บทความเกี่ยวกับ คุมกำเนิด
คนเป็นคนที่ - 2497 [Date : 14 เม.ย. 2553 ]   
 
ทำแท้งผิดหรือถูกใครเป็นผู้ตัดสิน?
 
วันที่ 14 เม.ย. 2553   โดย หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน
 
 
:ทำแท้งผิดหรือถูกใครเป็นผู้ตัดสิน
 

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม 2542 ]

ทำแท้งผิดหรือถูกใครเป็นผู้ตัดสิน?


ในปัจจุบัน "การทำแท้ง" ถือเป็นปัญหาสังคมที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของปริมาณ ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา สถิติการทำแท้งของคนไทยมีมากกว่า 80,000 รายเลยทีเดียว ขณะที่ความคิดในเรื่องของการทำแท้งยังคงเป็นที่ถกเถียงกันตลอดเวลาว่า ทางออกที่แท้จริงควรจะเป็นอย่างไร ใครผิด ใครถูก และรัฐควรจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ในอีกกระแสหนึ่งก็มีความพยายามที่จะศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับ ความคิดเห็นของคนไทย ทั้งนี้เพื่อหาบทสรุป ในฐานะของความเป็น "ชาวพุทธ" ว่ามีความรู้สึกอย่างไร เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเปรียบเทียบกับแนวความคิดของประเทศอื่น ๆ ว่า มีความแตกต่างกันในด้านไหนบ้าง

รศ.พินิจ รัตนกุล ผู้อำนายการโครงการศูนย์ศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.พินิจ ในฐานะที่ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้มานาน อธิบายรายละเอียดผ่านข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์และพบว่า แม้ตัวเลขการทำแท้งของคนไทยจะมีจำนวนค่อนข้างมาก แต่คนส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อในเรื่องของกฎแห่งกรรม ไม่ว่าจะเป็นคนที่ผ่านการทำแท้งมาแล้วหรือไม่ก็ตาม เพราะมีความเชื่อว่า การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต โดยเฉพาะการทำลายชีวิตมนุษย์เป็นบาปที่จะติดตัวผู้กระทำ ทั้งในชาตินี้และชาติต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อดังกล่าว ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า บาปจะมีปริมาณมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น เจตนาของผู้กระทำ คุณภาพและขนาดของชีวิตที่ถูกทำลาย ยิ่งชีวิตนั้นมีคุณภาพน้อยและมีขนาดเล็กมากเพียงใด บาปที่ได้รับจากการทำลายชีวิตก็มีน้อยลงตามไปด้วย

ด้วยเหตุนี้เองจึงพบว่า ผู้ที่จำเป็นต้องทำแท้ง ถ้ามีทางเลือกมักทำแท้งในระยะแรก ๆ เพราะถือว่า ฟีตัส (FETUS) ยังเล็กมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตั้งท้องไม่เกิน 3 เดือน

"คือ ไม่มีใครหรอกที่อยากทำอะไรไม่ดี อยากมีบาปติดตัวไปตลอดชีวิต ทุกคนรู้สึกเสียใจทั้งนั้น ทีนี้เมื่อเสียใจเท่าที่ผมพบ มักหาทางออกด้วยการทำบุญสุนทาน และวิธีที่นิยมก็คือ การทำสังฆทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ทารกที่ถูกทำแท้งไป เพราะเชื่อว่าทำให้เด็กได้รับบุญกุศลมากขึ้น ชาติต่อไปถ้าเกิดอีกจะได้ไม่มาอยู่ในสภาพที่ต้องถูกทำแท้งอีก พร้อมกันนั้นก็เป็นการทำบุญให้กับตัวเองด้วย

"ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่มีใครเชื่อว่า การทำสังฆทานก็ดี หรือการบวชชีพราหมณ์ เป็นการล้างบาปได้ เหมือนในศาสนาอื่นที่เชื่อว่า สามารถล้างบาปได้ด้วยการสำนึกผิดและตั้งใจไม่กระทำอีกต่อไป แต่การทำบุญมาก ๆ อาจช่วยเป็นกันชนที่ช่วยลดแรงกระแทกของกรรมให้น้อยลงไปได้บ้าง"

