บทความเกี่ยวกับ สุขภาพจิต
คนเป็นคนที่ - 3647 [Date : 20 พ.ย. 2550 ]   
 
มาเขียนจดหมายกันเถอะ
 
วันที่ 20 พ.ย. 2550   โดย เคท
 
 

 

 

เนิ่นนานเท่าไรแล้วคะ...? ที่คุณไม่เคยหยิบกระดาษ ปากกาขึ้นมาเขียนจดหมายไม่ต้องคิดนานขนาดนั้นหรอกค่ะ เพราะดิฉันเองก็ไม่ได้เขียนจดหมายมานานมากแล้วเหมือนกันวันนี้รู้สึกเหงาๆ หมดกำลังใจ เลยนึกอยากจะเขียนจดหมายมาสักฉบับ

ขณะที่ดิฉันกำลังใช้ความคิด สายตาก็พลันไปสะดุดกึกกับข้าวของกองโตที่เพิ่งจะรื้อออกมา จึงจำเป็นต้องลงไม้ลงมือสังคายนากันยกใหญ่...รื้อโน่นหยิบนี่ได้สักพัก สายตาก็เหลือบไปเห็นกล่องสมบัติอันล้ำค่าวางอยู่ จึงค่อยๆ หยิบขึ้นมาดูด้วยความตื่นเต้น

...กล่องที่ว่านี้ คือกล่องจดหมายของพ่อ ซึ่งเก็บมานานร่วม 10 ปีแล้วล่ะค่ะ...ดิฉันกางจดหมายสีเหลืองเก่าคร่ำคร่าที่ข้างๆ มีรอยขาดเล็กน้อยออก และเริ่มอ่านด้วยใจเต้นระทึก ด้วยเพราะลืมเนื้อความในจดหมายไปหมดแล้ว...

 

...ลูกรัก แค่ลูกเรียนจบ พ่อก็ดีใจมากแล้ว การเดินหางานในกรุงเทพฯ มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยนะ พ่อรู้ว่าลูกอยากทำงานแต่ถ้าเมื่อใดที่ลูกรู้สึกไม่ไหว ก็กลับมาบ้านเราเถอะ พ่อกับแม่เป็นห่วงลูกนะ...

 

โอ้โห...อ่านได้แค่นี้ก็น้ำตาไหลพราก คิดถึงพ่อในบัลดลเลยค่ะท่านผู้ชม เอ๊ย...ท่านผู้อ่าน

และแล้วดิฉันก็รู้สึกว่าถึงเวลาแล้วจะต้องเริ่มเขียนจดหมายถึงใครคนนั้นแล้วล่ะ

 

เหตุ...คนเขียนจดหมายน้อยลง

 

ขณะที่เขียนจดหมายไป ในใจก็นึกทบทวนว่า ทำไมที่ผ่านมาจึงไม่ได้เขียนจดหมายเลย ไม่รู้ว่าผู้อ่านคิดเหมือนดิฉันหรือเปล่าว่าเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวไกล การสื่อสารต่างๆ ทำได้ง่าย สะดวกและรวดเร็วขึ้น เพราะเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสก็สามารถติดต่อกันได้แล้ว เราสามารถย่นและย่อโลกไว้ในกำมือ เอารูปแบบไหนล่ะมีทั้งโทรศัพท์มือถือเอย e-mail เอย ซ้ำยังจะมี msn อีก คุยกันข้ามประเทศได้โดยใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที ไม่เหมือนแต่เก่าก่อนเวลาต้องการจะสื่อสารถึงกันแต่ละครั้ง ก็ต้องเขียนลงบนผนังถ้ำ หนังสัตว์ บ้างก็เขียนลงบนเครื่องปั้นดินเผา...

