้งมีการทำแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน น่าจะมีความเป็นไปได้ และถ้าเราเสนอให้สังคมรับรู้ปัญหา

ศ.น.พ.วิฑูรย์ - กฎหมายทำแท้งของไทย มีการเปลี่ยนแปลง 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ในกฎหมายลักษณะอาญา รศ.127 ที่รับอิทธิพลมาจากฝรั่ง ไม่มีข้อยกเว้นเลย เป็นความผิดฐานรีดลูก ซึ่งสังคมก็ยอมรับ เพราะถือว่า เป็นการกระทำทารุณต่อร่างกายผู้หญิง อาจจะเป็นเพราะไม่ค่อยมีคนทำมาก และในระยะนี้แนวคิดควบคุมคุ้มครองเด็กยังไม่เกิด จึงไม่มีความผิดฐานนี้

ระยะที่ 2 พอเรารับแนวคิดทางตะวันตก ซึ่งยึดมั่นทางด้านชีวิต เป็นเรื่องใหญ่ ได้รับอิทธิพลจากศาสนาคาทอลิก จึงเอาความผิดฐานรีดลูกเข้ามาใช้ เข้ามาปรับเป็นไทยว่า ความผิดฐานรีดลูก พร้อมๆ กันนั้น ก็กำหนดความผิดอีกอันหนึ่งคือ ความผิดฐานกระทำชำเราผิดธรรมดามนุษย์ มาร่วมด้วย ช่วงนี้แพทย์ทำแท้งได้ ถึงแม้กฎหมายจะถือว่าเป็นความผิดฐานรีดลูก เพราะมีข้อยกเว้นความผิดอันหนึ่งคือ กระทำด้วยความจำเป็นเพราะช่วยให้คนอื่นพ้นจากอันตราย ซึ่งถือว่าเป็นการทำแท้ง เพื่อการรักษา เช่น ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เป็นพิษ โรคหัวใจ ในระยะนี้มีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงกฎหมายเสมอมา ต่อจากนั้นมีแนวคิดสมัยใหม่เข้ามา โดยคิดว่า การจะห้ามทำแท้งโดยเด็ดขาด คงจะเป็นไปไม่ได้ จึงเปิดช่องว่างยกเว้นความผิดว่า ถ้าการทำแท้งเป็นความจำเป็นเพื่อสุขภาพของหญิง คำว่าสุขภาพในความเห็นของผม น่าจะหมายถึง สุขภาพกายและจิตใจ แต่แนวคิดของนักกฎหมายยังยึดคิดว่า สุขภาพหมายถึงสุขภาพกายเท่านั้น จึงทำให้การตีความของมาตรา 305 ค่อนข้างแคบ ปัจจุบันความหมายของคำว่าสุขภาพยิ่งกว้างขึ้น โดยเฉพาะในความหมายของ องค์การอนามัยโลก แต่นักกฎหมายมักจะตีความภาษาโดยยึดติดกับพจนานุกรม ตอนที่ออกกฎหมายอาญา 305 เมื่อปี พ.ศ.2500 สังคมไม่มีปฏิกิริยาอะไร ปัญหาของกฎหมายนี้ คือ การตีความของคำว่าสุขภาพ ซึ่งดูเหมือนกว้าง แต่พอวินิจฉัยแล้วกลับแคบ ทำให้แพทย์บางส่วนไม่กล้าทำแท้ง ปัจจุบันเทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงไปมาก การตีความต้องอิงเทคโนโลยีด้วย ต่อมาปัญหาการทำแท้งเถื่อน โดยผู้ที่ไม่มีความชำนาญทางการแพทย์ ทำให้ผู้หญิงที่ทำแท้งมีภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น จึงมีการผลักดันเรื่องเสนอแก้กฎหมาย โดยนายแพทย์บุญเทียม เขมาภิรัตน์ โดยขอขยายข้อยกเว้นกรณีที่การตั้งครรภ์เกิดจากการคุมกำเนิดล้มเหลว และเพื่อสุขภาพทางกายและทางจิตของแม่ รวมทั้งกรณีทารกในครรภ์ที่เกิดมาติดเชื้อ หรือเกิดมามีความผิดปกติ จุดอ่อนของการเสนอแก้กฎหมายในครั้งนี้คือ ช่วงนั้นกฎหมาย ที่เสนอแก้ไขจะต้องถูกกลั่นกรองโดยกรรมาธิการวิสามัญ จนกระทั่งได้เข้าไปพิจารณาในสภา แต่ก็ต้องตกไปในสมัยพลตรีจำลอง ศรีเมือง ถ้าหากไม่มีปัญหาด้านการเมือง คนจะต่อต้านน้อยมาก ถ้าหากพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งมีแนวคิดที่ชัดเจนไปได้ ปัจจุบันประชาพิจารณ์ ไม่น่ากลัวเท่าไหร่ เพราะมันตรงไปตรงมา ต้องการช่วยคน ต้องการให้สังคมรับรู้ตรงนี เพราะศาสนาพุทธไม่ตายตัวเหมือนศาสนาคริสต์ ซึ่งอยู่กับการตีความมากกว่า ศาสนาไม่ได้เป็นอุปสรรคในการแก้กฎหมาย