อาจารย์พินิจวิเคราะห์ต่อไปว่า สำหรับสาเหตุที่ทำให้ต้องทำแท้งนั้น ประกอบไปด้วยหลายปัจจัยคือ
หนึ่ง ถูกข่มขื่นทั้งโดยคนแปลกหน้าและคนใกล้ชิดอย่างญาติพี่น้อง หรือครู อาจารย์
สอง ความไม่พร้อมที่จะมีลูก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับวัยรุ่น
สาม เกิดในกลุ่มคนจนที่ผิดพลาดทางด้านการคุมกำเนิด
และสุดท้าย เป็นกรณีที่ทารกในครรภ์มีโรคร้ายแรงและแม่อาจได้รับอันตรายได้เช่น ติดเชื้อเอชไอวี หรือทารกมีความพิกลพิการอย่างมาก เป็นต้น

ในกรณีหลัง บางคนก็ตัดสินใจทำแท้งเพราะเห็นว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะปล่อยเอาไว้ เนื่องจากเด็กเกิดมาแล้วคงมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานนัก หรือมีความทุกข์ทรมานในการดำรงชีวิต

ส่วนคนไม่กล้าทำแท้ง เพราะกลัวบาปที่จะติดตัวไป ก็หาทางออกด้วยการเมื่อคลอดแล้ว จะทิ้งทารกเอาไว้ที่โรงพยาบาล เพราะคิดว่าถ้านำกลับบ้านการเลี้ยงดูจะมีปัญหามาก และโรงพยาบาลรัฐน่าจะดูแลได้ดีกว่า

ขณะที่บางคนไม่ยอมทิ้งและไม่ยอมทำแท้งเพราะเชื่อว่า เด็กที่เกิดมาพิกลพิการ หรือมีโรคร้ายแรงติดมาถึงจะทำความลำบาก แต่ก็เป็นกรรมที่ติดตัวเด็กมา ดังนั้น จึงต้องการเลี้ยงดูให้มีชีวิตนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อใช้กรรมให้หมดไปในชาตินี้และปล่อยให้เสียชีวิตไปเองตามธรรมชาติ

"ปัญหาบางทีมันก็อยู่ที่หมอด้วย ว่าควรไปแนะนำเขาหรือไม่ และถ้าแนะนำแล้ว บอกว่าให้หมอช่วยทำให้เราจะทำไหม อย่างที่โรงพยาบาลรามาฯ มีคนไข้หลายคนบอกผมว่า แม้หมอวินิจฉัยแล้วว่าเด็กที่เกิดมาเป็นดาวน์ซินโดรม อย่างแรงและทางรอดมีน้อยมาก แต่เขาตัดสินใจไม่ทำ ยินดีปล่อยให้คลอดออกมาแล้ว ทำบุญทำกุศลให้

"คือ เขาเชื่อว่า บุญที่ทำให้และการเลี้ยงดูอย่างดี จะช่วยลดความทุกข์ที่เด็กจะได้รับน้อยลงไปได้ พร้อมทั้งเชื่อว่า ถ้าตายไปท่ามกลางความรักความเอาใจใส่ของพ่อแม่แล้ว ชาติต่อไปอาจไม่ประสบภาวะอย่างนี้อีก บางคนเลือกทางทำแท้งก็มีเยอะ แต่หลายคนก็เลือกวิธีนี้"

นอกจากนี้แล้ว ในส่วนของคนที่ไม่เคยทำแท้งเอง ก็กลับรู้สึกเข้าอกเข้าใจคนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว และไม่นิยมประณามผู้ทีทำแท้งเพราะความจำเป็น เช่น กรณีที่ถูกข่มขืนโดยคนใกล้ชิด เพราะคิดว่าคนที่ทำแท้งต้องอยู่ในสถานการณ์ชีวิตที่ไม่มีทางเลือก ทางอื่นที่ดีกว่า คือ เป็นช่วงที่เส้นแบ่งระหว่างความดีและความชั่ว ความถูกและความผิดเลือนรางมาก จนไม่รู้แน่ว่าการทำแท้งเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิดกันแน่

"ผมสรุปได้ว่า คนบางคนต้องเลือกทำสิ่งที่ไม่ดี เพราะไม่มีทางเลือกทางอื่นระหว่าง ความดีและความชั่ว ในกรณีของการทำแท้งก็เช่นเดียวกัน การทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการเลือกทำในสิ่งที่ไม่ดีน้อยที่สุด ถึงแม้รู้ว่าบาป แต่ก็ต้องทำ

