บทความเกี่ยวกับ สุขภาพจิต
คนเป็นคนที่ - 2409 [Date : 20 เม.ย. 2553 ]   
 
ซึมเศร้า โรคอันตรายใกล้ตัวหนู
 
วันที่ 20 เม.ย. 2553   โดย ผศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล
 
 

อยู่ดีๆ เจ้าตัวเล็กที่ปกติจะเป็นตัวป่วนประจำบ้านกลับหลบมานั่งซึมเศร้าอยู่คนเดียว คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจสงสัยหรือคาดไม่ถึงว่า “เด็กตัวแค่เนี้ย...เศร้าเป็นแล้วเหรอ”
เรื่องนี้ต้องให้ ผศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล มาไขข้อข้องใจให้คุณพ่อคุณแม่หายสงสัยกันค่ะ
เด็ก...ซึมเศร้า
ตามอัตราที่ได้ศึกษาวิจัยจากต่างประเทศ พบว่าประมาณร้อยละ 1 ของเด็กวัยแรกเกิดถึง 3 ปี ร้อยละ 2 ของเด็กวัยเรียน และร้อยละ 5 ของเด็กวัยรุ่นป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการวิจัยว่าเด็กไทยในวัยเหล่านี้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากน้อยเพียงใด ทราบแต่เพียงว่าพบโรคนี้ได้ทั้งในเด็กหญิงและเด็กชาย และสามารถพบได้ในครอบครัวที่แตกต่างกันไป
คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในเด็กนัก เนื่องจากข้อมูลความรู้ของโรคนี้ที่มีเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนยังมีน้อย และในสังคมไทยยังคงยึดติดกับความคิดแบบเดิมว่า การมาพบจิตแพทย์เป็นเรื่องที่น่าอับอาย ควรจะหลีกเลี่ยง แต่จริงๆ แล้วหากได้รับการรักษาที่ดีก็สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ทั้งชีวิตเลยครับ
ต้นเหตุ...หนูซึมเศร้า
1. กรรมพันธุ์ เช่น ถ้ามีพ่อแม่หรือคนในบ้านป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เด็กก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงตามไปด้วย โดยเฉพาะในครอบครัวที่เคยมีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วถึงขั้นฆ่าตัวตาย หรือมีประวัติคนในครอบครัวติดสารเสพติด เป็นพิษสุราเรื้อรัง ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้เด็กเป็นโรคซึมเศร้าได้มากขึ้น
2. สิ่งแวดล้อม ในเรื่องของการเลี้ยงดูที่ไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการของเด็กอย่างเพียงพอ การกระทำทารุณกรรมหรือทอดทิ้งเด็ก รวมทั้งการสูญเสียหรือพลัดพรากจากบุคคลที่เด็กรักและผูกพัน
3. เด็กทารกที่เกิดจากแม่ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์หรือหลังคลอดก็มีโอกาสป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้สูง