ดร.กิตติพงษ์ - สรุปได้แนวทางเดิมที่พยายามจะขยายมาตรา 305 ก็คือว่า พยายามจะขยายคำว่าสุขภาพซึ่งความเห็นของ อจ.วิฑูรย์บอกว่าไม่ต้องขยายก็ได้ เพราะสุขภาพก็ไม่ได้เขียนว่าเฉพาะสุขภายกายอยู่แล้ว ถ้าจะตีความก็ตีความได้อยู่แล้ว ถ้าขยายเป็นสุขภาพกายและจิตโดยไม่มีแนวทางที่ชัดก็ไม่ช่วยอะไรและอีกกรณีหนึ่ง คือ ถ้ามีคุมกำเนิดผิดพลาดให้ทำแท้งได้ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ ถ้าไม่มีการกำหนดแนวทางชัดเจน ก็จะนำไปสู่การทำแท้งเสรีได้ ส่วนประเด็นชีวิตในครรภ์ไม่ค่อยมีปัญหาถูกโต้แย้งเท่าไหร่นัก อยากให้แสดงความคิดเห็นเรื่องสุขภาพ การแก้จะแก้กฎหมายในส่วนของการตีความของคำว่า "สุขภาพ" ผมเป็นห่วงว่า ถ้าเราไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ ที่ว่าผู้หญิงมีสิทธิหรือไม่ในการตัดสินใจ เรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง นี่คือปัญหาจริงๆ จริงๆ แล้วอยู่ที่ว่าสิทธิของผู้หญิงและสิทธิในชีวิต ของเด็กในครรภ์ นี่เป็นปัญหาพื้นฐานที่ที่เป็นปรัชญาที่สุด ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญทั้ง 2 ส่วน เราเลือกที่จะไม่ใช้วิธีเดียวกับในต่างประเทศ เช่น อเมริกา ที่มองว่า ผู้หญิงมีสิทธิ ที่จะเลือกในช่วงเวลาแรกของการตั้งครรภ์ แต่เราเลือกที่จะตีความของคำว่า สุขภาพ ว่าผู้หญิงอาจจะมีความจำเป็น เช่น เด็กนักเรียนหญิงเกิดผิดพลาดไปเสียอนาคตไม่พร้อม จะตีความขนาดไหนในเรื่องสุขภาพเพื่อที่จะให้เขาทำแท้งได้ อีกมุมหนึ่งก็มองว่า เราให้ความคุ้มครองชีวิตในครรภ์พอเพียงหรือไม่ด้วย นักกฎหมายบางส่วนมองว่า จำเป็นต้องทำเพราะสุขภาพผู้หญิง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ "สุขภาพ" หรืออยู่ที่คำว่า "จำเป็น" หากอยู่ที่คำว่า "จำเป็น" แม้ว่า "จำเป็น" จะมีในมาตรา 67 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งคุณหมอวิฑูรย์บอกว่าถ้าถึงตายก็ทำได้อยู่แล้ว อยู่ที่ความจำเป็นนั้นๆ ต้องชั่งระหว่าง ผลประโยชน์ของชีวิตในครรภ์กับสุขภาพของแม่ อาจไม่ถึงตายแต่ต้องมีมาตรฐาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายมาตลอดนั้น เน้นอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องสุขภาพ และการคุมกำเนิดผิดพลาด อีกส่วนหนึ่งที่นายแพทย์วิฑูรย์ได้เคยเสนอแนวคิดไว้ นอกจากนี้ มีแนวคิดยกเลิกมาตรา 305 แล้วมีกฎหมายพิเศษออกมาฉบับหนึ่งหรือกำหนดว่า การทำแท้งที่ทำโดยแพทย์ใน ร.พ.หรือ สถานพยาบาลแล้วไปกำหนดเกณฑ์อีกว่าจะทำอย่างไร

รศ.ดร.ทวีเกียรติ - การใช้คำว่าเป็นจำเป็น เพื่อต่อสู้ให้คนมีทางเลือก สังคมที่เป็นธรรมต้องให้โอกาสคนมีทางเลือกได้ เช่น ในฝรั่งเศส ซึ่งเราไปเอากฎหมาย ของเขามาใช้ แต่ไม่ได้เอามาทั้งหมด ในฝรั่งเศสเคร่งครัดก็จริง แต่ถ้าไม่ทำแท้ง ก็จะมีทางเลือกให้คือ เลี้ยงดูลูกให้ แต่ของเราไม่ให้ทำแท้งและถ้าไม่ทำก็ตั้งท้อง และเลี้ยงลูกจนตาย ไม่เปิดทางเลือกให้เลย ฝรั่งเศสก็มีทำแท้งเถื่อน ปัญหาภาวะแทรกซ้อน จากการทำแท้ง มีการตาย มีค่าใช้จ่ายการทำแท้งสูง จึงมีการทำวิจัยเหมือนกับวิจัยฉบับนี้ ของกรมอนามัย และรัฐสภาเขาก็เชื่อผลงานวิจัย และเมื่อแก้ไขกฎหมาย ปัญหาก็ลดลง หมอเถื่อนหายไป ตายน้อยลง ค่าใช้จ่ายลดลง

การแก้ไขกฎหมายนั้น ควรแก้ไขแน่ มาตรา 301 เป็นมาตรเดียวที่ลงโทษหญิง มาตราอื่นๆ ใช้คำว่าผู้ใด หากดูจากงานวิจัยนี้จะเห็นว่าการทำแท้งจะมีอยู่ช่วงอายุเดียว ที่กระทำผิด เพราะเขามีปัญหา ทำแล้วเขาก็เจ็บตัว เจ็บปวดมากพอแล้ว บางคนทำครั้งเดียว ในชีวิตก็ไม่เคยลืมความเจ็บปวดเลย ดังนั้นคนที่ทำแท้งควรถูกลงโทษหรือไม่ และมาตรา 305 ควรกำหนดเวลาด้วย เช่น อายุครรภ์ 1-3 เดือน ถ้าทำแท้งก็เพื่อสุขภาพแม่ไว้ก่อน จะชั่งน้ำหนักก็ต่อเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ดูว่าเด็กในครรภ์มีชีวิตรอดไหม จึงจะมาตีความว่า จะทำอย่างไร จำเป็นต้องทำแท้งหรือรักษาเด็กไว้ มาตรา 305 จริงๆ แล้วเป็นอำนาจกระทำ ไม่ใช่อำนาจลงโทษ มาตรา 305 จริงๆเป็นเหตุยกเว้นกระทำผิด ทำอย่างไรจึงจะไม่ผิด ซึ่งเป็นประโยชน์กับจำเลย กฤษฎีกากลับไปตีความกลับกับความจริง จึงทำให้เป็นผลร้าย กับผู้กระทำ ควรจะขยายความให้เห็นคุณต่อผู้กระทำ


คำอภิปราย และคำถามจากผู้ร่วมประชุม


ร.ศ.ดร.กฤตยา - ประเด็นที่ 1 การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ทำงาน ด้านสิทธิมนุษยชน ก็เพื่อให้เท่าเทียมกันทั้งหญิงและชายทุกด้าน จากข้อเท็จจริง คนที่หากินกับผู้หญิงมีทั้งหญิงและชาย ถ้าจะลงโทษทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม

ประเด็นที่ 2 อยากจะทำความเข้าใจคำว่า "การทำแท้งเสรี" ที่มีการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ผ่านมาไม่ได้ทำเพื่อให้สามารถทำแท้งเสรีได้ แต่คำนี้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองในสมัยคุณจำลอง มีการต่อต้านทางจริยธรรม มีการสร้างกรอบว่าการทำแท้งเสรีคือ การฆ่า ซึ่งบาปมาก ทำให้คนเข้าใจผิดกับคำว่า "ทำแท้งเสรี" คือ ทำเมื่อไรก็ได้ ใครอยากทำก็ทำ ซึ่งปัจจุบันไม่มีการทำแท้งเสรีในโลก ทุกวันนี้การต่อสู้ที่ให้เกิดขึ้น ก็เพื่อให้มีทางเลือกมากขึ้นแก่คนที่มีปัญหา ให้อยู่ใต้สถานการณ์ที่ทำแท้งได้อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย ทางเลือกนี้ไม่ได้ไปสู่ การทำแท้งจริงๆ แล้วก่อนทำแท้งผู้หญิงทุกคนจะต้องผ่านกระบวนการพูดคุยปรึกษาหารือ ทุกคนต้องหาข้อมูล ทุกคนกลัวตาย เพราะฉะนั้นเขาต้องหาข้อมูลว่า ทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงบริการที่สามารถจ่ายได้ บางคนไม่รู้กฎหมายว่าเป็นการทำผิด ถ้าหากเขาไม่ต้องการทำแท้ง รัฐจะต้องเข้ามาดูแลด้วยว่า ควรจะให้บริการอย่างไร เหมือนกับฝรั่งเศส ควรจะต้องสื่อสารกับสาธารณชนให้เข้าใจชัดเจนว่า จากงานวิจัย ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ทำมาทำให้เห็นภาพภาพหนึ่ง และมีงานวิจัยอื่นที่กำลังทำ ก็เห็นภาพสอดคล้องกันว่า ข้อกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบันนี้เป็นกฎหมายที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ และไม่เป็นธรรมกับผู้หญิง และดิฉันเห็นพ้องไปในแนวที่คิดว่าควรยกเลิกกฎหมาย มาตรา 301-305 แล้วต้องมีลักษณะของกฎหมายใหม่ ซึ่งกฎหมายใหม่จะเป็นกฎหมาย ที่เกี่ยวกับสุขภาพผู้หญิง ไม่ใช่เป็นตัวบทกฎหมาย แต่เป็นแนวทางที่ปฏิบัติได้ ซึ่งอยู่ในตัวกฎหมายนั้น ทำให้เห็นความชัดเจน

ศ.น.พ.ประมวล - ผมมีเรื่องที่จะเรียนในที่ประชุมให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เรื่องแรก เป็นเรื่องทางการแพทย์ที่พูดถึงการปฏิสนธิเป็นข้อมูลที่ทุกคนยอมรับเชื่อถือได้ทั้ง นักศาสนา นักชีววิทยา คือ เมื่อไข่กับตัวอสุจิผสมกันแล้ว ถือว่าชีวินเริ่มต้น พุทธศาสนาบอกว่า มีปฏิสนธิทางวิญญาณเกิดขึ้น ในขณะนั้น 3 องค์ประกอบคือ วิญญาณ ไข่ อสุจิ รวมกันเป็นชีวิต เริ่มต้นใช้เวลา 6-7 วัน ตัวอ่อนจะฝังตัวและเกิดการตั้งครรภ์ หลังจากนั้นถ้ามีการกระทำใดๆ ถือว่าเป็นการยุติการตั้งครรภ์ หากมองว่าการใช้เทคโนโลยีป้องกันการตั้งครรภ์ วิธีการคุมกำเนิดทุกอย่างเป็นการยุติไม่ให้ไข่กับอสุจิเกิดการปฏิสนธิเป็นขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนที่ 2 เมื่อปฏิสนธิกันแล้ว อีก 6-7 วัน จะไปยับยั้งการตั้งครรภ์โดยไม่ให้มีการฝังตัว ของไข่ที่ผสมแล้วทั้ง 2 ขั้นตอนนี้ ถือว่าเป็นการยับยั้งการตั้งครรภ์ คือการใช้เทคโนโลยี การคุมกำเนิดต่างๆ ทั้งด้านการใช้ยา หรือหัตถการ ถือเป็นวิธีการยับยั้งการตั้งครรภ์ ซึ่งก็ตรงกับที่ ดร.ทวีเกียรติ บอกว่าอังกฤษถือว่าการใส่ห่วงไม่ใช่การทำแท้ง

เรื่องที่สอง จะพูดเรื่องจิตใจ พระธรรมปิฏก พูดถึงเรื่องบาปบุญ ท่านได้แสดงปาฐกถาเรื่องทำแท้งว่า ผิดก็ส่วนผิด ถูกก็ส่วนถูก ท่านบอกว่าพระพุทธเจ้า ให้ข้อคิด 2 อย่าง ถ้าการกระทำนั้นบนพื้นฐานของเจตนา ความตั้งใจให้ผู้อื่นเป็นสุข ประกอบกับได้มีการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ถ้า 2 อย่างประกอบกันท่านบอกว่า ทำไปไม่บาป ขอเรียนถาม ดร.ทวีเกียรติ ว่ากฎหมายมาตรา 305 ที่จริงใช้ได้ แต่ตีความผิดใช่ไหม

ร.ศ.ดร.ทวีเกียรติ - ความเห็นของกฤษฎีกา นักกฎหมาย ถือว่าถ้าตัดสิน มาแล้วก็เชื่อไปก่อน จนกว่าจะมีเหตุผลที่ดีกว่ามาลบล้าง จะมีผลจริงๆ คือขึ้นศาลฎีกา แล้วตัดสินมา แต่คดีทำแท้งไม่เคยขึ้นศาลฎีกา คำถามว่า ถ้าศาลฎีกาจะตัดสินจะถามอย่างไร ศาลฎีกาก็ต้องกลับมาถามแพทย์อีกว่า คำจำกัดความเรื่องสุขภาพว่าอย่างไรบ้าง แบบนี้เข้าข่ายไหม ดังนั้น ทางการแพทย์ควรจะวางแนวไว้ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ก็จะช่วยการตัดสินของศาลได้ ก็จะช่วยศาลได้ในเรื่องการตีความ

ศ.น.พ.วิฑูรย์ - คณะกรรมการกฤษฎีกา มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล และสามารถจะรับคำปรึกษาจากหน่วยราชการต่างๆ แต่ไม่ได้ผูกมัดว่าปรึกษาไปแล้ว จะต้องปฏิบัติตามหรือไม่ พอตีความไปแล้วแพทย์ก็เลยไม่กล้าปฏิบัติตาม

ดร.กิตติพงษ์ - จากประสบการณ์เรื่องคลินิกดาวพระศุกร์ คิดว่า ถ้าแก้กฎหมายไม่ได้ ก็น่าจะมีวิธีการแก้ปัญหาไปก่อนได้ จุดยืนตอนนั้น ถ้ามีความโปร่งใส ก็ตรวจสอบได้ ถ้ากำหนดไว้เรื่องอายุครรภ์ กำหนดให้ชัดเจนว่าเงื่อนไขมีอะไรบ้าง แม้จะผิดกฎหมายแต่ถ้านำคดีไปสู่ศาลก็เป็นจุดสำคัญที่ทำได้