"เรามักมองว่า คนที่ไปทำแท้งเป็นคนที่ใจร้าย ไม่ใช่ คือ พวกเราโชคดีที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจเช่นนั้น แต่คนทุกคนไม่ได้โชคดีเหมือนกันเท่านั้นเอง"

ดังนั้น ปัญหาการทำแท้งของชาวพุทธในสังคมไทย จึงไม่ใช่เป็นปัญหาโต้แย้งกันเหมือนในตะวันตกคือ ในตะวันตกตอนนี้ อย่างอเมริกา โต้แย้งกันมากว่า สตรีมีสิทธิหรือไม่ที่จะทำแท้งตามความต้องการ เพราะเป็นเจ้าของร่างกาย อีกกลุ่มหนึ่งก็ต่อต้านถือว่า เด็กทารกที่ยังเล็ก ๆ มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ด้วย

นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มที่สามที่เห็นว่า สามีก็มีสิทธิด้วย ภรรยาไม่มีสิทธิทำแท้งโดยเสรี ยกตัวอย่างในประเทศจีน ถือว่า การทำแท้งเป็นเรื่องของครอบครัว ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดตัดสินได้ตามลำพัง และรัฐบาลจีนเองก็เปิดโอกาสให้ทำแท้งโดยเสรี เพราะถือว่า เป็นวิธีหนึ่งในการคุมกำเนิดประชากร

หรือคนพื้นเมืองในแคนาดา เวลามีใครต้องการทำแท้ง ทุกคนในหมู่บ้านต้องมาประชุมกันเสียก่อน เพื่อวิเคราะห์ว่า ผู้หญิงคนนั้นควรทำหรือไม่ เพราะการมีชีวิตเพิ่มอีก 1 ชีวิต หมายถึงการสิ้นเปลืองทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ของชุมชนเช่นกัน ดังนั้น สมาชิกของชุมชนจึงมีส่วนในการตัดสินใจด้วย

ส่วนคนไทยถือว่า สิทธิในเรื่องนี้เป็นของผู้หญิง เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่เวลาเดียวกันก่อนตัดสินใจควรจะคิดถึงผลกระทบที่มีต่อคนที่เกี่ยวข้องเสียก่อน เพราะในแง่พุทธศาสนาแล้ว ทุกชีวิตเป็นเหตุปัจจัยเกื้อกูลกันและกัน ที่สำคัญคือต้องยอมรับผลจากการตัดสินใจของตัวเอง

"ปัญหาของคนไทยไม่ใช่เรื่องการต่อสู้ระหว่างกลุ่มสิทธิต่าง ๆ แต่เป็นปัญหาของการเลือกที่จำกัดมากคือ เลือกสิ่งที่ไม่ดี 2 สิ่ง ว่าสิ่งใดไม่ดีหรือทำให้เกิดความทุกข์น้อยที่สุดจะเลือกทำสิ่งนั้น

"จากการที่ผมคุยกับพระหลายรูป ท่านก็มีความเห็นว่า การทำแท้งเป็นบาปแต่ พระพุทธเจ้าเองท่านก็เข้าใจชีวิตมนุษย์ดี ศีล 5 คืออุดมคติที่ท่านต้องการให้เราพยายามทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วท่านก็เข้าใจว่า ฆราวาสทั่ว ๆ ไปอาจทำไม่ได้ แต่ว่าถ้าทำผิดพลาดไปขอให้เราสำนึกผิด แล้วตั้งใจจะไม่ทำเช่นนี้อีกต่อไป ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจ ให้มากมายเกินไปนัก เพราะอนาคตยังเป็นของเราอยู่"

ประเด็นที่สำคัญที่ รศ.พินิจ ค้นพบอีกอย่างหนึ่ง คือ ถึงแม้คนไทยจะไม่ประณามการทำแท้ง แต่ก็ไม่สนับสนุนให้รัฐบาลออกกฎหมายทำแท้งโดยเสรี เพราะเกรงว่า จะเปิดโอกาสให้คนผิดศีลข้อหนึ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ

สิ่งที่คนในสังคมต้องการคือ ให้รัฐสนใจแก้ไขปัญหาทำแท้งอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น การกำจัดปัจจัยต่าง ๆ ที่นำไปสู่การทำแท้งหรือทำให้ปัจจัยเหล่านี้ลดน้อยลง เช่น สาเหตุที่อาจถูกข่มขืน อาจเป็นเพราะบ้านอยู่ในซอยลึก ไฟฟ้าสาธารณะที่ติดอยู่ตามถนนมีไม่เพียงพอ เวลาที่กลับบ้านดึกอาจมีคนร้ายมาดักซุ่มข่มขืนได้

