บทความเกี่ยวกับ คู่มือเลี้ยงลูก
คนเป็นคนที่ - 3734 [Date : 13 ธ.ค. 2550 ]   
 
Curative education เทคนิคพา “เด็กออฯ” เติบโตงดงาม
 
วันที่ 13 ธ.ค. 2550   โดย กองทรัพย์
 
 

 

 

“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ เมืองๆ หนึ่ง พระราชาและพระราชินีกำลังเฝ้ารอการกำเนิดขององค์รัชทายาท ทั้ง 2 พระองค์ทรงพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ราชบุตร และแล้ววันที่รอคอยก็มาถึง พระราชินีให้กำเนิดพระโอรส ...แต่ทว่าพระโอรสกลับมีหน้ายาวยื่นออกมาแตกต่างไปจากเด็กๆ ทั่วไปมีหูยาวเหมือนลา มีแขนเหมือนขาหน้า มีนิ้วเป็นกีบที่แข็ง ชาวเมืองจึงเรียก พระโอรสว่า “เจ้าชายลา”…”

 

นิทานจากประเทศตะวันตกเรื่องนี้ยังไม่จบหรอกนะคะ แต่ดิฉันอยากให้คุณกลับมามองความจริงในชีวิตกันก่อน แม้บนโลกกลมๆ สีน้ำเงินใบนี้จะไม่มีเจ้าชายลาเช่นในนิทานดังกล่าว แต่โลกนี้ยังมีเด็กพิเศษกลุ่มหนึ่งที่เรารู้จักหรืออาจเคยได้ยินอยู่บ่อยๆ นั่นคือ เด็กออทิสติก เด็กน้อยซึ่งกำลังรอคอยการเยียวยาอารมณืเพื่อให้เติบโตลาสามารถก้าวออกไปเผชิญโลกที่กว้างใหญ่

แม้ที่สุดแล้วโลกที่เจ้าชายลาและเด็กออทิสติกได้พบเจอเป็นอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยทั้งเจ้าชายลาและเด็กออทิสติกก็ได้เรียนรู้จักที่จะเลือกเดินด้วยตัวเอง

มาติดตามเรื่องราวของเจ้าชายลาและการเยียวยาเด็กน้อยออทิสติกกันนะคะ

 

สงบ : เพื่อเข้าถึงหัวใจดวงเล็ก

 

 “...พระราชินีทรงเสียพระทัยมากที่พระโอรสเกิดมาเป็นลา อยากจะนำเจ้าชายไปลอยแพ แต่พระราชาตรัสว่า ถึงอย่างไรเจ้าชายลาก็เป็นลูก จึงทำให้พระราชินี เปลี่ยนพระทัยกลับมาคอยเลี้ยงดูเจ้าชายลาเป็นอย่างดี เจ้าชายลาจึงเติบโตมาด้วยความรักที่พ่อแม่และชาวเมืองมอบให้...”

 

เช้าวันหนึ่งในห้องเวิร์คช็อปเรื่องการศึกษาที่สวยงามเมื่อยามลูกเติบโต (Curative education) ดิฉันมีโอกาสพบและเข้าร่วมกิจกรรมกับคุณครู คุณพ่อคุณแม่ คุณหมอและนักจิตวิทยา เรากำลังมุ้งมั่นสมมติตัวเองอีกครั้งค่ะ เพื่อเข้าถึงหัวใจเด็กออทิสซึ่ม

คุณครูเบ็คกี้ รูเธอร์ฟอร์ด ผู้บรรยายและฝึกปฏิบัติด้านการศึกษาพิเศา จากประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังพูดถึงการจัดการชีวิต การค้นหาความงามในตัวเอง และการค้นหาความงามในเด็กออทิสติกผ่านศิลปะและกิจกรรมบำบัดในแนว วอลดอร์ฟ (Waldorf) ที่เน้นให้เด็กเติบโตอย่างเป็นอิสระ เพื่อให้เขาสามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพและก่อประโยชน์ให้กับผู้อื่นในสังคมได้

 

ครูเบ็คกี้ได้บอกเคล็ดลับว่า ผู้ใหญ่ที่จะทำงานกับเด็กออทิสติกให้ได้ผลนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อหาแก่นแท้และความงามของเด็ก โดยวิธีง่ายๆ ที่สามารถทำได้ง่ายๆ ที่บ้านก็คือ การนั่งสมาธิเพื่อสงบอารมณ์ หรือถ้ารวมกันเป็นกลุ่มก็มีกิจกรรมการเคลื่อนไหว (Eurythmy) ซึ่งเป็นวิธีการที่ผู้ใหญ่จะได้สมาธิ และอยู่กับตัวเองเพราะความสงบนิ่งในผู้บำบัดจะช่วยปัดเป่าสิ่งที่ขุ่นมัวอยู่ในใจออกไป ทำให้ทำกิจกรรมกับเด็กๆ ออทิสติกได้ดีขึ้นค่ะ

