บทความเกี่ยวกับ คลินิกเด็ก
คนเป็นคนที่ - 1819 [Date : 24 เม.ย. 2553 ]   
 
เล่นอย่างไรให้เสริมการเรียนลูก
 
วันที่ 24 เม.ย. 2553   โดย อ.เกศินี วัฒนสมบัติ
 
 

เล่นอย่างไรให้เสริมการเรียนลูก


สวัสดีครับ ผมมีลูกชายอายุ 4 ขวบ อยากปรึกษาเรื่องการเล่นของลูกครับว่าจะเล่นกับเขาอย่างไร ถึงจะเป็นการเสริมการเรียนให้เขา มีการเล่นแบบไหนที่เป็นการเสริมทักษะการคิดหรือการเรียนให้เขาควรจะซื้อของเล่นที่ช่วยเสริมทักษะ หรือว่าควรปล่อยให้เขาเล่นอย่างอิสระ และพ่อแม่ควรจะเข้าไปช่วยเสริมตอนไหนได้บ้างครับ รบกวนช่วยแนะนำด้วยครับ

ชาญ/นครสวรรค์




น่าดีใจมากค่ะที่คุณพ่อให้ความสำคัญกับการเล่นของลูก เพราะสำหรับเด็กในวัยนี้ การเล่นส่วนใหญ่จะให้ประโยชน์กับเด็กทั้งนั้นและการเล่นแต่ละอย่างให้ประโยชน์และคุณค่าที่ต่างกันไป ถ้าเด็กได้เล่นอย่างหลากหลาย ก็จะได้ประสบการณ์และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่หลากหลายเช่นกัน และยังทำให้เด็กๆ ได้รู้จักและค้นพบตนเองมากขึ้นด้วย เช่น รู้ว่าตนเองชอบอะไร มีความถนัดอะไร การเล่นกับลูกในวัยนี้ จะเป็นประโยชน์มาก เพราะผู้ใหญ่สามารถกระตุ้นการเรียนรู้ผ่านการเล่นได้มากมาย

เด็กในวัยนี้ ควรได้รับการส่งเสริมทั้งการเล่นที่มีการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และการเล่นที่ใช้สมาธิ การเล่นที่มีการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น การเล่นกับเพื่อน พี่น้อง หรือพ่อแม่จะเสริมทักษะทางสังคมและส่งเสริมพัฒนาการทางด้านภาษา สำหรับการเล่นที่ต้องใช้สมาธิก็คือ การเล่นจดจ่อกับสื่อหรืออุปกรณ์การเล่นต่างๆ เช่น บล็อก จิ๊กซอว์ ดินน้ำมัน การทดลอง หรือประดิษฐ์สิ่งต่างๆ จะช่วยส่งเสริมสมาธิ และการได้ใช้ความคิดในด้านต่างๆ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเรียนของเด็ก

การส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกผ่านการเล่นแบบแรก คุณพ่อคุณแม่จะทำได้ผ่านคำถามการชักชวนให้ลูกพูดและคิด จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเล่น เช่น ลูกจะแบ่งของเล่นกับน้องอย่างไรให้เท่ากัน ทำอย่างไรหากเพื่อนที่เล่นอยู่ด้วยกันหกล้มเป็นแผลหรือคุณพ่อคุณแม่อาจคิดเกมต่างๆ ที่ทำให้เด็กได้ใช้ทักษะจากสิ่งที่เรียนรู้จากโรงเรียน เช่น เล่นแข่งกันหาอะไรในบ้านที่มีเหลือง ช่วยกันหาคำตอบหรือของใช้ที่ขึ้นต้นด้วย ก ไก่ ช่วยกันเก็บใบไม้ที่ร่วงอยู่ในครบสิบใบเพื่อสมมติว่าเป็นเงินมาเล่นขายของ สมมติราคาสิ่งของและลูกลองคิดดูว่ามีเงินสิบบาท จะซื้ออะไรได้บ้าง เป็นต้น

ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับคำถามของลูกที่เกิดขึ้นระหว่างการเล่นเพราะสามารถสอนสิ่งต่างๆ ให้ลูกผ่านการตอบคำถามของลูกค่ะ

ส่วนการเล่นที่ใช้สมาธิ คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมการเรียนรู้และความสนใจ ได้จากความใส่ใจในสิ่งที่ลูกเล่นและสร้างขึ้น เช่น เมื่อลูกต่อบล็อกเสร็จหรือปั้นดินน้ำมันอะไร ลองให้ลูกเล่าว่าลูกต่ออะไรหรือปั้นเป็นอะไร ให้ลูกได้พูดและเล่าโดยใช้ตรรกะและจินตนาการ ควรชมเชยลูกเมื่อเขาสร้างผลงานได้สำเร็จจากความตั้งใจของเขาเอง ซึ่งข้อควรระวังคือ ในขณะเล่น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรไปแทรกแซงความคิดของลูกมากเกินไปไม่ควรกำกับว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง ปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้จากการลองผิดลองถูกบ้างหากมสำเร็จจึงค่อยให้คำแนะนำ

หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการซื้อของเล่นบางอย่างให้ลูกเพื่อส่งเสริมทักษะ ก็สามารถทำได้ แต่ก็ยังควรให้เวลาลูกได้เล่นอิสระ เพราะตามที่กล่าวข้างต้น การเล่นจะทำให้เด็กค้นพบตนเอง และรู้จักตนเองมากขึ้น หากลูกของเราไม่สามารถเล่นอิสระหรือเลือกเล่นสิ่งที่อยากเล่นได้ เขาคงไม่สามารถค้นพบตนเองได้ พ่อแม่อาจพลาดโอกาสในการเรียนรู้ว่าลูกของเรามีทักษะอะไรที่ถนัดหรือชอบเป็นพิเศษค่ะ

อ.เกศินี วัฒนสมบัติ


(update 28 กรกฎาคม 2008)
[ ที่มา.. นิตยสารรักลูก ปีที่ 26 ฉบับที่ 302 มีนาคม 2551]
 
 

[ ที่มา...http://www.elib-online.com/childclinic/childclinic51/child_clinic51068.html ]

URL Link : http://www.elib-online.com/childclinic/childclinic51/child_clinic51068.html

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]