หรือให้การศึกษาเรื่องเพศสัมพันธ์แก่วัยรุ่น เพื่อให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น และช่วยเหลือผู้ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง พร้อมกันนั้นควรให้การศึกษากับผู้ชายควบคู่ไปด้วย และไม่ควรโทษผู้หญิงแต่เพียงอย่างเดียว เพราะถ้าไม่มีผู้ชายไปข่มขืนหรือมีเพศสัมพันธ์ การทำแท้งก็ไม่เกิดขึ้น

"ในมหาวิทยาลัยเยลที่ผมสอนอยู่ เขาจะมีสถานที่ปรึกษาคอยดูแลนักศึกษาที่มีปัญหาตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ เพื่อหาทางแก้ปัญหาให้โดยไม่ต้องทำแท้ง มีขั้นตอนหรือกระบวนการจัดการอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เช่น ส่งมอบให้องค์กรทางศาสนาเพื่อขอคำชี้แนะ บางคนเคยมีความคิดที่จะทำแท้ง พอไปรับคำปรึกษาแล้ว เปลี่ยนไปเลยก็มี"

ขณะเดียวกัน ศ.นพ.สมพล พงศ์ไทย รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมที่น่าสนใจว่า
ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการท้องโดยไม่พึงประสงค์มีอยู่ 8 ประการ คือ

หนึ่ง ผู้หญิงกับผู้ชายนอนด้วยกัน โดยไม่รู้ว่าทำให้ท้องได้ ซึ่งเกิดมากในเด็กวัยรุ่น
สอง รู้ว่านอนด้วยกันแล้วทำให้ท้องได้ แต่ไม่รู้ว่าป้องกันได้
สาม รู้ว่าป้องกันได้ แต่ไม่รู้ว่าทำยังไง
สี่ รู้ว่าป้องกันได้ยังไง แต่ไม่รู้ว่าจะไปหาซื้ออุปกรณ์ที่ไหน
ห้า รู้ว่าซื้อที่ไหน แต่ไม่รู้ว่าจะใช้ยังไง
หก รู้ว่าใช้ยังไง แต่ไม่ใช้
เจ็ด รู้ว่าใช้ยังไง และก็ยินดีจะใช้ด้วย แต่พลาด และ
แปด ถูกข่มขืนกระทำชำเรา

อย่างไรก็ดี ทางออกของเรื่องนี้อยู่ที่ "การศึกษา"ของคนในสังคมมีมากน้อยเพียงใด อย่างเช่นในญี่ปุ่นนั้น ต้องถือว่าประสบความสำเร็จในเรื่องการทำแท้งมาก คือมีการทำแท้งน้อยมาก ด้วยเหตุที่ผู้ชายญี่ปุ่นมีความเข้าใจในเรื่องของการคุมกำเนิดดีมาก มาก จนถือว่า ถุงยางอนามัยนั้นเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตเลยทีเดียว

"จริง ๆ แล้วการทำแท้งไม่ใช่เป็นปัญหาใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่าที่มีมานานแล้ว โดยแพร่ระบาดอย่างมากในช่วงหลังยุควิตอเรีย หลังจากโลกก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม การเคลื่อนตัวของวัฒนธรรมที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีสื่อต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดเพศสัมพันธ์มากขึ้น

"ปัญหานี้มันเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตคือ บางคนมองว่า ต้องการให้เด็กเกิดมาแล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ไม่ทำให้คุณภาพชีวิตของพ่อแม่ตกต่ำไปกว่านี้ ไม่ทำให้คุณภาพของเด็กซึ่งเป็นพี่น้องกัน และเกิดไปแล้วแย่ไปกว่านี้ อย่างที่ประเทศเดนมาร์ก มีการศึกษาย้อนหลังไป 20 ปี เกี่ยวกับเด็กที่เกิดมาโดยไม่ตั้งใจ และไม่ถูกทำแท้ง พบว่า 1 ใน 3 ของเด็กพวกนี้เป็นอาชญากร แล้วเราจะตัดสินเรื่องนี้อย่างไร มันเป็นปัญหาที่ไม่ง่ายเลย"

 
 

URL Link : http://www.elib-online.com/doctors/lady_abortion3.html

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]