บทความเกี่ยวกับ ผู้หญิง ผู้หญิง
คนเป็นคนที่ - 2721 [Date : 18 มี.ค 2551 ]   
 
เดือนที่ 3... จากตัวอ่อนสู่ทารก
 
วันที่ 18 มี.ค 2551   โดย นิตยสารบันทึกคุณแม่
 
 

เดือนที่ 3... จากตัวอ่อนสู่ทารก


เผลอแป๊บเดียวก็มาถึงเดือนที่ 3 แล้ว นั่นก็หมายความว่าไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์กำลังจะผ่านไป ในช่วงนี้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายลูกทั้งภายในและภายนอกก็พัฒนาจนเกือบสมบูรณ์จนมองเห็นว่าเป็นมนุษย์ตัวจิ๋วแล้ว เพราะฉะนั้นช่วงนี้เราจะเปลี่ยนจากการเรียกว่า “ตัวอ่อน” มาเป็น “ทารก” แทน เรามาดูกันค่ะว่าในเดือนนี้ลูกน้อยของคุณเป็นอย่างไรบ้าง
สัปดาห์ที่ 9

ในช่วงนี้ร่างกายของลูกเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ถ้าลองอัลตร้าซาวนด์ดูจะยังเห็นศรีษะของลูกโค้งลงมาที่หน้าอก ส่วนแขน ขา มือ และ เท้าก็กำลังมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว นิ้วมือและนิ้วเท้าของลูกมีการพัฒนาไปจนเกือบจะสมบูรณ์แล้ว เปลือกตาก็มีการพัฒนาจนเกือบจะสามารถปิดตาได้สนิท ส่วนจมูกก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น กระบังลมที่จะช่วยให้ลูกสามารถหายใจได้หลังคลอดก็มีการพัฒนาในระยะนี้ นอกจากนี้ลำไส้ของลูกก็เริ่มเคลื่อนเข้าไปอยู่ในช่องท้องแล้ว

สัปดาห์ที่ 10

สัปดาห์นี้สมองของลูกยังคงมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ขนาดของศรีษะก็ยังดูใหญ่อยู่มากเมื่อเทียบกับส่วนอื่นของร่างกาย ส่วนจมูกและตาตอนนี้ก็เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนมากขึ้น ภายในเหงือกของลูกตอนนี้เริ่มมีหน่อฟันซี่เล็กๆ 20 ซี่ก่อตัวขึ้นแล้ว แขนและขาของลูกเริ่มเห็นเป็นข้อมือและข้อเท้า ข้อต่อตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเริ่มปรากฏขึ้น อวัยวะสืบพันธุ์ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ในตอนนี้ว่าลูกเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย ในช่วงนี้ระบบประสาทของลูกเริ่มมีการตอบสนองมากขึ้น และอวัยวะภายในต่างๆ ก็เริ่มทำงานแล้ว ปอดของลูกก็ยังคงมีการพัฒนาต่อไป ในขณะที่ลำไส้ก็กำลังพัฒนาอยู่ภายในช่องท้องของลูกเช่นกัน ส่วนไตก็กำลังเคลื่อนเข้าไปอยู่ตำแหน่งของมันบริเวณช่องท้องส่วนบน เวลานี้หัวใจของลูกพัฒนาจนเกือบจะสมบูรณ์แล้ว

สัปดาห์ที่ 11

เมื่อเข้าสู่ช่วงสัปดาห์นี้ พัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกพ้นช่วงที่เสี่ยงต่ออันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกแล้ว จากนี้ไปความเสี่ยงต่างๆ ก็จะลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติที่มีมาแต่กำเนิด หรือความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อหรือการใช้ยาของคุณแม่

เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์นี้ ร่างกายของลูกจะมีความยาวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ส่วนศรีษะจะมีความยาวเป็นครึ่งหนึ่งของความยาวของร่างกาย และภายใต้เปลือกตาที่ปิดอยู่นั้น ม่านตาของลูกกำลังเริ่มมีการพัฒนาเกิดขึ้นซึ่งจะช่วยปกป้องดวงตาของลูกจากแสงสว่างที่จ้าเกินไป ในช่วงนี้หูของลูกยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ สิ่งที่ลูกสามารถทำได้ในช่วงนี้คือ การหาว ดูดและกลืน

