บทความเกี่ยวกับ ผู้หญิง ผู้หญิง
คนเป็นคนที่ - 13529 [Date : 11 มี.ค 2551 ]   
 
เมื่อท้องนี้เป็นแฝด
 
วันที่ 11 มี.ค 2551   โดย ธันยธรณ์
 
 

เมื่อท้องนี้เป็นแฝด


เดี๋ยวนี้การตั้งครรภ์แฝดมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าเมื่อก่อนเพราะความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้หลายๆ ครอบครัวมีลูกแฝดสมปรารถนา บางครอบครัวก็ได้ลูกแฝดมากกว่าสองคนเสียด้วยซ้ำ ในขณะที่อีกหลายๆ ครอบครัวกำลังวางแผนที่จะมีลูกแฝดด้วยความคิดที่ว่าเจ็บตัวครั้งเดียว เหนื่อยครั้งเดียวไปเลย แต่อย่าลืมว่าการตั้งครรภ์นั้นทั้งคุณแม่และทารกน้อยในครรภ์ต่างก็มีความเสี่ยงมากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว เพราะฉะนั้นครอบครัวที่กำลังวางแผนไว้ว่าจะมีลูกแฝดคงต้องศึกษาหาความรู้อย่างละเอียดก่อนว่าการตั้งครรภ์นั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง ส่วนครอบครัวไหนที่บังเอิญตั้งครรภ์แฝดขึ้นมาแล้วก็ต้องหาวิธีดูแลและป้องกันอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นทั้งกับคุณแม่และทารกน้อยซึ่งต้องเริ่มดูแลตั้งแต่ตั้งครรภ์เลยค่ะ

นายแพทย์มฆวัน ธนะนันท์กูล สูตินรีแพทย์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์แฝดว่า การตั้งครรภ์แฝดแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ แฝดจากไข่ใบเดียวและแฝดจากไข่คนละใบ โดยปกติแล้วผู้หญิงจะมีไข่ตกครั้งละหนึ่งใบ และเมื่อได้รับการปฏิสนธิจนเกิดเป็นตัวอ่อนแล้ว เซลล์จะมีการแบ่งตัวแบบทวีคูณจาก 2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 8 ไปเรื่อยๆ ซึ่งในช่วงที่เซลล์มีการแบ่งตัวอยู่นี้ หากมีการแยกตัวออกจากกันอย่างสมบูรณ์ก็จะเกิดการตั้งครรภ์แฝด ซึ่งเป็นแฝดจากไข่ใบเดียว เพราะฉะนั้นทารกจะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกัน เพศเดียวกัน มีโครโมโซมและยีนเหมือนกันทุกประการ ส่วนแฝดที่เกิดจากไข่คนละใบนั้นสามารถเกิดได้ตามธรรมชาติโดยที่ผู้หญิงมีไข่ตกครั้งละมากกว่าหนึ่งใบและมีการปฏิสนธิพร้อมกัน ทำให้เกิดเป็นทารกแฝดที่มีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกันมาก อาจเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ได้ และจะมีโครโมโซมและยีนของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน การเกิดแฝดจากไข่คนละใบนี้ยังสามารถเกิดได้ด้วยเทคโนโลยีทาการแพทย์ที่ต้องการจะช่วยเหลือครอบครัวที่มีลูกยากโดยการนำยากระตุ้นรังไข่มาใช้ ทำให้ผู้หญิงมีไข่ตกครั้งละหลายๆ ใบ แล้วใช้วิธีที่ทำให้ไข่และอสุจิเกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกายจนได้เป็นตัวอ่อนแล้วจึงค่อยฉีดตัวอ่อนกลับเข้าไปเพื่อให้ตัวอ่อนไปฝังในมดลูกต่อไปซึ่งตอนที่ฉีดตัวอ่อนกลับเข้าไปนี้ แพทย์จะพิจารณาฉีดมากกว่าหนึ่งตัวเพื่อป้องกันความผิดพลาด แต่หากตัวอ่อนทุกตัวมีการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์จะเกิดการตั้งครรภ์แฝดขึ้น ซึ่งการเกิดครรภ์แฝดจากไข่คนละใบละโดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยนี้มีโอกาสเกิดมากกว่าการเกิดครรภ์แฝดจากไข่คนละใบตามธรรมชาติ


อาการและความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์แฝดจะมีอาการและความเสี่ยงมากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยวหลายประการ ประการแรกคืออาการแพ้ท้อง คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดจะมีอาการแพ้ท้องมากกว่าคุณแม่ทั่วไปโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกเนื่องจากในช่วงนี้ตัวอ่อนจะมีเซลล์รกที่สร้างฮอร์โมนต่างๆ มากมาย และหนึ่งในนั้นคือฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotrophin Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้คุณแม่มีอาการแพ้ท้อง เพราะฉะนั้นคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดจึงมีอาการแพ้ท้องมาก นอกจากนี้เมื่ออายุครรภ์เพิ่มมากขึ้น คุณแม่ต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้นจึงทำให้มีอาการปวดหลังและมีอาการมือ เท้าบวมร่วมด้วย

ประการต่อมาคือ ความเสี่ยงในการแท้ง เพราะเวลาที่ตัวอ่อนเข้าไปฝังตัวในมดลูกจะทำให้มีเลือดออกมากขึ้น ซึ่งหากตัวอ่อนตัวใดตัวหนึ่งเกิดการแท้งก็อาจจะดึงให้ตัวอ่อนอีกตัวหนึ่งแท้งตามไปด้วย

เมื่อถึงปลายไตรมาสที่สอง มดลูกจะมีขนาดใหญ่ซึ่งอาจส่งผลให้ปากมดลูกเปิด หรือรกเกาะต่ำ หากรกเกาะต่ำแล้วปากมดลูกจะเปิดจะทำให้เส้นเลือดฉีกและมีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด ทำให้คุณแม่มีความเสี่ยงต่อการตกเลือด และหากปากมดลูกเปิดไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้

ความเสี่ยงต่อมาที่คุณแม่อาจจะต้องเผชิญในช่วงปลายไตรมาสที่สองนี้คือ ภาวะเบาหวาน คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงมากกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เดี่ยว เพราะฮอร์โมนของทารกแฝดจะมีมาก ฮอร์โมนตัวที่ไปต่อต้านอินซูลินของแม่ก็จะมีมากตามไปด้วยทำให้คุณแม่เกิดภาวะเบาหวานคลาส A ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงทารกในครรภ์คือ ทารกที่เกิดมาจะมีระดับน้ำตาลและแคลเซียมในเลือดต่ำ เกิดการติดเชื้อได้ง่าย มีอาการตัวเหลือง เป็นต้น นอกจากนี้คุณแม่ยังมีความเสี่ยงเรื่องครรภ์เป็นพิษสูงด้วย ซึ่งอาการมักจะเกิดหลังเดือนที่ห้าไปแล้ว โดยคุณแม่อาจมีความดันสูง ระบบการแข็งตัวของเลือดเสียไป เกล็ดเลือดต่ำมีการสูญเสียโปรตีนมากในปัสสาวะ มีอาการบวมน้ำ ชัก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไมได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง

นอกจากคุณแม่แล้ว ทารกแฝดในครรภ์ก็มีความเสี่ยงด้วย ในช่วงไตรมาสที่สาม เป็นช่วงที่ทารกมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงต้องการอาหารมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งเมื่อเป็นครรภ์แฝดโดยเฉพาะแฝดจากไข่ใบเดียวกันหรือแฝดที่มีรกติดกันใช้เส้นเลือดร่วมกันก็จะมีการแย่งอาหารกัน เด็กคนหนึ่งจะแย่งอาหารมาจากอีกคนหนึ่ง ทำให้เด็กมีขนาดที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้ามีการแย่งอาหารกันมากๆ ก็จะเกิดอันตรายกับทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่แย่งอาหารจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างมากซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายตามมา ส่วนฝ่ายที่ถูกแย่งอาหารก็จะตัวเล็ก เหี่ยวแห้ง และอาจจะเสียชีวิตไปในที่สุด การแย่งอาหารกันยังทำให้ผิวหนังของฝ่ายที่ถูกแย่งมีไขมันน้อย ซึ่งเวลาที่ทารกคลอดออกมา ร่างกายก็จะสูญเสียความร้อนได้ง่าย หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีก็อาจเกิดภาวะ cold shock และเสียชีวิตได้เช่นกันนอกจากนี้สิ่งที่ทารกแฝดอาจต้องเผชิญคือภาวะน้ำหนักน้อยจากการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งความสมบูรณ์ของปอดก็ยังไม่ดี ต้องให้ออกซิเจนช่วยเมื่อให้ออกซิเจนมากๆ ก็อาจจะทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ และเมื่อสูญเสียการมองเห็นแล้วก็จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ ตามมา

จากทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการตั้งครรภ์แฝดนั้นมีความเสี่ยงทั้งกับคุณแม่และทารกในครรภ์ แต่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ก็อย่าเพิ่งกังวลจนเกินไปนะคะ เพราะคุณหมอบอกว่าภาวะเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ มีไม่มาก ซึ่งหากคุณแม่รู้จักดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และไปตรวจครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยลดภาวะเสี่ยงต่างๆ ลงได้มาก และหากเกิดภาวะเสี่ยงขึ้น แพทย์ผู้ดูแลครรภ์ก็จะสามารถหาทางช่วยเหลือไม่ให้ไปถึงระยะที่รุนแรงได้ค่ะ


ภาวะเสี่ยงหลังคลอด

ภาวะเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับทารกแฝดหลังคลอดนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดูแลครรภ์ของคุณแม่ หากคุณแม่ดูแลตัวเองดี โอกาสที่ทารกแฝดจะเกิดมามีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงก็มีมาก แต่หากครรภ์แฝดไม่ได้รับการดูแลที่ดี ทารกก็มีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับภาวะเสี่ยงต่างๆ มากมายหลังคลอด ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นหลังคลอดทันที พญ.ชุลีกร อิ้วตกส้าน และพญ.หทัยทิพย์ ภารดีวิสุทธิ์ กุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด ให้ความรู้ว่า
“การตั้งครรภ์แฝดถือเป็นหนึ่งในการตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยง ดังนั้นกุมารแพทย์และสูติแพทย์ และคุรแม่ต้องร่วมมือกันดูแลให้ทารกที่คลอดออกมามีความสมบูรณ์ที่สุด”

“การตั้งครรภ์มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติหลังคลอดหลายอย่าง แม้จะพบไม่บ่อย แต่ก็ต้องคอยระวัง เช่น ทารกคนที่สองมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดออกซิเจนขณะคลอดได้ ดังนั้นกุมารแพทย์ต้องเตรียมการช่วยเหลือให้พร้อม นอกจากนี้สิ่งที่เราต้องระวังสำหรับทารกแฝดคือต้องดูว่าเด็กมีปัญหาการเจริญเติบโตที่ไม่เท่ากันหรือไม่ เช่น ทารกมีน้ำหนักต่างกันมาก เนื่องจากมีอาการแย่งอาหารกันขณะอยู่ในครรภ์ ทารกที่มีน้ำหนักน้อยมีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ ภาวะเลือดข้น ในขณะที่อีกคนอาจมีภาวะซีดได้ ซึ่งแพทย์จะต้องเตรียมให้การรักษาต่อไป”