น.พ.ทศพร - ในฐานะผู้ปฏิบัติมองว่า กรมอนามัยรับผิดชอบเรื่องสุขภาพของผู้หญิง เช่น วางแผนครอบครัว หรือการตั้งครรภ์ก็ดี เป็นข้อที่ควรนำไปปฏิบัติได้เลย โดยไม่ต้องไปรอแก้ไขกฎหมาย 301-305 โดยกรมอนามัยมีศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเขตต่างๆ สามารถรับยุติการตั้งครรภ์ แต่ต้องมีเงื่อนไข มีกรอบที่ชัดเจน มีการให้คำปรึกษาก่อน และอาจกำหนดอายุครรภ์ คืออายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์

คุณ กนกวรรณ -
  • ไม่เห็นด้วยกับการตีความกฎหมาย แล้วยกให้แพทย์ตัดสินใจว่า ตีความสุขภาพ แล้วให้แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจจะทำแท้งหรือไม่
  • กฎหมายทำแท้งนี้อยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกฎหมายอาญาเป็นกฎหมาย ที่พยายามเอาผิดกับผู้ที่ทำร้ายผู้อื่น หรือฆ่าผู้อื่น ดังนั้น กฎหมายทำแท้งตามหลักการแล้ว ไม่ควรอยู่ภายใต้กฎหมายอาญา หมายถึงยกทิ้งไปเลย
  • ควรอาศัยสหวิชาชีพเข้ามาคุยกัน แล้วประมวลออกมาด้วยกันว่าแท้จริงแล้ว กฎหมายทำแท้ง ซึ่งจะเอื้อสิทธิประโยชน์สูงสุดของผู้ที่อยู่ในปัญหา และสร้างทางเลือก ให้มากที่สุดควรจะเป็นอย่างไร
ศ.น.พ.วิฑูรย์ - กฎหมายมาตรา 305 กำหนดไว้ว่า หญิงนั้นต้องยินยอมด้วย ถึงจะทำแท้งได้

ศ.น.พ.สุพร - ความรู้สึกของสูตินรีแพทย์ทั่วไปคิดอย่างไร เกี่ยวกับการทำแท้ง
1. เมื่อมองถึงความรู้สึกของคนที่จะทำแท้ง ไม่มีใครอยากทำสักคนเดียว ที่ทำเพราะอยากช่วย หมอที่ทำแท้งจะมีความรู้สึกขัดแย้งกัน ต่อสู้กันระหว่างความคิดว่า อยากจะช่วยแม่ ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่า กำลังทำอะไรกับเด็ก

2. ข้อบังคับเรื่องอายุครรภ์ ถ้ากฎหมายเขียนไว้ ก็อาจเป็นผลเสียได้ อายุครรภ์ขนาดนี้ทำแล้วจะปลอดภัยกับแม่ไหม เช่น 4 เดือนขึ้นไป และถ้าไม่มีเหตุผลมากไม่มีใครคิดทำ ขณะที่อายุครรภ์ 5-6 เดือนขึ้นไป เด็กออกมาแล้วยังไม่ตายจะทำอย่างไรก็ต้องเลี้ยงดูต่อไป

3. ถ้ามองว่าให้แพทย์ทำได้โดยต้องตีความในกฎหมาย ทำอย่างไรให้การพิจารณาว่าจะทำแท้งหรือไม่ทำ ควรมีการให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง โดยแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะทำแท้งหรือตั้งครรภ์ต่อ

กฎหมายจะแก้ดี หรือไม่แก้ดี


ประการแรก ปฏิกิริยาอันหนึ่งที่มีต่อการแก้ไขกฎหมายนี้ คือ มีการต่อต้าน เป็นเหตุให้กระบวนการต่างๆ ที่แพทย์จะช่วยคนไข้นั้นยากขึ้น

ประการที่สอง ทางเลือกเกี่ยวกับกฎหมายทำแท้ง จะทำได้มี 3 อย่างคือ
  • คงกฎหมายเหมือนเดิม แล้วตีความ ซึ่งดูเหมือนจะง่ายที่สุด
  • แก้ไขเฉพาะเหตุผลทางการแพทย์ เช่น กรณีเด็กพิการ เด็กที่มีปัญหาทางพันธุกรรม น่าจะผ่านไม่ยาก
  • เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าจะเขียนรวมเหตุผลทางเศรษฐกิจ และสังคมเข้าไปด้วย โดยจะเขียนอย่างไรออกมาเป็นกฎหมายได้ มีขอบเขตที่แน่นอนซึ่งค่อนข้างยากที่จะกำหนดว่าจนแค่ไหน ลูกมากแค่ไหน และต้องหาวิธีการว่าจะทำอย่างไร ให้คนทั่วไปมองเห็นภาพว่าการทำแท้ง มันโหดร้ายทารุณต่อผู้หญิงมากแค่ไหน ถ้าหากให้ผู้หญิงไปทำแท้งเองตามยถากรรม
น.พ.สมบูรณ์ศักดิ์ - ความเห็นตรงกับ อาจารย์ น.พ.สุพร คือ ถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆ หมอก็จะไม่ทำแท้งให้ และเห็นด้วยกับ น.พ.ทศพร คือ ต้องมีแนวทางที่ชัดเจนที่ทำให้กลุ่มที่มีปัญหาจริงๆ มาหาเราได้ หรือมีแหล่ง ให้บริการแก่เขามีการให้คำปรึกษา ซึ่งพบว่า ส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนใจกลับไปตั้งครรภ์ต่อ การทำแท้งในกรณีที่ตั้งครรภ์จากความผิดพลาดทางเทคโนโลยี จะใส่เข้าไป ในกฎหมายใหม่ไหม การจะแก้ไขกฎหมาย ควรแก้ไขให้ครอบคลุม ให้ใช้ได้อีกหลายสิบปี ไม่ควรต้องมาแก้กฎหมายทุกปี

