บทความเกี่ยวกับ สุขภาพจิต
คนเป็นคนที่ - 4913 [Date : 20 เม.ย. 2553 ]   
 
สุขภาพ กับการทำงานเป็นกะหรืองานล่วงเวลา
 
วันที่ 20 เม.ย. 2553   โดย ดร.ศิรินท์ เมฆโหรา
 
 

สุขภาพ กับการทำงานเป็นกะหรืองานล่วงเวลา


ยุคสมัยนี้เป็นยุคแห่งการแข่งขัน บริษัทหลายๆ แห่งเปิดให้มีการทำงานเป็นกะหรือล่วงเวลามากขึ้น เพื่อหวังที่จะใช้เครื่องจักรและสถานที่ให้คุ้มกับการลงทุน ไม่ปล่อยให้สถานที่หรือเครื่องจักรหยุดตัวเอง ในขณะค่ำคืนหรือวันหยุด
สำหรับผู้ที่ใช้ชีวิตในชนบทหรือในที่ที่มีการแข่งขันน้อย จะเห็นได้ถึงความไม่ต้องรีบเร่ง เช้าตื่นขึ้นมาหรือเย็นเสร็จจากงานก็มีเวลาออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเพื่อ การพักผ่อนได้
มีหลายคนที่ต้องทำงานเป็นกะหรือล่วงเวลา เนื่องจากลักษณะของงานบังคับ เช่น งานในโรงพยาบาล งานตำรวจหรือทหาร งานบริการสาธารณะ งานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ฉุกเฉินจริงๆ และงานในโรงงานอุตสาหกรรม ที่จำเป็นต้องควบคุมให้เครื่องจักรทำงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังมีงานที่เวลาทำการอยู่ในช่วงบ่ายถึงค่ำ เช่น งานในห้างสรรพสินค้า งานร้านอาหาร และบาร์ เป็นต้น
ลักษณะงานที่เป็นกะหรือล่วงเวลามีหลาย ลักษณะ ดังนี้
1. งานที่ทำเพิ่มขึ้นจากงานประจำเพื่อเพิ่มรายได้หรือถูกบังคับให้อยู่เวร ลักษณะ งานเช่นนี้ จะเป็นงานที่ต่อเนื่องจากงานที่ทำอยู่ มีระยะเวลาเพิ่มขึ้น 2-4 ชั่วโมง และไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน
2. ลักษณะงานที่เป็นกะแบบไม่ต้องหมุนเวียน เช่น มีเวรเช้าและบ่าย ผู้ที่ทำเช้าก็อยู่เช้าตลอด ผู้ที่อยู่บ่ายก็อยู่บ่ายตลอด
3. ลักษณะงานที่เป็นกะแบบที่มีการหมุนเวียน เช่น มีเวรเช้า บ่าย และดึก มีการหมุนเวียนเป็นรายอาทิตย์ หรือตามช่วงเวลา แล้วแต่ลักษณะของงาน ลักษณะการหมุน มีการหมุนแบบไปข้างหน้า หรือย้อนกลับ เช่น ลักษณะแบบไปข้างหน้า เมื่ออยู่เช้าเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว ต่อไปเมื่อต้องหมุนจะไปทำงานในช่วงบ่าย และถ้าเป็นช่วงบ่าย ก็จะหมุนเปลี่ยนไปช่วงดึก แต่ถ้าเป็นแบบถอยกลับ จะหมุนทางตรงข้าม คือถ้าอยู่เวรเช้า ก็จะย้ายไปเวรดึก
ผู้ที่ทำงานในลักษณะนี้ต้องปรับตัวเข้ากับครอบครัวและสังคม รวมทั้งระบบความสมดุลในร่างกายของตัวเอง ผู้ที่ทำงานล่วงเวลาหรือช่วงเวลาเข้างานเร็วหรือเลิกงานช้ากว่าผู้อื่น โดยที่ไม่มีกะเวลาต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อาจไม่ต้องปรับตัวมากเท่ากับผู้ที่ต้องทำงานแบบเปลี่ยนกะเวลาตลอด ทั้งนี้เนื่องจากร่างกายคนเราจะมี “นาฬิกาของร่างกาย” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า circadian rhythm อยู่ ทุกคน นั่นคือเวลาที่คนเรารู้ว่าต้องตื่น ต้องนอน ต้องกินข้าว เวลาที่น้ำย่อยและฮอร์โมนต้องหลั่ง อวัยวะต่างๆ ทำงานด้วยอัตราที่ต่างกันในแต่ละช่วงเวลา อุณหภูมิ อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด รวมแม้กระทั่งภาวะอารมณ์และจิตใจก็แตกต่างกันในเวลากลางวันและกลางคืน ตามปกติแล้วนาฬิกาของร่างกายจะมีรอบอยู่ประมาณวันละ 25 ชั่วโมงต่อวัน (ในขณะที่ 1 วันจริงๆ มี 24 ชั่วโมง)
ในผู้ใหญ่ต้องการการนอนหลับเพื่อการพักผ่อนและฟื้นสภาพร่างกาย ประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน
ในขณะที่เด็กทารกในช่วง 6 เดือนหลังคลอด ต้องการการนอนหลบมากกว่า 15 ชั่วโมง และความต้องการเวลาของการนอนจะสั้นลงเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น แต่ก็อาจต้องการการงีบหลับในช่วงกลางวันบ้าง