“นอกจากนี้ ครรภ์แฝดยังมีโอกาสเกิดการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้มาก ซึ่งถ้าคลอดก่อนกำหนดไม่มาก น้องอาจต้องอยู่ในตู้อบระยะหนึ่ง หรืออาจต้องให้อาหารทางสายยาง ซึ่งในกรณีนี้น้ำนมแม่จะมีส่วนสำคัญช่วยให้น้องแข็งแรงได้เร็ว มีส่วนหนึ่งของคนไข้ที่อาจต้องคลอดก่อนกำหนดมาก ซึ่งถ้าน้ำหนักน้อยมากๆ น้องอาจมีภาวะเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานของ ปอด หัวใจ ลำไส้ที่ยังไม่สมบูรณ์แพทย์อาจต้องให้การช่วยเหลือด้วยเครื่องช่วยหายใจไปก่อน อาจต้องให้ยาทางท่อช่วยหายใจ มีการให้สายอาหารทางเส้นเลือด และท่อสายยางเพื่อให้น้องมีการเจริญเติบโตเท่าเทียมกับในครรภ์ ปัญหาที่รุนแรงในทารกครรภ์แฝดส่วนใหญ่ เกิดจากการคลอดก่อนกำหนดมากๆ ดังนั้น หมอจะขอเน้นว่าในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ควรรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้มาก โดยเฉพาะตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 จะช่วยลดโอกาสเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด และควรคอยสังเกตอาการที่บอกว่าเป็นการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดเพื่อรีบปรึกษาสูติแพทย์ทันที เพื่อให้การช่วยเหลือที่รวดเร็ว ทำให้น้องได้อยู่ในครรภ์นานที่สุด และถ้าจำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนดจริงๆ ทารกจะได้มีความพร้อมและมีความสมบูรณ์ที่สุดก่อนคลอดออกมาค่ะ”
หลังจากน้องคลอดออกมาอย่างปลอดภัย และคุณหมออนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมใจไว้เลยว่าในช่วง 2-3 เดือนแรกจะเป็นช่วงที่เหนื่อยแน่นอน ตั้งแต่การให้นม การเปลี่ยนผ้าอ้อม การเอาน้องเข้านอน ดังนั้นการหาคนมาช่วยเหลือในช่วงแรกเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง การเลี้ยงช่วงแรกคุณพ่อคุณแม่มักไม่ได้นอนเต็มที่ เพราะฉะนั้นในเวลากลางวัน ขณะน้องนอนหลับคุณแม่ก็ควรหาโอกาสพักผ่อนไปด้วย แต่หลังจากคุณพ่อ คุณแม่และลูกๆ เรียนรู้ซึ่งกันและกันแล้ว มีการปรับตัวเข้าหากัน ทุกอย่างจะค่อยๆ ง่ายขึ้นค่ะ

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยให้การเลี้ยงลูกแฝดง่ายขึ้น เพราะสามารถตัดภาระที่ต้องนึ่งขวดนม ชงนม ไปได้ นอกจากนี้การให้ลูกดูดนมไปพร้อมกันในเวลาเดียวกันก็จะช่วยประหยัดเวลาไปได้เยอะอีกทั้งถ้าคนหนึ่งดูดนมเก่งแต่อีกคนดูดไม่เก่ง การให้ลูกดูดนมก็จะทำให้ลูกอีกคนที่ดูดไม่เก่งได้น้ำนมเพิ่มขึ้นไปด้วย เพราะขณะที่ลูกคนหนึ่งดูดนมน้ำนมของเต้านมอีกข้างก็จะไหลออกมาด้วยค่ะ เพราะฉะนั้นคุณแม่จะต้องดูแลตัวเองให้ดี กินน้ำให้พอ กินอาหารครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอทำจิตใจให้สบายก็จะมีน้ำนมไหลพอ ถ้าคุณแม่มีภาวะเครียด พักผ่อนไม่พอจะทำให้น้ำนมมาน้อยได้ ถ้าน้องทานนมแล้วไม่อิ่ม ร่วมกับน้ำนมมาน้อยคุณแม่อาจพิจารณาให้นมผสมเสริมก็ได้ เมื่อคุณแม่หายเครียด พักผ่อนให้พอร่วมกับให้น้องดูดนมบ่อย ดูดถูกวิธี น้ำนมก็จะค่อยๆ มามากขึ้น และคอยสังเกตว่าลูกทั้ง 2 มีน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ คือ 15-200 กรัมต่อสัปดาห์ถ่ายอุจจาระวันละ 4-6 ครั้ง ต่อวัน ปัสสาวะวันละ 6-8 ครั้ง ต่อวัน คุณแม่ก็สบายใจได้ว่าลูกได้น้ำนมพอแน่ๆ

การเลี้ยงลูกแฝดแนะนำว่าควรเลี้ยงไปด้วยกัน ไม่ควรแยกกันลี้ยงยกเว้นว่าอีกคนหนึ่งป่วย ในช่วงแรกๆ ลูกแฝดมีแนวโน้มที่จะคิดหรือมีพฤติกรรมที่คล้ายๆ กัน ก็จะเป็นการง่ายที่จะเลี้ยงให้คล้ายกัน แต่ให้คำนึงว่าจริงๆ แล้ว เค้าเป็นคนละคนกัน เพราะฉะนั้นการเลี้ยงให้เด็กเป็นตัวของตัวเองจะดีกว่า ไม่จำเป็นต้องมีทุกอย่างเหมือนกัน เมื่อโตขึ้นเค้าอาจมีสังคมที่แตกต่างกัน แต่ยังคงมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีของเหมือนกันทุกอย่าง ของใช้ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน อาจซื้อของที่ต่างกันให้ ถ้าชอบต่างกัน แต่สนับสนุนให้มีการแบ่งปันกันใช้จะดีกว่า


