บทความเกี่ยวกับ คู่มือเลี้ยงลูก
คนเป็นคนที่ - 2507 [Date : 18 มี.ค 2551 ]   
 
พ่อเลี้ยงคนใหม่กับตัวร้ายประจำบ้าน
 
วันที่ 18 มี.ค 2551   โดย TIMMY
 
 

พ่อเลี้ยงคนใหม่กับตัวร้ายประจำบ้าน


คุณแม่ที่เป็น Single Mom มานาน และตอนนี้กำลังจะมีข่าวดีคือสมาชิกใหม่มาให้เด็กๆ ได้รู้จัก นั่นคือคุณพ่อคุณพ่อคนใหม่... ที่จะเข้ามาให้ความรักความอบอุ่นกับลูกๆ ถ้าบ้านไหนที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวราบเรียบก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรสักนิด แต่สำหรับบางบ้านนี่สิคะ ถ้าบ้านไหนมีขาใหญ่ประจำบ้าน เป็นลูกชายสุดเฮี้ยวอยู่แล้วล่ะก็ การพาใครสักคนที่เป็นสมาชิกใหม่ยิ่งถ้าเป็นคนที่จะมาแทนพ่อที่แท้ของเขานั้น ดูท่าว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้วล่ะ แต่ก็พอมีวิธีช่วยได้ค่ะ


คุณต้องให้เวลาลูกบ้าง

ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นคุณต้องให้เวลาลูกก่อนค่ะให้เขาได้เรียนรู้และทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงหรือสร้างความคุ้นเคยกับคุณพ่อคนใหม่ให้มากที่สุดก่อน ถึงการทำอย่างนี้จะไม่ได้ช่วยให้ลูกยอมรับในตัวสมาชิกใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่พ่อที่แท้จริงของเขานี้ แต่ก็ยังดีกว่าที่คุณจะพาพ่อเลี้ยงคนใหม่เดินเข้ามาในบ้านในฐานะคนแปลกหน้าซึ่งไม่ดีแน่ เด็กผู้ชายบางคนประทับใจคือความผูกพันกับพ่อของเขานั้นมันลึกซึ้งเกินกว่าที่ผู้หญิงจะเข้าใจก็มีค่ะ


เมื่อพ่อเลี้ยงคนใหม่เจอลูกชายจอมเฮี้ยว

หลังจากที่คุณแนะนำให้ทั้งคู่ได้รู้จักกันแล้ว และดูท่าว่าความสัมพันธ์โดยเฉพาะในฝั่งของลูกชายยังไม่ดีขึ้น คุณแม่อาจจะต้องเป็นคนกลางและพิจารณาและใช้เทคนิคง่ายๆ ดังนี้นะคะ
1. ทำทุกอย่างให้ปกติตามเดิม
คุณต้องคุยกับสามีใหม่ค่ะว่าเวลาหรืออะไรที่คุณเคยทำให้กับลูกชายจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงลูกก็จะเกิดคำถามและสับสนจนพาลเป็นอาละวาดวุ่นวาย และคำถามที่จะเกิดขึ้นมาในใจของลูกชายก็คือ “ผู้ชายคนนี้เป็นใคร” และทำไมเขาถึงสำคัญกว่าเขาซึ่งเป็นลูก อย่าเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่พิเศษที่คุณเคยทำให้เขาค่ะ คงสภาพความปกตินั้นต่อไป พ่อเลี้ยงคนใหม่เองก็น่าจะเข้าใจเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว

2. ให้ความสำคัญกับความรู้สึกลูกมากๆ
เด็กๆ มักจะมีอีโก้ส่วนตัวคิดว่าเขาจะต้องเป็นศูนย์กลางของทุกอย่างซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติค่ะ ความพิเศษและความต้องการของเขาและยิ่งถ้าเป็นลูกชายคนเดียวนั้นแทบทุกอย่างจะต้องได้รับการตอบสนองเมื่อถึงเวลาที่คุณจะต้องพาใครสักคนเข้ามาในชีวิตเขา ให้ทำทุกอย่างสุภาพและนุ่มนวลที่สุด ถ้าทำในทางตรงกันข้ามคือจู่ๆ ก็พาใครเข้ามาโดยไม่บอกก่อนลูกก็มักจะต่อต้านในสิ่งที่คุณทำค่ะ

3. สร้างวันครอบครัวขึ้นมาอีกครั้ง
หาเวลาว่างๆ อย่างในวันหยุด ให้คุณพ่อคนใหม่กับลูกชายได้รู้จักกันมากขึ้นค่ะ ไปเที่ยวหรือสร้างสรรค์กิจกรรมแบบ “ผู้ชาย-ผู้ชาย” จะช่วยละลายพฤติกรรมและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ ซึ่งนี่อาจเป็นหนทางสำคัญอันจะนำมาสู่ความเข้าใจกันของทั้งคู่ หมายถึงความเข้าใจแบบลูกผู้ชายกันน่ะค่ะ

4. คุยถึงความรู้สึกแต่ละฝ่าย
หลังจากที่ผ่านช่วงเวลาแห่งการปรับตัวและเรียนรู้ซึ่งกันและกันของสองพ่อลูกมาแล้ว คราวนี้ก็เป็นเวลาที่คุณแม่ซึ่งเป็นคนกลางจะต้องรับฟังความรู้สึกของแต่ละฝ่ายแล้ว ให้คุณถามลูกชายก่อน เขารู้สึกอะไร อย่างไรบ้าง จากนั้นก็ถามพ่อเลี้ยงคนใหม่ดูว่าที่ผ่านมาการปรับตัวของเข้าหากันของเขาและลูกเป็นอย่างไรบ้าง การคุยแบบนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจทั้งสองฝ่ายได้ดียิ่งขึ้นค่ะ

5. คาดหวังแบบไม่หวัง
ถ้าเกิดว่าลูกชายของคุณแสดงความไม่พอใจและอาละวาดกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตเขาในช่วงนี้ หรือมีพฤติกรรมอื่นๆ เช่น ฉี่รดที่นอน ทั้งๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในฐานะคุณแม่คุณอย่าโวยวายหรือโทษว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่และทำให้ลูกกลายเป็นคนผิด อย่างที่บอกค่ะคุณต้องหาสาเหตุแล้วค่อยๆ แก้ไขและปรับตัวไปพร้อมลูก อย่าคาดหวังว่าทุกอย่างจะเพอร์เฟค แล้วเดี๋ยวมันจะต้องดีขึ้นเอง เชื่อสิคะ

6. ทำให้ดีที่สุดแค่นี้ก็พอแล้ว
ทั้งคุณและลูก และพ่อเลี้ยงคนใหม่ ถ้ามั่นใจแล้วว่าได้ทำดีที่สุดและพยายามถึงที่สุดแล้ว นั่นก็น่าจะเป็นคำตอบที่เพียงพอสำหรับการเริ่มต้นครอบครัวใหม่ของคุณ ในการเปลี่ยนแปลงมีหลายอย่างไม่เป็นไปอย่างที่หวังไว้ ถือเป็นเรื่องธรรมดาค่ะ ถ้าคุณคิดว่าทุกคนทำดีที่สุดแล้ว นั่นมันก็เพียงพอแล้วสำหรับทุกคน สำหรับลูกชายเล็กๆ ของคุณ เขาไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะคาดหวังว่าคุณสามารถโปรแกรมและควบคุมได้ ถ้าเขาบอกว่าทำดีที่สุดแล้วคุณเองก็ต้องเข้าใจ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นค่ะ
 
 

[ ที่มา...นิตยสารบันทึกคุณแม่ No.173 December 2007 ]

URL Link : http://www.familydirect.com

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]