บทความเกี่ยวกับ วัยรุ่น
คนเป็นคนที่ - 4122 [Date : 19 เม.ย. 2553 ]   
 
14 ปี : บ้าน โรงเรียน เพื่อนและจริยธรรม
 
วันที่ 19 เม.ย. 2553   โดย พัฒนา สุจริตวงศ์
 
 


14 ปี : บ้าน โรงเรียน เพื่อนและจริยธรรม


ได้กล่าวถึงพัฒนาการของวัย 14 ปีไปแล้ว 3 ตอน คุณพ่อคุณแม่บางบ้านอ่านแล้วอาจจะสบายใจที่พบว่า จริงปีนี้อารมณ์ดีกว่าปีก่อน คุยกันได้รู้เรื่องมีเหตุมีผลมากขึ้น
" ดูเขาเป็นผู้ใหญ่กว่าที่คิด"

แต่บางบ้านอาจจะยังรู้สึกไม่คลาย
" ปีก่อนขี้โวย อะไรก็ไม่ถูกใจสักอย่าง โวยได้ทุกเรื่อง ปีนี้ดีหน่อย ไม่ค่อยโวยเท่าไร แต่ก็แหม…เข้าหน้าพ่อแม่ไม่ใคร่จะติดเลย" บางบ้านได้แต่ส่ายหัว…
" พูดไม่รู้เรื่องสักคำ ไม่เห็นมันต่างกับปีที่แล้วสักนิด ไหนว่าจะดีขึ้นไง ไหงแย่กว่าเดิมเสียอีก"

แท้ที่จริง พัฒนาการของเด็กแต่ละวัย โดยทั่วไปแล้วจะใกล้เคียงกัน ที่ว่าเมื่อถึงจุดพัฒนาการใด พฤติกรรมและการแสดงออกก็จะไปในทำนองเดียวกันนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติไม่ได้ชี้ขาดทุกสิ่งทุกอย่าง การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่แต่ละบ้านที่ปูพื้นฐานมาตั้งแต่เด็กมีส่วนสำคัญ ที่ทำให้พัฒนาการทั่วไปของเด็กวัยเดียวกันแปรเปลี่ยน กลายเป็นพฤติกรรมเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน


  ความสัมพันธ์กับครอบครัว

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า วัยนี้พยายามจะเอาชนะพ่อแม่ พ่อแม่พูดอะไรไม่ค่อยถูกหู เพราะตามธรรมชาติของวัยนี้ เขาจะต้องป่าวร้องให้ก้องโลกว่า เขาเป็นผู้ใหญ่แล้วนะ ฉะนั้น อะไรก็ตามที่จะทำให้เขาดูเหมือนไม่เป็นผู้ใหญ่ เช่น การมีพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ พ่อแม่ซื้อของใช้เสื้อผ้าให้ไปไหนๆ กับพ่อแม่ ฯลฯ จำเป็นที่เขาจะต้องผลักไสออกไปโดยไม่รู้ตัว

หาใช่เพราะเขาเกลียดชัง มีปัญหากับพ่อแม่ ไม่กตัญญูรู้คุณ หรือเป็นเด็กเห็นแก่ตัว เขาต้องการบอกว่า เขาเป็นผู้ใหญ่แล้วนะ ไม่ติดแหง็กกับพ่อแม่แล้วนะ ไปไหนๆ ในห้างถึงได้ยืนห่างเป็นวา ยิ่งถ้าห้างไหนมีวัยรุ่นเดินกันมากๆ ละก็ยิ่งไปใหญ่ เขาไม่อยากให้ใครๆ รู้ว่า คนนั้นเป็นพ่อเป็นแม่ฉันนะ