สำหรับวันนี้ครูเบ็คกี้เริ่มต้นด้วยการเล่านิทานเรื่อง “เจ้าชายลา” เพื่อให้ผู้ใหญ่ได้เข้าใจแก่นแท้ของมนุษย์และเด็กที่มีความต้องการพิเศษ จากนั้นก็เริ่มทำกิจกรรมที่สนุกแต่ทำให้สงบ เพื่อให้เข้าถึงตัวเองและเชื่อมต่อความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ด้วย

กิจกรรมการเคลื่อนไหวมีตั้งแต่ยืนล้อมกันเป็นวงกลม ปรบมือไปตามจังหวะ ก้าวเดินพร้อมกับนับกำหนดจังหวะ 1...2...และ 3 เคลื่อนไหวพร้อมกับกำหนดลมหายใจเข้าออกร้องเพลงพร้อมกับกำหนดจังหวะ หรือยืนล้อมเป็นวงกลมแล้วเคลื่อนไหวแขนขาให้เข้ากับบทกลอนที่แต่งเองง่ายๆ พร้อมทั้งเดินเข้า-ออก คล้ายกับอาการตูมและบานของดอกไม้เมื่อต้องแสงอาทิตย์

การค้นหาตัวตนของตัวเองด้วยสมาธิและความสงบจะเป็นเครื่องมือในการจัดการจังหวะชีวิต และเป็นกุญจาสำคัญที่จะไขเข้าไปในตัวตนเด็ก เพราะการเคลื่อนของกายที่สัมพันธ์ไปกับจังหวะการเต้นของหัวใจ จะทำให้เรามีสมาธิและเข้าใจพฤติกรรมการแสดงออกของเด็กออทิสติกมากขึ้นว่า เขาไม่ได้ปิดกั้นโลก แต่กำลังปกป้องตัวเองจากสิ่งที่วิ่งเข้ามากระทบตัวเขาหาก

 

บ้าน : ดินแดนปลูกรักและบำบัดด้วยสิ่งรอบตัว

 

 “...พระราชาทรงเลือกที่จะปกป้องเจ้าชายโดยการสั่งให้ทหารและชาวเมืองทุบกระจกทุกบานในเมือง เพื่อมิให้เจ้าชายได้เห็นรูปโฉมที่แท้จริงของตนเอง ทั้งนี้เพราะต้องการให้เจ้าชายเจริญวัยอย่างมีความสุขเฉกเช่นเด็กทั่วไป...”

 

เมื่อเรารับรู้ตัวตนได้แล้ว เราก็สามารถรับรู้ตัวตนของเด็กที่เป็นออทิสติกได้ไม่ยาก สิ่งง่ายๆ ที่คนในบ้านจะสามารถทำได้ก็คือการยอมรับในสิ่งที่เด็กออฯเป็น ไม่ทำให้เขารู้สึกว่าการเป็นเด็กออทิสติกเป็นเรื่องน่าอับอายของครอบครัว จากนั้นกิจกรรมต่อยอดที่จะทำให้เขาสนุกและมีความสุขในอาณาจักรบ้านก็จะทำได้ไม่ยากแล้วล่ะค่ะ

ส่วนจะเริ่มต้นอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการของเขา เราอาจจะเริ่มดึงดูดให้เขาสนใจในตัวเราด้วยการเลียนแบบพฤติกรรมการแสดงออกของเขา ขณะที่เด็กบางคนชอบการอยู่เงียบๆ ที่สำคัญต้องทำสิ่งนั้นซ้ำๆ ในรัศมีที่ของมองเห็นได้ ทำไปเรื่อยๆ ทั้งในขณะที่เขารู้และไม่รู้ตัว เมื่อรู้สึกว่าเริ่มสนใจกิจกรรมแล้ว ค่อยสร้างความสัมพันธ์ในระดับที่ใกล้ชิดมากขึ้นดังนี้ค่ะ

 

1. จัดบริเวณบ้านด้วยความละเอียดอ่อน ต้องให้ความสำคัญและการจัดแสง เสียง สี หรือสิ่งต่างๆ ที่จะเข้ามากระทบกับเขา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ห้องนอน ห้องทำงาน หรือแม้กระทั่งห้องนั่งเล่น ให้เปลี่ยนมาให้ผ้านฝ้ายเนื้อบางเบาแทนที่จะใช้ม่านมู่ลี่พลาสติกทั้งนี้เพื่อกรอง แสง สี หรือสิ่งที่เข้ามากระทบกับเขาให้ได้มากที่สุด ดังเช่น ที่พระราชาสั่งให้ทหารทุบกระจก

 