ดร.กิตติพงษ์ - ขอสรุปประเด็นดังนี้ ก่อนที่จะเปิดให้อภิปรายต่อไป
  • มีกระบวนการอย่างไร ที่จะให้ขบวนการของนักกฎหมายที่เป็นศาลเอง สะท้อนความเป็นจริงในสังคม และรับฟังข้อมูล
  • การคำนึงถึงเรื่องสิทธิของผู้หญิงที่จะเลือก ที่คุณกนกวรรณ ยกประเด็นขึ้นมา ขึ้นมาไม่ใช่เพียงแต่ให้คนอื่นตัดสินใจให้
น.พ.สมชาย -
  • ที่คุยกันมาเป็นเรื่องเทคนิคทางกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่มีใครพูดถึง พระราชบัญญัติสุขภาพ ซึ่งกำลังเป็นกระแสหลักในปัจจุบันนี้ และการร่างพระราชบัญญัต ิสุขภาพแห่งชาติ จะมีบทนิยามเกี่ยวกับคำว่าสุขภาพ ถ้านำออกมาใช้ประกอบกัน จะครอบคลุมถึงการใช้กฎหมายอาญาด้วย ซึ่งอาจจะช่วยแก้ปัญหาการตีความคำว่า สุขภาพในกฎหมายการทำแท้ง
  • ถ้าหากมีกฎหมายอาญาอยู่แล้ว และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ มีนิยามคำว่า สุขภาพที่เป็นประโยชน์ จำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่หรือไม่
  • ถ้าไม่มีคดีขึ้นศาลฎีกา ก็ไม่มีบรรทัดฐาน ซึ่งบรรทัดฐานนี้แพทยสภา และกรมอนามัยสามารถสร้างแนวทางปฏิบัติออกมาได้ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติ ที่อยากจะช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหานั้น ให้ถือปฏิบัติชั่วคราว แล้วจะแก้ไขได้ไหม
ดร.กิตติพงษ์ - เห็นด้วยกับข้อเสนอของคุณหมอสมชาย ที่จะต้องมีการตั้งเกณฑ์ใน การถือปฏิบัติของแพทย์ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่มีปัญหา

คุณกนกวรรณ -
  • จากการทำงานวิจัยโดยสัมภาษณ์ผู้หญิงที่ทำแท้ง พบว่าจริงๆ แล้วผู้หญิงรู้สึก ผิดบาปมากๆ ที่ตัวเองต้องไปทำแท้ง
  • ไม่เฉพาะแพทย์เท่านั้น ผู้ให้คำแนะนำปรึกษาก็รู้สึกผิดบาป ดังนั้น ควรต้องมองความเป็นมนุษย์ด้วย ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วทุกคนเมื่อเกิดปัญหาขึ้น เขาจะพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านั้นด้วยตัวเองก่อน จึงเป็นเหตุให้ เมื่อไปพบแพทย์ก็ต่อเมื่อมีครรภ์ใหญ่ขึ้นแล้วประกอบกับไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ว่าเมื่อเกิดปัญหาแล้วจะไปขอความช่วยเหลือจากใครได้
  • ควรนำความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิงเหล่านี้มาพิจารณาในการแก้ปัญหา ให้เขาด้วย
  • ซึ่งอาจจะลดปัญหาการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย เราจะทำอย่างไร ในทุกช่วงอายุครรภ์ มิใช่มองแค่ครรภ์ 0-3 เดือน
  • ในผู้หญิงที่อายุครรภ์มากกว่านั้น ถ้าเขาอยากจะทำแท้ง ก็ต้องช่วยให้เขาปลอดภัยด้วย
ร.ศ.ดร.กฤตยา -
  • ไม่มีผู้หญิงคนใดในโลกที่ตั้งใจท้องเพื่อคิดจะไปทำแท้ง นอกจากเขา มีความจำเป็นจริงๆ และความพยายามที่เขาจะแก้ไขปัญหามีหลายรูปแบบ

  • ในสังคมไทยถือว่า การฆ่าเป็นบาป ดังนั้น การให้คำปรึกษาควรมีเรื่องผิดบาป ที่จะต้องพูดให้ผู้ที่ต้องการทำแท้งฟังด้วย

  • คำสุขภาพ อยากสนับสนุนให้ทุกส่วนของสังคมให้คำจำกัดความของคำว่า สุขภาพของตนเอง แพทยสภาเป็นองค์กรวิชาชีพควรกำหนดนิยามของคำว่า สุขภาพด้วย และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ควรมีพระราชบัญญัติสุขภาพผู้หญิงออกมา

  • ในกระบวนการที่ยังไม่มีทางแก้ไขกฎหมายเห็นด้วยกับ น.พ.ทศพร ควรจะต้องสร้างแนวทางใดทางหนึ่ง ในการปฏิบัติที่ทำให้บรรเทาปัญหาในขณะนี้ลงได้ และสร้างความสบายใจให้กับแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเผชิญปัญหานี้ หลังจากผู้หญิงได้พยายามทำแท้งแล้วมีภาวะแทรกซ้อนเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล ปัจจุบันนี้ในทางปฏิบัติก็มีระบบให้ความช่วยเหลือจากผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งอยู่แล้ว ตามโรงพยาบาล สถานีอนามัย มีการส่งต่อกันเพียงแต่ไม่เป็นที่เปิดเผย

  • ในองค์กรเอกชนขณะนี้ก็มี ถ้าของรับทำไม่ได้ผลก็มีการประสานงานภายใน โดยการส่งต่อไปยังองค์กรเอกชนนั่นคือ คลินิกที่มีแพทย์ปริญญา ซึ่งจะปลอดภัย มีการลดราคาให้ หากส่งผ่านจากมูลนิธิมา ซึ่งก็ทำกันอยู่แล้วเพื่อจะช่วยเหลือ แต่ที่เราเรียกร้องกันขณะนี้ก็เพื่อให้เกิดความให้เท่าเทียมกัน ให้ผู้ที่มีปัญหาแต่ไม่รู้ข้อมูล นักเรียน นักศึกษา คนจนได้เข้าถึงบริการ

  • แนวทางในการทำงาน เราไม่สามารถทำงานในกลุ่มที่ทำงานเพื่อสิทธิสตรี ได้เพียงผู้เดียว ควรจะต้องทำงานกับวิชาชีพแพทย์ นักกฎหมาย สื่อมวลชน และประชาสังคมโดยรวม นั่นคือ การแก้ปัญหานี้ต้องเป็นองค์กรสหวิชาชีพทำงานร่วมกัน เราต้องฟังเสียงสูตินรีแพทย์ ว่ารู้สึกอย่างไร นักกฎหมายมองเรื่องนี้อย่างไร สื่อมวลชนจะช่วยสื่อสารเรื่องนี้อย่างไร เราต้องต่อสู้กับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทุกฉบับ กฎหมายมาตรา 305 เป็นกฎหมายที่เลือกปฏิบัติอย่างยิ่งกับผู้หญิง ไม่มีความชัดเจน ในการที่จะปฏิบัติ ควรจะต้องแก้ไขและมีกฎหมายเฉพาะเรื่องนี้ออกมาประกอบ
ศ.น.พ.ประมวล-
  • คำจำกัดของคำว่า "สุขภาพ" เท่าที่ฟังมาทุกครั้ง ใช้ตามคำจำกัดความ ขององค์การอนามัยโลก สุขภาพ คือ ภาวะสมบูรณ์ของ ร่างกาย จิตใจ และความเป็นอยู่ในสังคมที่ดีและไม่เพียงแต่การปราศจากโรค หรือความทุพพลภาพเท่านั้น (Health is a state of complete physical, mental, and social well being and not merely the absence of disease or infirmity)

