บทความเกี่ยวกับ คู่มือเลี้ยงลูก
คนเป็นคนที่ - 6616 [Date : 28 พ.ย. 2550 ]   
 
จ๊ะเอ๋... หนูมองเห็นชัดแล้ว
 
วันที่ 28 พ.ย. 2550   โดย อาราดา
 
 

 

 

ช่วงขวบปีแรก พัฒนาการด้านต่างๆ ของหนูเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในแต่ละเดือน เอ...แล้วพ่อแม่เคยนึกสงสัยมั้ยว่า สายตาของหนูจะพัฒนาได้รวดเร็วเหมือนกับอวัยวะอื่นๆ หรือเปล่า

เข้ามาใกล้ๆ อีกนิดนะ...ถึงเวลาที่หนูจะบอกความลับว่าหนูมองเห็นแค่ไหนให้พ่อกับแม่รู้แล้วล่ะจ้ะ

หนูก็ได้ยินพ่อบอกแม่บ่อยๆ ว่า ดวงตาเปรียบเหมือนหน้าต่างของหัวใจ พ่อพูดทีไรแม่ก็ยิ้มเขินทุกทีเลย นี่ถ้าดวงตาของหนูมองเห็นและพัฒนาตามวัย หัวใจของพ่อกับแม่ต้องปลื้มแน่ๆ เล้ย

เพราะการมองเห็นสำคัญมากกับพัฒนาการด้านอื่นๆด รวมทั้งการเรียนรู้ของหนู โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก สมองและสายตาของหนูเริ่มทำงานร่วมกันในการจับภาพและจดจำสิ่งที่เห็น ซึ่งหากสายตาหนูปกติดีก็จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางด้านกายภาพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการหยิบจับ นั่ง คว่ำ คลาน และเดิน

 

0-3 เดือน แค่เห็นลางๆ เองจ้ะ

 

ช่วงนี้เซลล์สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็นของหนูยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะตอนแรกเกิดหนูแทบจะมองไม่เห็นอะไรเลยด้วยซ้ำ พออายุได้ประมาณ 1-2 เดือน หนูถึงจะมองเห็นหน้าพ่อแม่ แต่ก็ดูดเลือนรางและพร่ามัวมากๆ กระทั่งเดือนที่ 3 นั่นแหละหนูถึงจะเริ่มเห็นหน้าแม่ชัดขึ้น ยิ่งเวลาผ่านไปนานแค่ไหนใบหน้าพ่อกับแม่ก็ยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

 

พ่อแม่ช่วยหนูได้

 

แรกเกิด-6 เดือน เพียงแค่พ่อแม่หาของเล่นที่มีสีสันสดใสมาเล่นกับหนู หรือแค่ยิ้ม พูดคุย หยอกล้อ สบตา เคลื่อนหน้าไปทางซ้ายที ขวาที ก็ถือเป็นการช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางตาของหนูแล้วจ้า

แล้วรู้ไหมคะว่า เวลาที่พ่อกับแม่ยิ้ม หรือพูดคุยกับหนูถ้าหนูยิ้มตอบ และไม่มีอาการตาสั่น ตาเหล่ นั่นแสดงว่าพัฒนาการทางสายของหนูเป็นไปอย่างปกติดี

 

อาการแบบนี้ควรพบแพทย์

 

·        ไม่มองหน้า หนูน้อยควรจะเริ่มมองหน้าแม่ขณะให้นมเมื่ออายุ 1-3 เดือน หากไม่ยิ้ม สายตาดูเหม่อลอยควรนำไปตรวจโดยทันที

·        ตาสั่น ตาขยับไปมาตลอดเวลาอย่างเห็นได้ชัด สายตามองสะเปะสะปะ

·        ตาเหล่ หนูน้อยมีอาการตาดำอยู่ติดหัว หรือตาดำไม่อยู่ในตำแหน่งปกติ

·        สีขาวขุ่นในตาดำ อาจจะเป็นสาเหตุทำให้มีโอกาสเป็นต้อกระจกหรือมะเร็งก็ได้

 

3-6 เดือน เริ่มเห็นชัดแล้วนะ

 