แม้ว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาจะได้มีการพัฒนารูปแบบของกระดาษ ปากกา ให้มีความหลากหลาย เหมาะสมกับคนเขียนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็น่าแปลกที่ยอดการเขียนจดหมายกลับลดน้อยลงฮวบอาบถุงใส่จดหมายของบุรุษไปรษณีย์ แต่ก่อนเคยเต็มจนล้น แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีจดหมายเลย จะไปมีเยอะๆ อีกทีคงเป็นช่วงปีใหม่ หรือวันวาเลนไทน์นั่นล่ะค่ะ จนที่ทำการไปรษณีย์แต่ละแห่งต้องเปิดรับชำระเงินค่าบริการต่างๆ มากขึ้น เพื่อความอยู่รอด

 

และไม่ใช่แต่เฉพาะบ้านเราเท่านั้น ที่มียอดการเขียนจดหมายลดลง เพราะทั่วโลกก็เป็นเหมือนกัน เมื่อเดือนกันยายน ปี 2549 ผศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน (นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาฟิสิกส์ทฤษฎี ปี 2530) เขียนบทความเรื่อง “จุดจบของจดหมาย” เอาไว้ ซึ่งในเนื้อหาของบทความนั้นมีข้อมูลการสำรวจสถิติการเขียนจดหมายของประเทศต่างๆ ไว้ดังนั้น

 

คนอเมริกัน เขียนจดหมายปีละ 225 ฉบับ

คนออสเตรเลีย เขียนจดหมายปีละ 178 ฉบับ

คนอังกฤษ เขียนจดหมายปีละ 128 ฉบับ

คนฝรั่งเศส เขียนจดหมายปีละ 99 ฉบับ

และคนอิตาลี เขียนจดหมายปีละ 56 ฉบับ

แล้วคุณล่ะ...เขียนจดหมายปีละกี่ฉบับ?

 

ยุคการเขียนจดหมายเฟื่องฟู-ถดถอย

 

ถ้าย้อนหลังไปประมาณ 133 ปี คือเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2417 ได้มีการจัดตั้งสหภาพสากลไปรษณีย์ขึ้นครั้งแรก และเมื่อถึงวันนี้ของทุกๆ ปีจึงได้มีการจัดงานสัปดาห์สากลแห่งการเขียนจดหมาย (International Writing Week) ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกในอีก 11 ปีต่อมา คือวันที่ 1 กรกฎาคม 2428

ถ้าลองจินตนาการถึงช่วงที่ยังไม่มีโทรศัพท์ ผู้คนคงสนุกสนานกับการเขียนจดหมายถึงคนโน้นคนนี้ที ในขณะเดียวกันผู้รับเองก็คงจะมีความสุขมิใช่น้อย แม้อาจจะเสียเวลาในการรอคอยบ้างแต่ทุกคนก็รอคอยด้วยใจที่เปี่ยมสุข

แต่เดี๋ยวนี้นะหรือ...ใครๆ ก็เปลี่ยนมาใช้โทรศัพท์หรือ e-mail แทนการเขียนจดหมายทั้งนั้น เพราะไม่ต้องเสียเวลาในการรอคอยโทรศัพท์มือถือถึงกลายเป็นปัจจัยที่ 6 สำหรับคนเมืองได้ไม่ยากเพราะสามารถพกติดตัวไปทุกที่ คิดอยากจะพูดกับใครเมื่อไหร่ก็สามารถทำได้ทันที เมื่อมองดูตามท้องถนนก็จะเห็นผู้คนล้วนเอาโทรศัพท์มือถือแนบหูทั้งสิ้น ดิฉันว่าผู้ผลิตคงรวยแล้วรวยอีกรวยไม่เลิกแน่นอน เพราะไม่ว่าจะผลิตรุ่นไหนออกมาก็ขายได้หมดออฟชั่นยิ่งเยอะ ราคายิ่งแพงคนยิ่งชอบใช้ จริงมั้ยคะ