  • ข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ไขต่างๆ ต้องการให้มองเป็นภาพรวม ที่สามารถปฏิบัติได้บนพื้นฐานของวัฒนธรรม ประเพณีไทย ที่สามารถเกื้อกูล ซึ่งกันและกันได้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

  • เท่าที่ฟังข้อเสนอจากหลายๆ ท่าน คิดว่าควรมีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งเป็นไปได้ 3 ทาง คือ
    1. กฎหมาย 301-305 สามารถเขียนเพิ่มเติมเพื่อให้เปิดช่องทาง ให้ลดหย่อนได้ไหม เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้เลย
    2. คงไว้อย่างเดิม แล้วไปปิดกั้นอยู่ที่สำนักอัยการสูงสุด
    3. แก้กฎหมายหรือยกเลิกไปเลย ซึ่งน่าจะยาก
พ.ญ.นันทนา -
  • เรื่องคำนิยามสุขภาพต่างๆ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้คำนิยามออกมาแล้ว และเผยแพร่ตีพิมพ์ในวารสารมากมาย

  • ไม่เห็นด้วยกับ น.พ.ทศพร ที่เสนอให้ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเขต มีบริการทำแท้ง ในทางปฏิบัติควรให้ผู้เกี่ยวข้องทุกท่านมีความเข้าใจและตระหนักในเรื่องนี้ การมีบริการที่กว้างขวางจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้รับบริการ ขณะเดียวกันผู้ให้บริการ ไม่รู้สึกว่ามีบางคนเท่านั้นต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ที่จริงทุกสถานบริการ โรงพยาบาล เคยมีแนวทางปฏิบัติไว้แล้ว มีการจัดตั้งคลินิกดาวพระศุกร์ และในกรณีที่จะต้องทำแท้ง จะต้องมีการให้คำปรึกษา และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการการแพทย์ 3 คน เพียงแต่แนวทางนี้อาจจะเยิ่นเย่อหรือไม่ได้ถือปฏิบัติเหมือนกันทุกแห่ง
พ.ญ.สุวรรณา-
  • ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ทำการวิจัยครั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการวิจัย ก็เพื่อจะหามาตราการมาป้องกัน ลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และเพื่อจะนำข้อมูลนี้ไปช่วยอาจารย์ ทางด้านกฎหมายปรับแก้กฎหมายได้ขอช่วยดูว่า ข้อมูลที่รวบรวมมามีส่วนไหนที่จะสามารถสนับสนุนในระดับใดได้บ้างและขาดข้อมูลอะไรอีก จะได้รวบรวมมาให้ใช้ประโยชน์ต่อไปได้

  • เรื่องคำจำกัดความสุขภาพที่ WHO เพิ่มเรื่องจิตวิญญาณ (Spiritual) เข้ามา ซึ่งไม่มีความชัดเจนและไม่ทราบว่าจะวัดได้อย่างไร สำหรับจิตใจยังพอจะรู้สึกได้วัดได้

  • การที่ น.พ.ทศพร เสนอแนะแนวทางปฏิบัติให้ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเขต เป็นหน่วยงานเฉพาะที่ให้บริการ ถ้าทำก็ต้องทำพร้อมๆ กัน ทำตามจริยธรรม และความเหมาะสม ที่ทำทำกันปัจจุบันแบบใต้ดิน เพราะไม่มีความปลอดภัย ที่จะทำอย่างเปิดเผย

  • จะมีแนวทางที่สื่อสาร หรือประชาสัมพันธ์ทางอ้อมได้อย่างไรบ้าง ว่าถ้าผู้หญิงมีการตั้งครรภ์ไม่พร้อม จะไปขอรับบริการได้ที่ไหน
คุณเมธินี - ในฐานะที่ทำงานกับผู้ด้อยโอกาสในสังคม มองว่ากติกาทางสังคม ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงไม่มีสิทธิที่จะเลือก ปิดทางเลือกสำหรับผู้ด้อยโอกาส ในสังคมในการที่จะกำหนด หรือเลือกชะตาชีวิตของตัวเอง โดยเฉพาะควรมองความต้องการ ทุกๆ ด้านของผู้หญิงควบคู่ไปกับองค์ประกอบอื่นๆ ที่ช่วยสนับสนุน เช่น แพทย์ นักกฎหมาย

น.พ.สมชาย -
  • คำว่า "จิตวิญญาณที่ดี" (Spiritual well being) เป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญของคน ในแต่ละวัฒนธรรม ซึ่งจะมีเรื่องความสงบของจิตใจ (Peace of mind) ต่างกัน คำว่า Spiritual เอามิติทางสังคม วัฒนธรรม เข้ามารวมด้วย เพราะฉะนั้นจะเปลี่ยนไปจากเดิม ที่มองแต่ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ผสมกลมกลืนเข้าไปกับภูมิหลังของวัฒนธรรม (Cultural background) และเรื่องของมิติทางสังคมที่ลุ่มลึกขึ้น ทำให้คนมีทั้งภูมิปัญญา การพัฒนาตนเองในความเชื่อบริบท (Context) ทางวัฒนธรรมที่ต่างกันด้วย

  • ในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งกรมอนามัยจะจัดในวงใหญ่ขึ้น จะต้องมีสิ่งที่เป็นผลผลิต (Product) ที่ผู้คนจับต้องได้อธิบายได้ว่า เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยอย่างไร เท่าที่พูดมาจาก การประชุมทั้ง 2 ครั้ง เป็นการพูดโดยมีฐานจากประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งหลากหลายมาก พูดในเชิงนามธรรม (Abstract) ยังไม่ลงไปถึงการปฏิบัติ หลายคนมีความคาดหวัง ในกรมอนามัยมาก จึงเสนอว่า ควรเขียนแผนแม่บท (Master plan) ว่ามีมาตรการ ที่ต้องจัดการมีอะไรบ้าง กำหนดยุทธศาสตร์ขึ้นมา รวมทั้งมีกิจกรรมในเชิงระยะสั้น กลาง และยาวออกมาชุดหนึ่ง เพื่อเป็นตุ๊กตาให้ทางกลุ่มต่างฯ เช่น กลุ่มสิทธิสตรี กลุ่มแพทย์ลงความเห็นว่าดีไหม ขาดอะไรบ้าง ปฏิบัติได้ไหม ทุกกลุ่มควรมีจุดยืนของตัวเอง ถ้าเดินไปด้วยกันก็ขอให้เป็นขบวนเดียวกัน
รศ.ดร.อรทัย - ปัญหาวัยรุ่นที่มั่วสุ่มกันในสถานบริการ ทั้งๆ ที่มีกฎหมายบังคับ เรื่องอายุ และเวลาเปิดปิดสถานบริการ ดังนั้น ปัญหานี้เป็นไปได้หรือไม่ที่จะออกกฎข้อห้าม สำหรับวัยรุ่น กำหนดช่วงเวลาที่ห้ามออกนอกบ้านไปเลยว่ากี่ทุ่มไม่ควรออกนอกบ้าน เพื่อที่จะลดปัญหา ถ้าแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไม่ได้ ก็ควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ทราบว่า จะขัดกับสิทธิมนุษยชนด้วยหรือเปล่า

ดร.กิตติพงษ์ - ปัญหาของบ้านเราคือ มีกฎหมายดี แต่บังคับใช้ไม่ได้

ศ.น.พ.วิฑูรย์ -
  • งานวิจัยที่มาสนับสนุนทางด้านแท้งมีไม่มากนัก เพราะไปมองทางด้านสุขภาพกาย เสียส่วนใหญ่ ข้อมูลเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ไม่มีอะไรสนับสนุน แต่ผลงานวิจัย ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าปัญหาการทำแท้งไม่ปลอดภัยมีมากขึ้น

  • กฎหมายมาตรา 305 วงเล็บ 1 เรื่องสุขภาพ ถ้ามองสุขภาพตรงนี้แล้วขยายความ ให้กว้างขึ้น แล้วก็ให้แพทยสภาเป็นตัวกำหนดอันหนึ่ง แล้วมีสำนักงานอัยการสูงสุด เห็นพ้องเรื่องไม่ต้องเสี่ยงถึงขึ้นศาล สิ่งที่ทำมาในอดีตที่ทำกันแบลับๆ ก็จะถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน

  • แนวทางที่จะทำให้ชาวบ้านและประชาชนเข้าใจมีดังนี้
    1. ทำให้คนที่ต้องการใช้บริการทุกคนเข้ามาใช้บริการได้ การที่ทำแบบปิดๆ เปิดๆ คนที่มีเส้นสายเท่านั้นเข้ามาได้ ชาวบ้านเข้าไม่ถึง ถ้าทำแบบเปิดเผยแบบนี้ไม่ต้องแก้กฎหมาย
    2. ทำแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนขึ้น ทำให้แพทย์สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น แพทยสภาเป็นตัวตั้งว่าไปลงถึงผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทั้งหมด ทุกสังกัดของกระทรวง สาธารณสุขและนอกกระทรวงสาธารณสุข ถ้ากรมอนามัยแตะอยู่แค่นี้ ทบวงมหาวิทยาลัย จะไม่เกี่ยวข้องด้วย นี่คือข้อจำกัด ถ้าเปิดกว้างจะปกป้องแพทย์ได้ เมื่อถูกฟ้อง อย่างไรก็ตามถ้าให้สำนักงานอัยการสูงสุดเห็นพ้องด้วยก็ไม่เสี่ยงต่อการถูกฟ้อง
ผมเสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่จะทำแท้ง เพื่อตั้งครรภ์ ขอรับทำแท้งเนื่องมนจากปัญหาสุขภาพ แล้วเสนอให้อัยการสูงสุดรับรอง ตรงนี้จะเอาไปอ้างได้ ตำรวจไม่กล้าจับ ขอเสนอแนวทางปฏิบัติดังนี้
1. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้นั้นต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่สังกัดในหน่วยงานของรัฐ หากจะเปิดช่องให้เอกชน อาจเพิ่มว่าหน่วยงานของรัฐ หรือที่แพทยสภารับรอง
2.ให้หน่วยงานของรัฐนั้นจัดตั้งคณะกรรมการประเมินสุขภาพขึ้นมาก่อนที่จะทำแท้ง คณะกรรมการดังกล่าวมีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาอยู่ด้วย เนื่องจากเราอ้างเรื่องสุขภาพทั้งกาย และจิต
3. มีแนวทางประเมินปัญหาสุขภาพทางกายมีอะไรบ้าง เช่น เป็นโรคอะไร ให้เป็นแนวทางให้คณะกรรมการประเมินอีกครั้งหนึ่ง
4. มีแนวทางประเมินปัญหาสุขภาพทางกายทางจิต รวมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม
5. คำนึงถึงเรื่องของวิธีปฏิบัติด้วย เช่น อายุครรภ์เท่าไหร่ ถ้าเราทำตรงนี้ได้ การทำแท้งโดยวิธีปรับประจำเดือน (Menstruation Regulation-MR) ก็จะนำมาใช้ได้ เท่าที่ทราบ ว่าองค์กรระหว่างประเทศเคยเสนอให้เครื่องมือ MR ให้ไทย แต่พอทราบว่า ประเทศไทยไม่อนุญาตให้ทำเขาเลยไม่ให้ ซึ่งถ้าได้จะช่วยลดปัญหาได้มาก
6. มีแนวทางช่วยเหลือผู้ตั้งครรภ์ที่ไม่ผ่านการประเมินของคณะกรรมการด้วย เช่น มีการติดต่อกรมประชาสงเคราะห์ให้ความช่วยเหลือต่อ
7. ให้บริการในอัตราที่เป็นธรรม หรือฟรีสำหรับผู้ด้อยโอกาส ถ้าทำตรงนี้ได้ ก็จะครบวงจรโดยไม่ต้องไปแก้กฎหมาย
ร.ศ.ดร.ทวีเกียรติ-
  • การกำหนดเวลาออกนอกบ้านของเด็กจะมีปัญหามากขึ้นเพราะเด็กจะอ้างว่า กลับบ้านไม่ได้ อาจจะกลับตอนเช้าเลย
  • ขณะนี้กฎหมาย 301-305 ยังมีอยู่ก็ทำอย่าง น.พ.วิฑูรย์ เสนอไว้ ขณะเดียวกันก็ทำอย่างอื่น เช่น มีกฎหมายสุขภาพ ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งขณะนี้ผมทำอยู่คือแทรกไปในการสอน
    1. แทรกไปในการสอนนักศึกษาเรื่องกฎหมายทำแท้ง ก็จะสอนการตีความ เรื่องสุขภาพออกไปให้กว้าง
    2. เรื่องนิยามคำว่า สุขภาพ ที่เสนอให้ใส่ไปในพจนานุกรม ถ้าสามารถทำให้ ราชบัณฑิตรับรองคำนี้ได้ คงจะช่วยได้อีกทาง เพราะศาลก็ต้องเปิดดู
    3. แพทยสภาต้องรับผิดชอบด้วย เราสามารถที่จะวางเกณฑ์เหล่านี้ได้ โดยเสนอให้ราชบัณฑิตบรรจุความหมายของคำว่าสุขภาพในพจนานุกรม
ดร.กิตติพงษ์ - ผมขอสรุปดังนี้
  • หัวข้ออภิปรายที่ตั้งไว้ว่า กฎหมายอาญา มาตรา 305 ควรแก้หรือไม่อย่างไร ผมคิดว่า ควรแก้หรือไม่นั้น ชัดเจนแล้วว่าควร เพราะเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับผู้หญิง เลือกปฏิบัติไม่ให้ความช่วยเหลือในช่วงเวลาที่ต้องการให้ช่วยเหลือมากที่สุด ไม่คำนึงถึงความเป็นจริง ซึ่งสถิติที่ชัดเจนของกรมอนามัยได้นำเสนอผลการวิจัยครั้งนี้ ซึ่งชัดเจนที่สุดตั้งแต่เราเคยรณรงค์เรื่องนี้มา นอกจากนั้นประสิทธิภาพของการบังคับใช้ ก็มีปัญหาทำให้มีคนได้ประโยชน์จากนี้มากมาย แล้วก็มีผู้หญิงที่เสียประโยชน์มากมายเช่นกัน มันขัดขวางการพัฒนาระบบที่เราจะช่วยเรื่องการให้คำปรึกษาระบบรองรับ ขัดรัฐธรรมนูญ โดยสรุปแล้วเวรกรรมจึงตกแก่ผู้หญิง

