|
หัวโต
เพราะโรคน้ำในสมองหรือเปล่า |
 |
|
|
|
วันที่ 26 มี.ค 2551 โดย รศ.นพ.อนันนิตย์ วิสุทธิพันธ์ |
|
|
|
|
|
|
|
|

น้ำในสมองเป็นโรคที่สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งถ้าตรวจพบแต่เนิ่นๆ ก็สามารถรักษาหายได้ แต่ถ้าปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาล่ะก็ มีสิทธิ์เสียชีวิตได้เช่นกัน เด็กชายชิษณุพงศ์ แก้ววงษ์นุกูล หรือ (น้องแอล) หนุ่มน้อยวัยขวบครึ่ง เป็นโรคนี้ตั้งแต่อยู่ในท้องค่ะ ซึ่งคุณแม่นา สุภวัลย์ แก้ววงษ์นุกูล เล่าให้ฟังว่า ไม่เคยรู้จักโรคน้ำในสมอง (Hydrocephalus) มาก่อนค่ะ มาตรวจเจอตอนที่ท้องได้ 22 สัปดาห์ จากผลอัลตราซาวนด์คุณหมอบอกว่าโพรงน้ำในสมองของลูกใหญ่ผิดปกติ เราเครียดมากเลย เพราะตัวเองก็มีอายุเยอะ แล้วลูกในท้องก็เป็นลูกแฝดด้วย ซึ่งหลังจากที่อัลตราซาวนด์เด็กตัวไม่เท่ากัน ต่างกันเยอะมาก น้ำหนักตัวน้องแอลไม่ขึ้นเลย คุณหมอบอกว่าอาจจะเป็น TTTS (Twin To Twin Transfusion Syndrome) เป็นโรคที่เด็กใช้เส้นเลือดเดียวกัน ทำให้เด็กตัวเล็กคนหนึ่ง ตัวใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสรอดแค่ 50 : 50 แต่พอมาเช็กอย่างละเอียด ปรากฏว่าลูกเราเป็นโรคน้ำในสมอง ซึ่งบอกว่าระหว่างตั้งครรภ์ถ้าโพรงน้ำไม่เพิ่มใหญ่ขึ้นก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ลูกเราก็มีสิทธิ์เสียชีวิตแต่ยังไงก็ตามคุณหมอจะพยายามรักษาเด็กเอาไว้ให้ได้ ตอนนั้นเครียด กังวล แต่ก็พยายามดูแลตัวเองอย่างดีที่สุด ปรากฏว่าย่างเข้าสัปดาห์ที่ 37 ไม่พบปัญหาเรื่องโพรงน้ำใหญ่ขึ้น คุณหมอก็เลยผ่าคลอดค่ะ ในการผ่าตัดคุณหมอพยายามเอาคนที่สุขภาพดีออกมาก่อน แต่จะย้ำอยู่ตลอดว่าน้องแอลเป็นน้ำในสมอง แล้วยังเป็นลำไส้อุดตันอีกด้วย เลยต้องผ่าตัดทันที แล้วก็พักฟื้น 2 เดือน ซึ่งช่วงนี้เราก็ถามคุณหมอตลอดว่า ได้เช็กเรื่องน้ำในสมองให้ลูกมั้ยคุณหมอบอกว่าเช็กให้อยู่ตลอด ออกจากโรงพยาบาลก็มีนัดตรวจลำไส้และสมอง ผลปรากฏว่าโพรงน้ำใหญ่ขึ้นแต่เราไม่เชื่อ เพราะหากดูจากภายนอกลูกปกติมาก แต่ถ้าเราสังเกตดีๆ หน้าผากจะใหญ่กว่าปกติ กระหม่อมก็จะไม่บุ๋มลงไปตรงข้างหน้า ซึ่งหากเราปล่อยไว้ไม่ผ่าตัดหัวลูกจะโตขึ้นเรื่อยๆ สมองก็จะสร้างได้น้อยลง จึงตัดสินใจให้น้องแอลเข้าผ่าตัดเพื่อคุณภาพชีวิตของลูก โชคดีว่ากรณีของแอลนั้นไม่ร้ายแรง การรักษาโรคนี้ คือฝังท่อไปในสมองแล้วต่อลงมาที่หัวใจ เพื่อช่วยระบายน้ำออกคุณหมอให้สังเกตดูกระหม่อมข้างหน้าของลูก ว่าถ้าบุ๋มไปแล้ว ก็แสดงว่าน้ำได้ระบายออกไปแล้ว ซึ่งสายท่อนี้จะเปลี่ยนอีกครั้งเมื่ออายุ 4 ขวบ แล้วก็ไม่ต้องเปลี่ยนอีก ใช้ไปได้ตลอดชีวิต ส่วนเรื่องพัฒนาการ น้องแอลจะตัวเล็กกว่าน้องอาร์ค่ะ พัฒนาการด้านอื่นๆ ไม่มีปัญหาอะไรการดูแลเหมือนกันทั้ง 2 คน แต่จะต้องระวังเรื่องท่ออุดตัน ซึ่งจะทำให้ลูกซึม งอแง หรือกระหม่อมไม่บุ๋ม ก็แสดงว่ามีการคั่งของน้ำค่ะ ครอบครัวของน้องแอลโชคดีมากๆ ค่ะ ที่ได้รับการวินิจฉัยเร็ว และมีการติดตามใกล้ชิดมาตลอด การรักษาจึงเป็นไปด้วยดี คุณผู้อ่านอาจจะยังมีข้อสงสัยค่ะว่าโรคนี้เกิดมาได้อย่างไร และจะป้องกันได้อย่างไรบ้าง ทางนิตยสารรักลูกจึงได้สัมภาษณ์ รศ.นพ.อนันต์นิตย์ วิสุทธิพันธ์ หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เกี่ยวกับโรคนี้ค่ะ รักลูก : สาเหตุของโรคน้ำในสมอง ? รศ.นพ.อนันต์นิตย์ : ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในกะโหลกศรีษะของคนเรามีเนื้อสมอง มีเลือด และมีน้ำไปเลี้ยงสมอง น้ำที่ว่านี้เซลล์ในสมองสร้างมาเพื่อให้หล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง ซึ่งแพทย์จะเรียกรวมๆ ว่าน้ำไขสันหลังคั่ง ได้แก่ - เนื้องอก บริเวณเซลล์ที่ผลิตน้ำในสมองเกิดความผิดปกติ เป็นเนื้องอกขึ้นมาซึ่งพบได้น้อย และเกิดในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ (มักจะไม่ใช่เนื้อร้าย) เนื้องอกนี้ทำให้การสร้างน้ำไขสันหลังมากขึ้น เกินกว่าที่สมองจะดูดซึมกลับเข้ากระแสเลือดได้ จึงทำให้เกิดการคั่งของน้ำในไขสันหลัง และมีความผิดปกติตามมา
- สาเหตุที่ทำให้อุดกั้นการไหลเวียน เช่น อาจเป็นแต่กำเนิดหรือมีสาเหตุภายหลัง เช่น มีเนื้องอกที่สมอง ถุงน้ำหรือซีส หรือการอักเสบติดเชื้อช่องทางผ่านหรือไหลของน้ำไขสันหลัง ซึ่งหากมีเนื้องอก หรือถุงซีสต์ ก็จะขวางกั้นทางเดินน้ำ ทำให้ช่องทางผ่านของน้ำไขสันหลังผ่านไม่ได้ทำให้เกิดการคั่งของน้ำในสมองได้ครับ
- สาเหตุที่ทำให้การดูดซึมน้ำในไขสันหลังผิดปกติ ปกติแล้วน้ำไขสันหลังจะถูกดูดซึมจากโพรงสมองผ่านหลอดเลือดดำใหญ่ในสมอง เข้าสู่หลอดเลือดดำในร่างกายลงเข้าสู่หัวใจ แต่ถ้าระหว่างทางผ่านเหล่านั้นเกิดการอุดกั้นที่ใดที่หนึ่ง เช่น หลอดเลือดดำในสมอง หรือหลอดเลือดที่คอก็แล้วแต่ ทำให้บริเวณนั้นดูดซึมได้ไม่ดีจึงทำให้เกิดน้ำคั่ง
- และอาจเกิดจากการกินยาบางอย่างหรือวิตามินบางชนิด เช่นวิตามินเอเกินความจำเป็น ใช้สเตียรอยด์ปริมาณเยอะๆ เช่น คนที่ทานยาคุมกำเนิดบางชนิด ทำให้เกิดความเสี่ยงการอุดตันของเส้นเลือดดำนอกจากนี้การติดเชื้อบางชนิดยังทำให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เกิดการอุดตันของเส้นเลือดดำในสมอง เกิดภาวะน้ำคั่งได้
รักลูก : โรคนี้รักษาอย่างไรคะ รศ.นพ.อนันต์นิตย์ : โรคนี้พบได้กับทุกวัยแต่ในเด็กจะเยอะกว่าช่วงอื่นๆ ส่วนสาเหตุขึ้นอยู่กับอายุ การรักษาก็ตามสาเหตุที่พบ - ถ้าเกิดจากมีเนื้องอกสร้างน้ำมาก ก็หายขาดได้ครับ แต่ส่วนใหญ่จะพบช้าไปทำให้ผ่าตัดยาก