2. กิจกรรมในบ้านเริ่มได้ด้วยพ่อแม่ นั่นคือ การที่คอยช่วยเหลือและให้กำลังใจเขาอย่างใกล้ชิด มีหลายวิธีที่จะทำให้เด็กออฯรู้สึกดีกับตัวเองและกับโลกที่เขาอยู่ เช่น จัดพื้นที่บางส่วนในบ้านให้มีสีประจำวัน และให้เขาทำหน้าที่เปลี่ยนสีผ้าในแต่ละวันเพื่อให้เขารู้สึกว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงและเวลาก็มีการเปลี่ยนไป

หรือกิจกรรมหนึ่งคือ ใส่น้ำในอ่างโดยให้มีอุณหภูมิแตกต่างกันไปในแต่ละวัน ใส่วัสดุต่างๆ ลงไป เช่น เปลือกหอย หรือวัสดุธรรมชาติอื่นๆ เพื่อให้เขาเรียนรู้เรื่องการรู้สึกถึงร้อน หนาว และการมีชีวิตอยู่ค่ะ

3. การเคลื่อนไหวอย่างมีจังหวะและสม่ำเสมอ ไม่ใช่ว่าจะต้องให้เต้นหรือร้องเพลงทั้งวันหรอกนะคะ แต่อย่างที่ทราบว่าเด็กออฯมีอุปสรรคในการเคลื่อนกายให้สัมพันธ์กับความคิด ดังนั้นชีวิตในแต่ละวันของเขาจึงต้องมีจังหวะเป็นตัวกำหนด

และเพื่อให้ผสานกลมกลืนกับกิจวัตรประจำวัน ลองใช้ “กลยุทธ์การเดินบำบัด” ดูค่ะเริ่มจากอาณาบริเวณบ้านที่มีต้นไม้ ดอกไม้ ต้นหญ้าชุ่มน้ำ ให้เริ่มกิจกรรมด้วยการเดินชะมดอกไม้ ดูเมฆเคลื่อนไหว ดูนก ร้องเพลง จังหวะการเดิน ปรบมือ ร้องเพลงด้วยกันเพราะเด็กออฯชอบเดินบนปลายเท้า การที่เปิดโอกาสให้เท้าเขาสัมผัสบนหญ้า ดิน หรือวัสดุต่างๆ หรือเดินถอยหลังขึ้นเนินจะช่วยให้เขาสามารเดินอย่างเต็มฝ่าเท้าค่ะ

 

ค้นหา : สะพานเชื่อมสู่โลกภายนอก

 

“...เจ้าชายลาค้นพบว่าดนตรีคือสะพานที่เชื่อมพระองค์ให้เข้ากับคนอื่นได้เพียรพยายามใช้กีบที่แข็งและหนาเล่นพิณได้อย่างไพเราะด้วยตัวเองจนเป็นที่ยอมรับของนักเล่นพิณ และทุกคนในเมืองต่างชื่นชอบเสียงพิณของเจ้าชายลา...”

 

แต่สำหรับเด็กออทิสติกแล้ว ผู้ใหญ่อย่างเราๆ จะต้องเป็นคนช่วยค้นหาว่าอะไรที่เขาทำแล้วจดจ่อละมีความสุข ซึ่งในห้องเวิร์คช็อปครั้งนี้ก็มีหลายหลากมากมายที่ให้เราได้ทดลองและนำไปใช้ค่ะ อาทิ

 

ปั้นดินเหนียวหลังบ้าน

ในขั้นตอนนี้ผู้ใหญ่ที่ได้ทดลองทำดูจะชอบเป็นพิเศษ ทั้งนี้เพราะ ครูอุ้ย-อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลบ้านรัก ให้ทุกคนจำลองตัวเองเป็นเด็ก ปั้นดินเหนียวเป็นก้อนกลม แล้วจับกลุ่มเวียนสลับก้อนดินกัน และให้ทายว่าก้อนดินก้อนไหนเป็นของตัวเองเมื่อได้มาแล้วก็นำมาคลี่และปั้นให้เป็นรูปอย่างที่ใจอยากให้เป็นค่ะ

ครูอุ้ยบอกว่า ศิลปะการปั้นดินเหนียวหาเชื่อมโยงเข้ากับสัมผัสทั้ง 12 แล้ว จะช่วยเรื่องประสาทการรับรู้ การสัมผัสแตะต้อง การได้กลิ่น รูปทรง ขนาด น้ำหนัก อุณหภูมิ จากลูกกลมๆ ในมือที่ค่อยๆ คลี่ดินออกและปั้นเป็นรูปทรงต่างๆ สมองจะทำงานผ่านมือและผ่านใจ จะช่วยเด็กออฯ เรื่องการมองหลายมิติ ทำให้เข้าใจสิ่งที่มีหลายด้านมากขึ้น

 
 

[ ที่มา...นิตยสารรักลูก ปีที่ 25 ฉบับที่297 ตุลาคม 2550 ]

URL Link : http://www.planpublishing.com

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]