การเลี้ยงดูลูกแฝด...ความแตกต่างในความเหมือน

มาถึงเรื่องของการเลี้ยงดูลูกแฝดกันบ้าง คุณพ่อคุณแม่หลายๆ บ้านที่มีลูกแฝด โดยเฉพาะแฝดที่เหมือนกันทุกประการ มักจะให้ลูกทำอะไรพร้อมๆ กัน แต่งตัวให้ลูกเหมือนกัน เวลาซื้อของให้ก็จะซื้อเหมือนๆ กัน ซึ่งการเลี้ยงดูลูกแฝดในลักษณะนี้ พญ.เพียงทิพย์ พรหมพันธุ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กุมารแพทย์ และ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ให้ความเห็นว่า การเลี้ยงดูลูกแฝดนั้น ปัญหาที่พบอย่างแรกเลยก็คือ ความเหน็ดเหนื่อยของคุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะครอบครัวที่ไม่มีคนช่วยเลี้ยงทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกทั้งสองคนพร้อมกันได้ในทันทีทันใด ซึ่งเด็กในช่วงขวบปีแรกต้องการการดูแลเอาใจใส่มากเป็นพิเศษเพราะยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และเด็กต้องการการตอบสนองที่เร็วที่สุด เพราะจะทำให้เขาเกิดความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย การที่คุณพ่อคุรแม่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกได้ทันทีก็มีส่วนที่ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกขาดความมั่นคงทางจิตใจและทำให้ลูกหงุดหงิดงอแง เพราะฉะนั้นกรณีนี้คุณหมอแนะนำว่าให้หาคนมาช่วยเลี้ยงให้พอจะดีกว่าเพราะนอกจากจะช่วยดูแลได้ดีขึ้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ยังไม่ต้องเหนื่อยมาก เพราะความเหน็ดเหนื่อยอาจกลายเป็นความเครียดได้ และเมื่อเครียดแล้วก็จะส่งผลกระทบถึงลูกด้วย

ปัญหาต่อมาที่มักพบคือ การที่คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงดูลูกแฝดให้ทำอะไรพร้อมๆ กัน และทำอะไรเหมือนๆ กัน เหตุผลหนึ่งก็เพื่อความสะดวกของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องโดยเฉพาะเมื่อลูกเริ่มโตขึ้น เริ่มมีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเอง การที่ถูกจับให้ทำอะไรเหมือนๆ กัน ใส่เสื้อผ้าเหมือนกัน ทั้งๆ ที่เขาไม่ชอบ จะทำให้ลูกเกิดความคับข้องใจ และเมื่อถูกเลี้ยงดูให้ทำอะไรเหมือนๆ กัน ต่อไปเด็กจะไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง เพราะเกิดความเคยชินกับการทำตามอย่างแฝดอีกคนหนึ่งพอลูกเริ่มเข้าสู่วัยที่ต้องคิดต้องทำอะไรเองแล้วเขาก็จะยังทำเลียนแบบกันอยู่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่เปลี่ยนไปเป็นพยายามสอนให้ลูกมีความคิดแตกต่างกันเป็นของตัวเอง อาจจะทำให้ลูกแฝดเกิดความสับสนอีกว่าเขาควรจะทำอะไรเหมือนๆ กัน หรือมีความคิดเป็นของตัวเองดี เพราะฉะนั้นวิธีการเลี้ยงดูที่ถูกต้องคือ คุณพ่อคุณแม่อย่าคิดว่าลูกแฝดเป็นคนๆ เดียวกัน ควรเลี้ยงให้ลูกมีความเป็นตัวของตัวเองตั้งแต่แรก ให้ความสนใจความต้องการที่แตกต่างกันของลูกและตอบสนองตามที่ลูกต้องการ ควรส่งเสริมให้ลูกแสดงความรู้สึกนึกคิดของตัวเองออกมา และมีความมั่นใจที่จะทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ส่วนในเรื่องเสื้อผ้าก็ควรให้ลูกเลือกใส่เสื้อผ้าที่ลูกชอบ ไม่จำเป็นต้องให้ลูกใส่เสื้อผ้าเหมือนๆ กัน รวมทั้งของที่ซื้อให้ลูกก็ไม่จำเป็นต้องซื้อให้เหมือนกัน