- ถ้าเกิดจากการอุดตันที่เป็นตั้งแต่กำเนิด อาจต้องใส่ท่อระบายน้ำไขสันหลังโดยการฝังท่อจากโพรงสมองสอดผ่านผิวหนังลงมาในช่องท้อง เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด ในกรณีที่มีความจำเป็น อาจต่อเข้าหลอดเลือดดำหรือหัวใจ
- หากเกิดจากการติดเชื้อโรค ก็ต้องรักษาเชื้อโรคนั้น เช่น ถ้าเกิดจากเชื้อพยาธิก็ให้ฆ่าเชื้อพยาธิ จะช่วยให้การไหลเวียนกลับเป็นปกติครับ
- ถ้าดูดซึมน้ำไม่ดี เพราะเส้นเลือดดำอุดตัน ซึ่งอาจเกิดจากการกินยา ก็หยุดยาตัวนั้น แล้วใช้ยาละลายลิ่มเลือดทำให้การดูดซึมดีขึ้น ในกรณีที่จำเป็นอาจจะต้องมีการผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำไขสันหลังครับ
- ในบางกรณีจะรักษาโดยใช้ยาช่วยลดการสร้างของน้ำไขสันหลังด้วย ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เกิดในแต่ละคนครับ บางกรณีก็รักษาไม่ได้ บางกรณีก็รักษาตั้งแต่ต้นตอของโรค เช่น ถ้าเป็นเนื้องอกเราก็รักษาเนื้องอก เมื่อรักษาอาการหาย โรคน้ำในสมองก็หายด้วย
รักลูก : มีอาการอะไรบ้างที่บ่งชี้ว่าลูกเป็นโรคน้ำในสมอง รศ.นพ.อนันต์นิตย์ : 1. หัวโตกว่าที่ควรจะเป็นตามช่วงอายุโดยเปรียบเทียบกับน้ำหนัก ส่วนสูง หากหัวโตเร็วมาก แต่น้ำหนักและส่วนสูงไม่เพิ่มในอัตราเดียวกัน 2. สังเกตจากพัฒนาการของลูกครับถ้าช้า และหัวโตกว่าปกติ ก็น่าสงสัย 3. การกลอกตา ถ้ามีลูกตาเหล่แบบถาวร โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคตาหรือกล้ามเนื้อตา อาจจะเป็นร่องรอยโรค ที่แสดงว่าลูกอาจจะเป็นโรคน้ำในสมอง 4. กระหม่อมหน้าโป่ง อาจเป็นเพราะว่ามีน้ำคั่ง 5. เส้นเลือดที่หน้าโป่งมาก เป็นเส้นใหญ่ๆ จำนวนมาก ก็อาจเป็นการเตือนว่าเริ่มมีน้ำคั่งในสมองหรือมีโรคหลอดเลือดในสมองได้ รักลูก : โรคนี้มีวิธีป้องกันหรือไม่คะ รศ.นพ.อนันต์นิตย์ : ไม่มีครับ สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ถ้ามีประวัติในครอบครัวเป็นหรือแท้งหลายครั้งอาจจะต้องมีการตรวจประเมินสูติแพทย์ใกล้ชิดโดยมีการตรวจอัลตราซาวนด์เป็นระยะ โดยทั่วไปเมื่อเด็กเกิดก็จะมีคุณหมอช่วยตรวจสุขภาพก่อนอนุญาตให้กลับบ้านพร้อมคุณแม่ และหลังจากนั้นก็นัดมาเป็นระยะ เพื่อช่วยตรวจสุขภาพและให้วัคซีนจะมีการวัดรอบศรีษะ น้ำหนัก ความยาว ซึ่งอาจจะพบร่องรอยว่ามีน้ำในสมองหรือไม่ ที่สำคัญคือขอให้คุณแม่นำเด็กไปตามนัด ถ้ารับการวินิจฉัยเร็วจะหายขาดได้แต่ถ้าปล่อยจนเด็กหัวโตขึ้นเรื่อยๆ อาจมีภาวะทุพลภาพ ปัญญาอ่อน หรือเด็กอาจเสียชีวิตได้ในที่สุดครับ |
|
|
|
|
|
|
|
|
[ ที่มา...นิตยสารรักลูก ปีที่ 25 ฉบับที่ 298 พฤศจิกายน 2550 ]
|
|
|
URL
Link :
http://www.panpublishing.com |
|
|
|
|
|
 |
|
|
|
|
|
|
|