ดังนั้น ช่วงเวลาการนอนหลับจึงเป็นช่วงที่สำคัญที่ไม่ต้องการถูกรบกวน แต่ผู้ที่ทำงานกะกลางคืนและต้องมานอนตอนกลางวันอาจมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ไม่เต็มที่ เพราะอาจมีเสียงรบกวน และที่หนักกว่านั้นคือ ผู้ที่มีการเปลี่ยนกะทำงาน เมื่อต้องเปลี่ยนเวลามาเป็นการนอนกลางวัน ร่างกายอาจปรับตัวไม่ทันทำให้นอนไม่หลับ ส่งผลทำให้ร่างกายเกิดการล้าเรื้อรัง เหนื่อย หงุดหงิด หดหู่ ได้
นอกจากนั้น ระบบการย่อยอาหารก็อาจแปรปรวน น้ำย่อยอาหารหลั่งไม่เป็นปกติ ความรู้สึกต่อการอยากอาหารลดลง อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้อาจหายไปได้ เมื่อร่างกายกลับสู่ภาวการณ์ทำงานและการนอนหลับที่เป็นปกติ
นอกจากปัญหาที่เกี่ยวกับร่างกายแล้ว ปัญหาที่สำคัญมากๆ อีกอย่างคือ ปัญหาทางครอบครัวและสังคม หลายคนรู้สึกห่างจากครอบครัวและเพื่อนฝูง ที่หนักไปกว่านั้นอาจมีปัญหาของครอบครัวแตกแยก เนื่องจากความไม่เข้าใจกันและไม่มีเวลาให้แก่กัน คนหนึ่งทำงานตอนกลางวัน หลับตอนกลางคืน ขณะที่อีกคนหนึ่งทำงานตอนกลางคืนหลับตอนกลางวัน เวลาที่จะได้พูดคุยกันก็ลดลง ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ลดลง
หากจำเป็นที่ต้องทำงานเป็นกะไม่สามารถ หลีกเลี่ยงได้
ควรทำตามหลักดังต่อไปนี้
1. ผู้ที่ทำงานไม่ควรมีอายุต่ำกว่า 25 ปี หรือมากกว่า 50 ปี
2. ควรหาผู้ที่ต้องการทำงานเป็นกะดึกได้โดยตลอด (ซึ่งผู้นั้นอาจมีครอบครัวที่ทำงานตอนกลางคืนเช่นเดียวกัน) เพื่อจะได้ไม่ต้องมีการเปลี่ยนกะ
3. ควรทำงานกะดึกแค่คืนเดียวในแต่ละกะ ไม่ควรอยู่ต่อเนื่องติดต่อเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากนาฬิกาของร่างกายยังไม่เปลี่ยนแปลง ระบบในร่างกายจึงไม่แปรปรวนมากนัก
4. หากทำตามข้อ 3 ไม่ได้ ควรจัดให้กะการทำงานดึกเป็นระยะยาวนานขึ้น เช่น 4-6 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายมีการปรับนาฬิกาของตัวเองไปเลย แล้วค่อยปรับกลับมาสู่ปกติอีกครั้งหนึ่ง โดยให้ในกะปกติมีระยะเวลา 10-11 เดือน
5. หากต้องการให้มีการปรับนาฬิกาของร่างกายเร็วขึ้น ควรเปิดไฟให้สว่างมากๆ ในขณะที่ทำงานกะดึก
6. ควรมีเวลาพักผ่อนอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังจากออกจากกะดึก (หากทำตามข้อ 3) เพื่อให้มีเวลาพักผ่อนและปรับตัวเรื่องการนอนให้เหมือนปกติ
7. ควรเป็นการหมุนเวียนเปลี่ยนกะ โดยให้หมุนวนไปข้างหน้า คือถ้าเดิมเป็นกะเช้า กะต่อไปควรเป็นกะบ่าย และถ้าเดิมเป็นกะบ่าย ต่อไปถ้าต้องเปลี่ยน ควรจะเป็นกะดึก เพราะนาฬิกาของร่างกายมี 25 ชั่วโมง ทำให้เรามีแนวโน้มที่จะอยู่ดึกออกไปเรื่อยๆ ได้ง่ายกว่าการที่จะต้องตื่นเช้าขึ้นเรื่อยๆ
8. ถ้าต้องทำงานล่วงเวลาหรือทำงานต่อเนื่องหรือ 2 กะติดต่อกัน งานที่ทำต่อควรเป็นงานที่เบา ไม่ควรเป็นงานที่ใช้ความคิด สมาธิ มากนัก
9. เมื่อทำงานได้ 5-7 วัน ควรมีเวลาพัก ติดต่อกันอย่างน้อย 2 วัน เพื่อการฟื้นตัวของร่างกาย
10. เพื่อนและบุคคลในครอบครัวควรได้รับคำแนะนำหรือความรู้ เกี่ยวกับผลกระทบของการทำงานเป็นกะ การเปลี่ยนเวลาทำงาน เพื่อให้เข้าใจและช่วยเหลือในการปรับตัว
ท้ายนี้ผู้เขียนขอแสดงความเห็นใจ และให้กำลังใจต่อผู้ต้องทำงานเป็นกะ เพื่อบริการสังคม และหวังว่าบทความนี้คงมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย
(update 17 มกราคม 2006)
[ ที่มา.. นิตยสารหมอชาวบ้าน ปีที่ 27 ฉบับที่ 316 สิงหาคม 2548 ]
 
 

[ ที่มา...http://www.elib-online.com/doctors49/gen_health001.html ]

URL Link : http://www.elib-online.com/doctors49/gen_health001.html

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]