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูลึกลงไปในรายละเอียด เราจะเห็นว่า วัยนี้ปัญหาใหญ่อยู่ที่แม่ เขารู้สึกกันว่าพ่อเข้าใจเขาได้มากกว่า พ่อมีเหตุมีผลมากกว่าแม่ หนักแน่นน่าเชื่อถือกว่าแม่ เขาเคารพพ่อมากกว่าแม่ ตอนนี้แม่เป็นแค่ยายเฉิ่มที่ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราว ไม่เข้าใจลูก ไม่เข้าใจวัยรุ่น ไม่มีความเห็นอะไรตรงกันสักอย่าง ต่อหน้าเพื่อนๆ คนที่เขาอยากให้ไปให้พ้นก็คือ แม่ ยิ่งบางคนที่เป็นไม้เบื่อไม้เมา ไม่ค่อยใกล้ชิดกันมาก่อน ตอนนี้ล่ะยิ่งไปใหญ่…กลายเป็นว่า แม่ชอบจับผิดมั่งละ เข้มงวดเกินเหตุมั่งละ ไม่เค่ยโผล่ไปดูโลกวัยรุ่นเขาเลยมั่งละ…ฯลฯ…เอาเป็นว่า คุณแม่เตรียมตัวให้ดีก็แล้วกัน ทำใจเสียว่า ในบรรดาคนทั้งโลกนั้น ไม่มีใครที่ขัดหูขัดตาวัยสิบสี่มากเท่าแม่อีกแล้ว คุณแม่จะทำอะไรได้ นอกจากเห็นเป็นขำ…ชะ ชะ เลี้ยงกันมากับมือ…รู้หมดทั้งไส้ทั้งพุง วันนี้หาว่าแม่ไม่ถูกใจที่สุดขำเถอะค่ะ ขำ…ขำ… เพราะยังไงๆ เขาก็รักแม่และพ่อกว่าใครในโลกนี้

  ความสัมพันธ์กับเพื่อน
ก็จากรากเหง้าเดิมนั่นเอง ที่วัยสิบสี่ว่าตนโตเป็นผู้ใหญ่ นอกจากเขาจะไม่ยอมให้พ่อแม่มาทำให้เขากลายเป็นเด็กแล้ว อีกด้านหนึ่ง เขาก็จะเอาเพื่อนเป็นเครื่องวัดว่า เขาเป็นผู้ใหญ่แล้วหรือยัง โดยเฝ้าสังเกตสังกาตัวเอง แข้งขาแขนมือ รูปร่าง หน้าอกหน้าใจ แล้วก็จะไปเปรียบเทียบกับเพื่อน…เหมือนกันหรือเปล่า

ทำไมแป้งตัวสูงหล่อล่ำ แต่ผมเล็กนิดเดียว ทำไมอรมีหน้าอกตั้งเยอะ แต่หนูแบ๊น แบน…หนูผิดปกติหรือเปล่า เพื่อนออกไปดูหนังกันเองได้ทุกวันหยุด แต่ทำไมเขาต้องขออนุญาตขอแล้วขออีกก็ไม่ค่อยได้

เพื่อนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของเขา ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายเอาเพื่อนเป็นแบบ เป็นตัวตั้ง ที่จะทำให้ตัวเองมั่นใจว่า เขาผ่านไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่แล้วหรือยัง ถ้าเหมือนเพื่อนแปลว่า ผ่าน แต่ถ้าไม่เหมือนก็จะมีปัญหา เด็กผู้หญิงวัยนี้จะสนิทกับเพื่อน เกาะกันเป็นกลุ่มแน่นแฟ้นกว่าเด็กผู้ชาย มีเรื่องคุยกันได้ทั้งวัน คุยกันที่โรงเรียนยังไม่พอ กลับบ้านยกหูต่อไปหากันอีกแล้ว และเรื่องที่เม้าธ์กันมากที่สุดก็ไม่พ้นเรื่องพวกผู้ชาย ในวัยสิบสี่ เด็กผู้หญิงจะสนใจเรื่องมีแฟนมากกว่าเด็กผู้ชาย มีเรื่องกระซิบกระซาบแอบมองกันได้ทั้งวัน อันอาจจะเนื่องมาจากพัฒนาการทางร่างกายที่นำไปก่อนมาตั้ง 2-3 ปี แล้ว พวกผู้ชายมักจะมีทั้งพัฒนาการทางร่างกายและวุฒิภาวะช้ากว่าผู้หญิง ดังนั้น วัยก่อนหน้านี้ เด็กผู้หญิงผู้ชายวัยเดียวกัน ชั้นเดียวกันก็เลยไม่ค่อยสนใจกันเท่าไร พวกผู้หญิงจึงมักจะมองข้ามหัว…ปิ๊งข้ามรุ่นไปที่รุ่นพี่เสียมากกว่า พวกรุ่นเดียวกัน…เด็กเด็ก…

อย่างไรก็ดี ที่จีบๆ กันนั้น มันก็แป๊บๆ ไม่ใช่ความรักความหลงอันใดทั้งนั้น…มันแค่ปิ๊ง ปิ๊ง…แต่ถึงแม้ว่า จะพัฒนาช้ากว่าเธอไปหน่อย แต่หัวข้อคุยของพวกผู้ชายวัยนี้ ก็มีเรื่องเพศตรงข้ามบ้างเหมือนกัน ใครไปมีอะไรกับใครที่ไหน…เม้าธ์ได้เหมือนกัน แต่บอกได้ว่าส่วนใหญ่ก็โม้…ไปตามเรื่อง… จะว่าไปมิตรภาพของพวกผู้ชายวัยนี้ ไม่เข้มข้นเหนียวแน่นเท่าพวกผู้หญิง พวกหนุ่มน้อยเขาจะไปทางทำกิจกรรมด้วยกัน เล่นกีฬากัน เป็นสัมพันธภาพแบบหลวมๆ แต่พวกผู้หญิงจะเข้าอกเข้าใจ รู้จักรู้ใจกันมากกว่า