เซลล์สมองส่วนการมองเห็นของหนูจะพัฒนาเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดือนแรกๆ สามารถปรับระยะการมองเห็นภาพใกล้และไกลได้พอสมควร พอเข้าเดือนที่ 4 หนูจะเริ่มกะระยะความลึกของวัตถุได้บ้างเล็กน้อย เดือนที่ 5-6 การมองเห็นได้แม้กระทั่งสิ่งของชิ้นเล็กๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สายตาหนูก็ยังจะไม่สมบูรณ์เทียบเท่ากับการมองเห็นของแม่อยู่ดีละน่า

 

6-9 เดือน ไชโย...หนูมองเห็นไกลกว่าเดิม

 

จากเดิมที่หนูเคยเห็นได้ไกลแค่ 12 นิ้ว และพร่ามัวในช่วงแรกเกิด ถึงตอนนี้หนูสามารถจะมองเห็นวัตถุได้ไกลและชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นทั้งในด้านความชัดเจน และความลึกของวัตถุ

 

พ่อแม่ช่วยหนูได้

 

หลัง 6 เดือนขึ้นไป หากพัฒนาการทางสายตาของหนูเป็นปกติในช่วง 6 เดือนแรก ก็แสดงว่า 6 เดือนหลังพัฒนาการของหนูก็จะดำเนินไปตามปกติ ช่วงนี้แม่อาจจะไม่ต้องมาเล่นกับหนูบ่อยๆ เหมือนแต่ก่อน เพราะในช่วงนี้หนูจะอยากคว่ำ คืบคลาน ปีนป่าย จับยึด กลอกตามองโลกกว้าง สำรวจสิ่งรอบตัว ซึ่งเป็นการกระตุ้นพัฒนาการทางสายตาของหนูไปโดยไปโดยอัตโนมัตินั่นเอง

 

9-12 เดือน โลกกว้างสดใสอย่างนี้นี่เอง

 

การมองเห็นของหนูในช่วงวัยนี้แทบพัฒนาจนเกือบเท่ากับสายตาของผู้ใหญ่เลยนะ การทำงานระหว่างกล้ามเนื้อมือและสายตาก็มีความสัมพันธ์กัน นี่แค่ 12 เดือนเท่านั้นนะ สายตาของหนูยังพัฒนาไปได้มากขนาดนี้ และเวลาผ่านไปสายตาของหนูก็จะยิ่งสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงอายุประมาณ 9-10 ขวบ การมองเห็นของหนูจะพัฒนาเท่ากับสายตาผู้ใหญ่เลยล่ะ

 

รู้ไหมว่า...

 

3 วิธีการตรวจเช็คระดับสายตาเด็กตั้งแต่แรกเกิด

 

  • ไฟฟ้ากระตุ้น คือการใช้ไฟส่องที่บริเวณดวงตาของเด็กจะไม่ทำให้เกิดอันตรายใดๆ ซึ่งด้วยวิธีนี้จะทำให้ทราบถึงระบบการทำงานของจอประสาทตาว่าปกติหรือไม่

  • ภาพสลับเส้นขาวดำ นำภาพที่มีลายเส้นสีขาวสลับสีดำและภาพสีเทามาให้เด็กเลือก ถ้าเด็กเลือกมองภาพขาวสลับดำแสดงว่าสายตาปกติหากเหม่อลอยไม่มองทั้ง 2 ภาพ แสดงว่าสายตาอาจผิดปกติ หรือมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน

  • ตัวหมุน เมื่อหมุนแล้วคุณหมอจะคอยสังเกตปฏิกิริยาว่าเด็กมองตามหรือไม่ หนูน้อยที่มีสายตาปกติจะตอบสนองโดยการมองตามตัวหมุนได้เป็นอย่างดี

            

เห็นมั้ยจ๊ะว่า เพียงแค่พ่อแม่พูดคุย ยิ้ม หยอกล้อ สบตากับหนูเท่านี้ก็สามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการการมองเห็นของหนูได้แล้วไม่ยากเย็นเลยใช่มั้ยพ่อจ๊ะ แม่จ๋า

 
 

[ ที่มา...นิตยสารรักลูก ปีที่ 25 ฉบับที่297 ตุลาคม 2550 ]

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]