  • จะแก้อย่างไร มีแนวคิดดังนี้
    1. แก้มาตรา 305 เน้นการตีความของคำว่าสุขภาพ ที่จะเป็นกรอบปกป้อง จะทำอย่างไร แค่ไหน มีประโยชน์อย่างไร ในอดีต กระบวนการแก้กฎหมาย ไม่ค่อยได้เตรียมตัวเท่าไร เพราะไม่คาดคิดว่าจะเจอกระแสต่อต้าน ลักษณะการแก้ก็ทำโดย อยากแก้อย่างไรก็เขียนไปอย่างนั้น โดยไม่มีการบอกว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ สถิติ ปัญหาชัดเจน ทำให้กระบวนการต่อต้านเข้มแข็งมากขึ้น เพราะคำว่าแท้งเสรี ติดตลาด ทำให้การดำเนินงานต่ออยากขึ้น

    - เรื่องสุขภาพเด็ก การแก้ไขต้องทำ เทคโนโลยีสมัยใหม่คงไม่มีปัญหา
    - ถ้าผู้หญิงต้องการทำแท้งเนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจและสังคมจริงๆ แล้วจะเขียนใน มาตรา 305 อย่างไร ซึ่งคนละเรื่องกับสุขภาพ

    2. ถ้ายังแก้ไม่ได้จะทำอย่างไร พูดกันมากเรื่องเกณฑ์ทางแพทย์ ซึ่งได้รับการรับรองเป็นเกณฑ์ของสำนักงานอัยการที่จะใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องด้วย ตรงนี้ก็ต้องทำควบคู่กันไป ซึ่งคงจะเป็นฉันทามติที่เราจะต้องเคลื่อนไหวต่อ

    3.เพิ่มกฎหมายใหม่ทั้งฉบับโดยยกเลิกมาตรา 301-305 กลยุทธ์ในอนาคตคือ การเคลื่อนไหวครั้งต่อไปต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมที่ชัดเจนและรับรู้ด้วย ประเด็นที่ต้องขยายความให้ชัดเจนคือว่า ไม่ใช่เรื่องทำแท้งเสรี แต่เป็นการต่อสู้กฎหมาย ที่ไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติทางเลือกของผู้หญิง เป็นเรื่องความปลอดภัยของผู้หญิง ความเป็นธรรมพื้นฐานต้องเน้นให้มาก ต้องพยายามมองเป้าหมายจริงๆ ที่จะให้ ความช่วยเหลือคือคนยากจน คนที่มีปัญหา คนที่ไม่มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือ เราไม่ได้ส่งเสริมการทำแท้ง แต่ต้องการลดการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย และกรณีที่จำเป็น ต้องทำแท้ง ต้องเป็นการทำแท้งที่ปลอดภัย จะครบวงจรนี้ได้ต้องมีระบบรองรับทางสังคมที่ดี ซึ่งบ่ายนี้จะพูดกันถึงเรื่องระบบรองรับให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหา สุดท้ายคือสำคัญ คือต้องรณรงค์เรื่องกำหนดคำนิยามของสุขภาพในพจนานุกรม
พ.ญ.สุวรรณา - ขั้นตอนในการดำเนินงานต่อไปของกรมอนามัย คือ หาแนวทางในการป้องกัน ซึ่งจะทำโครงการต่อ อยากทราบว่าหน่วยงานอื่นจะมีแนวทาง การเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป เช่น กระบวนการแก้มาตรา 305 หรือการเพิ่มเติมข้อความเข้าไป ซึ่งควรจะกำหนดแนวทางเคลื่อนไหวต่อไปไว้ด้วย

ดร.กิตติพงษ์ - ก่อนที่จะเคลื่อนไหวทางกฎหมายต่อไป ต้องอาศัยข้อมูลงานวิจัย ที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุน ที่จริงมีข้อมูลทางสังคมและระบบรองรับมากพอที่จะเคลื่อนไหวได้ เพียงแต่ไม่มีใครหยิบยกทุกเรื่องมาปะติดปะต่อกัน เพื่อให้เป็นพลังที่เข้มแข็ง ผมดีใจที่กรมอนามัยหยิบเรื่องนี้มาพูดกันเป็นจริงเป็นจัง บ่ายนี้คงจะพูดกันถึงเรื่องที่ว่า จะทำอย่างไรกันต่อไป


(update 30 สิงหาคม 2001)
[ ที่มา...เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง "ปัญหายุติการตั้งครรภ์"
6 สิงหาคม 2544 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร]

 
 

URL Link : http://www.elib-online.com/doctors3/lady_abortion21.html

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]