สำหรับอวัยวะภายในที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตับ ไต ลำไส้ สมอง และ ปอด ตอนนี้มีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์และเริ่มทำงานแล้ว ช่วงต่อจากนี้จนกระทั่งลูกคลอด อวัยวะเหล่านี้จะค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นในระยะนี้ลูกเริ่มมีเล็บงอกขึ้นมาที่นิ้วมือและนิ้วเท้าและเริ่มมีผมและแขนงอกขึ้นมาแล้วส่วนหัวใจของลูกก็ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งสายสะดือที่ลำเลียงเลือดไปสู่รกในครรภ์ด้วย

สัปดาห์ที่ 12

เมื่อสิ้นสุดเดือนที่ 3 ร่างกายของลูกมีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ศรีษะจรดเท้าแม้ว่าอวัยวะสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะสมองจะยังมีการพัฒนาต่อไป ตอนนี้นิ้วมือและนิ้วเท้าของลูกแยกจากกันอย่างสิ้นเชิง ส่วนเล็บและผมก็งอกยาวขึ้น กระดูกก็มีความแข็งแรงมากขึ้น ส่วนอวัยวะสืบพันธุ์ก็มีการพัฒนาจนเริ่มสังเกตเพศได้ ต่อมใต้สมองเริ่มผลิตฮอร์โมนและตอนนี้ลูกสามารถขยับแขน ขยับนิ้วมือและนิ้วเท้า ยิ้ม ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด และ สามารถดูดนิ้วหัวแม่มือตัวเอง ส่วนระบบย่อยอาหารของลูกตอนนี้สามารถดูดซึมกลูโคสได้แล้ว

ความเปลี่ยนแปลงของคุณแม่

ช่วงนี้อาการแพ้ท้องของคุณแม่หลายคนจะลดลง สามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น และน้ำหนักก็เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ น้ำหนักควรเพิ่มขึ้น 1-2 กิโลกรัม หลังจากนั้นน้ำหนักควรเพิ่มขึ้นเดือนละ 1.5-2 กิโลกรัม แต่ก็มีคุณแม่อีกหลายคนที่ยังมีอาการแพ้ท้องอยู่ ซึ่งหากมีอาการมากๆ และน้ำหนักไม่ขึ้นหรือน้ำหนักลด ควรไปปรึกษาคุณหมอเพื่อหาทางแก้ไข

ส่วนความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายในช่วงนี้เต้านม ท้องและขาของคุณแม่จะเริ่มขยาย คุณแม่ที่เริ่มหายแพ้ท้องแล้วจะรู้สึกหิวอยู่บ่อยๆ และทานเยอะขึ้น ในช่วงนี้คุณแม่อาจเริ่มมีอาการท้องผูกเกิดขึ้นด้วย วิธีแก้ไขคือ คุณแม่ต้องหมั่นรับประทานผัก ผลไม้ เป็นประจำ ดื่มน้ำให้มากๆ จะช่วยลดอาการท้องผูกลงได้ค่ะ

หลังจากผ่านพ้นไตรมาสซึ่งเป็นช่วงที่ลูกมีความเสี่ยงต่อการแท้งและความพิการต่างๆ ไปได้อย่างราบรื่น คงทำให้คุณแม่ใจชื้นขึ้นมาอีกเป็นกองว่าเจ้าตัวน้อยของคุณจะมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงในวันคลอด แต่อย่างไรก็ตามคุณแม่ยังคงต้องดูแลร่างกายให้ดี รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่โหมทำงานหนักมากเกินไป ที่สำคัญควรไปตรวจครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติอะไรเกิดขึ้น คุณหมอจะได้ช่วยแก้ไขได้ทันเวลาค่ะ
 
 

[ ที่มา...นิตยสารบันทึกคุณแม่ No.173 December 2007 ]

URL Link : http://www.familydirect.com

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]