อาการนี้...เสี่ยงซึมเศร้า
อาการของโรคซึมเศร้าในเด็กเล็กๆ จะแตกต่างจากอาการในผู้ใหญ่อย่างมาก ผู้ใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจะมีอารมณ์เศร้า หดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่าย ขาดความสนใจในสิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่มีอารมณ์สนุกสนานกับสิ่งใดทั้งนั้น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ จิตใจฟุ้งซ่าน ขาดสมาธิ อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง คิดช้าทำช้า ตำหนิตัวเอง หรือมองสิ่งต่างๆ ในแง่ร้าย บางคนที่มีอาการรุนแรง อาจถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย
ในเด็กวัยขวบปีแรก อาการของโรคซึมเศร้าที่พบได้ เช่น
1. เด็กอาจจะเริ่มงอแงมากขึ้น หงุดหงิด กระสับกระส่าย ร้องกวนบ่อยๆ และยากที่จะกล่อมให้เงียบหรือสงบลงได้
2. ไม่ค่อยตอบสนองโดยการยิ้ม หรือแสดงอารมณ์ร่าเริงเวลาเล่นด้วย
3. ไม่ค่อยเคลื่อนไหว หรือไม่ก็เคลื่อนไหวมากกว่าปกติ
4. ขาดความสนใจในสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น ไม่จ้องมองหรือไขว่คว้าของเล่นที่เอามาให้
5. มีปัญหาการกิน กินน้อย ดูดนมน้อยลง ไม่ค่อยโต น้ำหนักตัวคงที่ หรือขึ้นช้ากว่าที่ควรจะเป็น
6. มีปัญหาการนอน นอนไม่เป็นเวลา อาจจะนอนหลับมาก หรือว่านอนไม่ค่อยหลับ ตื่นบ่อย
7. พัฒนาการช้า หรือถดถอยในด้านต่างๆ เช่น ภาษา กล้ามเนื้อ สติปัญญา อารมณ์ หรือสังคม
ในเด็กวัยเตาะแตะ นอกจากจะมีอาการเช่นเดียวกับอาการที่พบได้ในวัยขวบปีแรกแล้ว เด็กในวัยนี้จะมีความวิตกกังวลสูง กลัวการพลัดพรากมาก เวลาที่จะจากคนเลี้ยงเด็กก็จะงอแงอาละวาด ปลอบให้สงบได้ยาก แยกตัวเอง ไม่เล่นสนุกสนานกับเพื่อน ไม่ค่อยสนใจที่จะเล่นของเล่นอย่างที่เคยสนใจมาก่อน
ในเด็กวัยเรียน เด็กจะแสดงออกในเรื่องของอารมณ์ที่มักจะเบื่อหน่าย ขาดความสนใจในการเรียน เช่น จากเด็กที่เคยรับผิดชอบ สนใจเรียนดีก็จะเริ่มเหลวไหล ไม่รับผิดชอบ หรือจากเด็กที่เคยอารมณ์ดี ก็จะเป็นเด็กที่หงุดหงิดง่าย และเด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาในเรื่องพฤติกรรม เช่น ดื้อ ต่อต้าน ก้าวร้าว อาจจะเริ่มมีคำพูดในลักษณะตำหนิตัวเอง เช่น มองเห็นตัวเองด้อยกว่าคนอื่น คิดว่าตัวเองเป็นต้นเหตุของสิ่งเลวร้ายต่างๆ ในรายที่อาการรุนแรง เด็กอาจจะดูซึมหงอยเหงาลงไปอย่างชัดเจน บางคนอาจพูดถึงเรื่องความตาย หรือมีความคิดฆ่าตัวตายได้เช่นกัน
ในเด็กวัยรุ่น อาการของโรคซึมเศร้าจะเริ่มคล้ายผู้ใหญ่มากขึ้น อาจจะมีสีหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปชัดเจน ในลักษณะเศร้าและเบื่อหน่าย หงุดหงิด ไม่มีความสุข บางคนอาจหนีโรงเรียน คิดหนีออกจากบ้าน หรือเปลี่ยนกลุ่มเพื่อนไป มักจะมีอาการเบื่ออาหาร มีปัญหาการนอน สมาธิในการทำงาน การเรียนก็จะลดลง ผลการเรียนก็จะแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด และถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้สำเร็จสูงมากด้วย
รักษาอย่างไร...ให้ได้ผล
ปรับวิธีการเลี้ยงดูและท่าทีที่พ่อแม่ปฏิบัติต่อเด็ก โดยใช้การเล่นเป็นสื่อ จิตแพทย์เด็กมักแนะนำให้พ่อแม่สนใจดูแลเอาใจใส่เด็กมากขึ้น มีการพูดคุย ยิ้ม เล่นหัวกับเด็กบ่อยๆ และให้การตอบสนองความต้องการของเด็กในด้านต่างๆ อย่างพอเพียง
พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงควรสำรวจตัวเองว่า เด็กกำลังมีภาวะซึมเศร้าอยู่ด้วยหรือไม่ เพราะอารมณ์ของพ่อแม่กับอารมณ์ของเด็กสามารถสื่อถึงกันได้เหมือนโรคติดต่อ ทารกจะอารมณ์ดีถ้าพ่อแม่ทีเลี้ยงมีอารมณ์ดี แต่ทารกจะเครียด หงุดหงิด หรือซึมเศร้า ถ้าพ่อแม่มีอารมณ์แบบเดียวกัน หากพบว่าคุณแม่หรือผู้เลี้ยงกำลังเป็นโรคซึมเศร้า ก็สมควรที่จะได้รับการรักษาที่เหมาะสมเช่นกัน
การใช้ยาจำพวกยาต้านเศร้านั้นมีประโยชน์มากสำหรับผู้ใหญ่วัยรุ่น หรือเด็กโตที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่ยังไม่มีรายงานหรือการวิจัยที่พิสูจน์ถึงประโยชน์ของการใช้ยาต้านเศร้าในเด็กเล็ก หรือเด็กทารกที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า การใช้ยาต้านเศร้าในเด็กวัยนี้จึงจำเป็นต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป ในทางปฏิบัติแล้ว จิตแพทย์เด็กจะลองใช้ยาต้านเศร้าก็ต่อเมื่อเด็กไม่ตอบสนอง หรือไม่ดีขึ้น หลังจากได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่นอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
ป้องกันลูกห่างโรคซึมเศร้า
หากเด็กยังไม่เป็นโรคซึมเศร้า สิ่งที่จะเป็นเกราะป้องกันภาวะของโรคนี้ได้ดีที่สุดอยู่ที่ครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ควรเลี้ยงดูให้ลูกรู้สึกถึงความมีคุณค่าในตัวเอง สร้างความภาคภูมิใจในตัวเองให้เกิดกับตัวลูกอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
1. มอบหมายงานให้ลูกทำแล้วให้คำชมเมื่อเห็นว่าเขาทำได้สำเร็จ หรือตั้งใจทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายนั้นแม้จะทำไม่สำเร็จก็ตาม
2. หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่ตำหนิติเตียน หรือต่อว่า คำพูดที่บั่นทอนจิตใจ ทำให้สูญเสียความภาคภูมิใจในตัวเอง
3. ให้ความรักความอบอุ่น ใกล้ชิด พูดคุย และทำกิจกรรมร่วมกันสม่ำเสมอ

ปฏิกิริยาลูกโซ่
เด็กที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ จะเติบโตเป็นคนที่มีปัญหา มีชีวิตที่น่ารันทด และน่าสงสาร “เด็กทารกที่ซึมเศร้าจะเติบโตเป็นเด็กเล็กที่ซึมเศร้า เด็กเล็กที่ซึมเศร้าจะเติบโตเป็นเด็กโตที่ซึมเศร้า เด็กโตที่ซึมเศร้าจะเติบโตเป็นวัยรุ่นที่ซึมเศร้า และแน่นอนที่สุด วัยรุ่นที่ซึมเศร้าก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ซึมเศร้า” เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ของความซึมเศร้า
หากสงสัยว่าลูกอาจเกิดภาวะของโรคซึมเศร้าหรือ เด็กเกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นแล้ว ควรปรึกษากับจิตแพทย์เด็กโดยตรง เพราะจิตแพทย์ทั่วไปอาจจะไม่มีโอกาสได้เจอเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้าบ่อยนัก เพราะฉะนั้นอาจจะมองข้าม หรือไม่ได้ให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องได้ดีเท่าจิตแพทย์เด็กที่เชี่ยวชาญโดยตรง โดยสามารถปรึกษาแพทย์ได้ที่หน่วยจิตเวชเด็กของโรงพยาบาล หรือที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น โทรศัพท์ 0 2246 1195 และ 0 2245 1195 หรือปรึกษาทางโทรศัพท์ได้ที่ 0 2245 7798 ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 เว้นวันหยุดราชการ
(update 30 ธันวาคม 2004)
[ ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่ ปีที่ 8 ฉบับที่ 93 กรกฎาคม 2546 ]

 
 

[ ที่มา...http://www.elib-online.com/doctors47/mental_child001.html ]

URL Link : http://www.elib-online.com/doctors47/mental_child001.html

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]