แม้ว่าโทรศัพท์มือถือจะเพิ่งเริ่มใช้กันจริงจัง เมื่อปี พ.ศ.2530 (ที่เมืองโตเกียวและชิคาโก) ด้วยระยะเวลาเพียง 20 ปี ไม่น่าเชื่อว่าโทรศัพท์มือถือจะแพร่หลายกลายเป็นสินค้าที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว และเข้าไปถึงทุกซอกทุกมุมทั่วโลกอย่างนี้ ประมาณว่าทุกบ้านต้องมีไม่น้อยกว่า 2 เครื่อง ไม่ว่าเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ ต่างก็ใช้กันทั้งนั้น ลูกเล็กเด็กแดงที่พอจะเริ่มพูดได้ก็เริ่มเซย์ฮัลโหลเป็นกันแล้วล่ะค่ะ ทำเอาการเขียนจดหมายแบบดั้งเดิมหมดความหมายไปเลยก็ว่าได้

 

โทรศัพท์กับผลพวงที่ตามมา

 

ยิ่งคุยโทรศัพท์มาก ก็จะยิ่งทำให้เรากลายเป็นคนขี้ลืมมากขึ้นเพราะเราไมได้จดบันทึกเอาไว้ นั่นเพราะความเร่งรีบมันกลืนกินความจำบางส่วนไปจากเรา เพื่อให้ทันเวลา ทันโลกที่ขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูง เทคโนโลยียิ่งก้าวไกลเท่าไหร่ โลกยิ่งขับเคลื่อนเร็วเท่านั้น ผู้คนยิ่งเร่งรีบมากขึ้น ทำให้ลืมที่จะใส่ใจในความรู้สึกระหว่างกัน กว่าจะนึกได้ก็เมื่อวางสายไปแล้ว แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะบอกว่าการคุยโทรศัพท์ทำให้พวกเขามีเวลาว่างมากขึ้น แต่ยังมีคนอีกส่วนหนึ่งที่บอกว่าทำให้คุณภาพชีวิตต่ำลง

มีรายงานผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียมหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ และมหาวิทยาลัยนิวเซาว์เวลล์ ที่ร่วมกันสำรวจทัศนคติของประชาชนที่มีต่อการใช้โทรศัพท์ พบว่า

 

90% คิดว่าโทรศัพท์คือส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้

75% บอกว่าโทรศัพท์ทำให้พวกเขาอยู่กับครอบครัวละเพื่อนฝูงมากขึ้น

4% บอกว่าโทรศัพท์ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง

 

แม้การสำรวจในครั้งนี้จะไม่ได้บอกละเอียดว่าจากจำนวนผู้ใช้ทั้งหมดกี่คน แต่ก็เป็นข้อมูลที่ทำให้ดิฉันได้ฉุกคิดถึงคำพูดของพ่อที่เคยเขียนบอกไว้ในจดหมายว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ย่อมมี 2 ด้านเสมอล่ะลูก” เช่นเดียวกับโทรศัพท์ล่ะค่ะ เพราะแม้หลายคนจะบอกว่าใช้ดีแล้วดีอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ทว่าปัญหาที่พ่วงตามมากับเทคโนโลยีก็มีไม่น้อย

บางครอบครัวพ่อแม่ลูกไม่มีโอกาสาได้เห็นหน้าเห็นตากันเลยเพราะต่างก็ใช้โทรศัพท์ หรือ e-mail คุยกันตลอด ทำให้ความรักความผูกพันไม่แน่นแฟ้นเหมือนเดิม

บางครอบครัวลูกตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพ ต้องโดนกระทำทั้งร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน อีกทั้งยังเป็นช่องทางให้พวกมิจฉาชีพทำมาหากินด้วยการขายของปลอม ลักขโมย หรือถ่ายคลิปวิดีโอและแบล็คเมล์กัน

บางรายหลงใช้แบตเตอรี่โทรศัพท์ของปลอมแล้วเครื่องระเบิดจนนิ้วขาดดังข่าวที่เห็นในทีวีบ่อยๆ

ที่สำคัญ มีรายงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย พบว่าการคุยโทรศัพท์ขณะเดินทำให้ปวดหลัง เพราะร่างกายของเรานั้นออกแบบมาให้หายใจออกในขณะที่เท้าแตะพื้น ซึ่งจะเป็นการช่วยป้องกันการกระแทกของกระดูกสันหลัง ดังนั้น การพูดและเดินไปขณะเดียวกันจะทำให้รูปแบบการหายใจเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลต่อกระดูกสันหลังของเราได้ค่ะ