ปัญหาด้านพัฒนาการก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในเด็กแฝดโดยเฉพาะพัฒนาการด้านการพูด ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูอีกเช่นกันการที่คุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกแฝดเล่นด้วยกันตามลำพังบ่อยๆ เพราะเห็นว่าเวลาที่ลูกอยู่ด้วยกันแล้วไม่ร้องงอแงนั้นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะเมื่อเด็กอยู่ด้วยกัน เขาจะมีการสื่อสารกันโดยไม่ใช้ภาษาพูด และไม่มีใครเป็นต้นแบบให้เรียนรู้ พัฒนาการด้านการพูดจึงไม่ได้รับการกระตุ้นเหมือนเวลาที่คุณพ่อคุณแม่พูดคุยเล่นด้วย จึงอาจทำให้เด็กแฝดมีพัฒนาการด้านการพูดที่ช้า เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกเล่นด้วยกันเองตามลำพังบ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่ควรให้เวลากับลูกแต่ละคน พูดคุยกับลูก เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ภาษาพูดและฝึกทักษะการพูดจากคุณพ่อคุณแม่ และเวลาที่คุณพ่อคุณแม่พูดกับลูกก็ควรจะพูดกับลูกทีละคน เพราะการที่พูดกับลูกพร้อมๆ กันสองคนโดยไม่เจาะจงว่าพูดกับใครคนใดคนหนึ่ง ลูกก็จะไม่ได้รับการกระตุ้นให้พูดเช่นกัน นอกจากนี้เวลาที่คุณพ่อคุณแม่พูดกับลูกคนไหนก็ควรจะเรียกชื่อลูกคนนั้นด้วย และไม่ควรตั้งชื่อให้คลายกัน เพราะเด็กเล็กยังไม่สามารถแยกแยะเสียงได้ดีจึงอาจทำให้เกิดความสับสนได้

เมื่อถึงวัยที่ลูกต้องไปโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านมักจะให้ลูกเรียนห้องเดียวกันเพราะคิดว่าลูกจะได้มีเพื่อนและไม่มีปัญหาไม่อยากไปโรงเรียนเหมือนเด็กคนอื่น แต่ความจริงแล้วการให้ลูกเรียนห้องเดียวกันนั้นไม่ใช้สิ่งที่ดี เพราะเด็กจะมีการเปรียบเทียบกันเอง และถูกเปรียบเทียบจากเพื่อนและคุณครู ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความสามารถมากกว่าทำให้อีกฝ่ายเกิดความกดดัน นอกจากนี้การที่ให้เด็กเรียนห้องเดียวกัน เขาก็จะไม่สนใจเพื่อนคนอื่นๆ จึงทำให้ขาดทักษะการเข้าสังคมและการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกเรียนคนละห้อง จะได้ไม่เกิดการเปรียบเทียบ และลูกจะได้มีสังคม มีกลุ่มเพื่อนของเขาเอง ลูกจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับคนอื่น เมื่อโตขึ้นเขาจะได้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างไม่มีปัญหา

สำหรับเรื่องของการอิจฉากันนั้น คุณหมอบอกว่าถือเป็นเรื่องธรรมดา การอิจฉากันของเด็กแฝดก็ไม่แตกต่างจากพี่อิจฉาน้องโดยทั่วไปสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ ให้ความรักความอบอุ่น และดูแลเอาใจใส่ลูกให้เท่าๆ กัน ให้ความยุติธรรมกับลูก ไม่ควรนำลูกมาเปรียบเทียบกันและส่งเสริมความสามารถของลูกแต่ละคน ก็จะช่วยให้ปัญหาการอิจฉากันเบาบางลงได้

การเลี้ยงดูลูกแฝดนั้นไม่ง่ายเพราะคุณต้องทำทุกอย่างมากกว่าคุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงลูกทีละคน แต่ก็ไม่ยากเกินไปหากคุณมีความตั้งใจและมีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูลูกแฝดอย่างแท้จริงก็จะทำให้ลูกแฝดของคุณเติบโตมาอย่างมีคุณภาพได้ค่ะ
 
 

[ ที่มา...นิตยสารบันทึกคุณแม่ No.171 October 2007 ]

URL Link : http://www.familydirect.com

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]