ดิฉันไม่ได้ต่อต้านหรือโทษว่าโทรศัพท์ไม่ดี หรือไม่มีประโยชน์เพราะตัวดิฉันเองก็ใช้ แต่เราควรใช้ให้พอเหมาะพอดีจะได้ไม่ทำให้เกิดโทษกับร่างกายค่ะ

 

คุณค่าของจดหมาย

 

การเขียนจดหมายนั้นถือเป็นสมบัติทางใจสำหรับผู้เขียนและผู้รับ เพราะก่อนที่เราจะเขียนจดหมายถึงใครสักคน เราก็ต้องนับทบทวนเรื่องราวในทุกแง่ทุกมุม ทุกตัวอักษรจึงผ่านกระบวนการคิดและบรรจงเขียนขึ้นด้วยความรัก ความตั้งใจ เมื่อเขียนเสร็จแล้วก็ยังต้องอ่านทวนอีกหลายๆ รอบ ว่าได้ถ่ายทอดทุกความคิดลงบนกระดาษครบถ้วนหรือเปล่า ทำให้ทุกตัวอักษรที่บรรยายถึงกันนั้นทั้งซาบซึ้งกินใจ ละมุมละไม มีช่วงเวลาให้ครุ่นคิด ไตร่ตรอง

และหลายครั้งที่การเขียนจดหมายได้กลายเป็นช่วงเวลาที่เราได้อยู่กับตัวเอง ได้ชะรอความเร่งรีบของชีวิตให้ช้าลงได้บางขณะจนเมื่อจดหมายถูกส่งออกไป พร้อมกับการรอคอยการตอบกลับด้วยใจจดจ่อจากผู้รับที่อยู่ ณ ปลายทาง

 

การเขียนจดหมายไม่ได้เป็นเพียงแค่การส่งความคิดถึงและความห่วงใยที่มีต่อกันเท่านั้น แต่ยังเป็นการเขียนให้กำลังใจกันในยามท้อแท้หมดหวัง หรือบางเวลาที่เรารู้สึกแย่ เรายังสามารถหยิบจดหมายเก่าๆ ขึ้นมาอ่านได้ อย่างจดหมายที่พ่อเคยเขียนถึงดิฉัน เมื่อหลายปีก่อน...

 

...ลูกรัก จะต้องไปอยู่คนเดียวโดดเดี่ยวอย่างนั้น คงมีบ้างล่ะที่ลูกรู้สึกเหงา ท้อแท้ หรือมีปัญหา แม้จะมีเพื่อน แต่ในบางครั้งเพื่อนก็ไม่สามารถช่วยเราได้ตลอดเวลาหรอก ฉะนั้นสิ่งแรกที่ลูกต้องทำ คือตั้งสติ และดูว่าต้นเหตุของปัญหาคืออะไร แล้วพยายามหาทางออกให้กับตัวเอง จำไว้เสมอว่าไม่มีอะไรที่ลูกทำไมได้...

 

จดหมายของพ่อ ถูกพับเก็บเข้ากล่องสมบัติล้ำค่าอีกครั้งหนึ่งแม้ว่าตัวกล่องใส่จดหมายจะยับเยินสักเพียงใด จดหมายแต่ละฉบับแม้จะเก่าคร่ำคร่าแค่ไหน แต่ข้อความข้างในนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ความห่วงใย ความเอื้ออาทรที่มีต่อกัน

ดิฉันเชื่อว่า วัฒนธรรมการเขียนจดหมายจะกลับมาอีกครั้งหนึ่งถ้าหากทุกคนลดการใช้โทรศัพท์ลงสักนิด และมีเวลาในการเขียนจดหมายให้มากขึ้น โลกที่ทุกคนคิดว่าหมุนเร็วใบนี้ก็คงจะช้าลง...จริงมั้ยคะ.

 
 

[ ที่มา...นิตยสารรักลูก ปีที่ 25 ฉบับที่297 ตุลาคม 2550 ]

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]