  ความสัมพันธ์กับสังคม
วัยสิบสี่ปี เขารู้ดีขึ้นว่า กฎเกณฑ์ของสังคมเป็นอย่างไร ที่บ้านพ่อแม่ต้องการอะไรเพราะอะไร ที่โรงเรียนมีกติกาอย่างไร เขาควรทำตัวอย่างไร แต่จะทำหรือไม่ทำ…เป็นอีกเรื่อง การเรียนรู้ในทางสังคม ทำให้เกิดการพัฒนาในด้านมโนธรรมสำนึกขึ้น คุณพ่อคุณแม่จะพบว่า วัยนี้สามารถไปพ้นจากเรื่องตัวเองอย่างเดียว ไปสู่ความสนใจ การมีสำนึกรับผิดชอบหรือใส่ใจต่อเรื่องของกลุ่ม หรือสังคมวงกว้างมากขึ้น เช่น ปัญหาคนจน ความไม่เป็นธรรมในโรงเรียน การโกง ทุจริต ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่พ่อแม่เราน่าจะถือโอกาสพัฒนาความดีงามเช่นนี้ ในใจของเขาให้งอกงามต่อไป ในการเรียนรู้ทางสังคม เราจะสังเกตได้ว่า เขาจะสนใจอยากเข้าไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับคนที่สถานะแตกต่างจากตัวเอง และยิ่งถ้าคนนั้นมีความสนใจที่ใกล้เคียงกับเขา เช่น เขาชอบรถจักรยาน และเจอช่างซ่อม เขาอาจจะสนใจเข้าไปคุยด้วย ฯลฯ

ส่วนใหญ่วัยนี้เขารู้ว่า ผิดชอบชั่วดีคืออย่างไร เขาสามารถเข้าใจและแยกแยะได้ แต่จะทำได้ไม่ได้ก็อีกเรื่อง อิทธิพลที่นำมาซึ่งความรู้จักผิดชอบชั่วดี มาจากรากฐานในครอบครัว ถ้ามีการปลูกฝังเรื่องนี้มาตามลำดับ วัยนี้เราจะมองเห็นทัศนะมุมมองที่ดีของเขาได้ชัดเจน เขาสามารถจะอภิปรายถกเถียงในเรื่องจริยธรรมได้ลึกซึ้งขึ้น แต่ถ้าครอบครัวไม่ได้ปลูกฝังเรื่องนี้ไว้เข้มแข็งมั่นคงดีพอ เด็กบางคนในวัยนี้ ก็อาจจะได้รับอิทธิพลทางจริยธรรมมาจากเพื่อน สื่อหรือสิ่งอื่นๆ ที่เขาพบเห็นในสังคม ซึ่งจะเป็นบวกหรือเป็นลบ ก็ขึ้นอยู่กับเพื่อน สื่อ หรือปัจจัยอื่นนั้นว่า บอกสาระแบบใดกับเขา แน่นอนถ้าความเห็นของพ่อแม่กับเพื่อนไม่ตรงกัน ถ้าเขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว แนวโน้มก็จะโน้มเอียงมาทางยอมรับทัศนะตามแบบครอบครัวมากกว่าเพื่อน แต่ถ้าเพื่อนมีบทบาทในชีวิตของเขามากกว่าครอบครัว ก็ย่อมเป็นของแน่ ที่เขาจะยอมรับความเห็นของเพื่อนมากกว่า

  บทบาทของโรงเรียน
เพราะวัยนี้เขาติดเพื่อน และค่อนข้างแยกตัวออกห่างจากบ้าน ดังนั้น โรงเรียน จึงเป็นที่ที่เด็กจะสร้าง และพัฒนาทักษะทางสังคม เราจะเห็นพวกเขาเกาะกลุ่มกัน มีเอกลักษณ์ประจำกลุ่ม เกาะกลุ่ม เรียนด้วยกัน และคุยกันได้ทั้งวัน ก่อนเข้าเรียน ระหว่างเรียน หลังเลิกเรียน พวกที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน มักจะนั่งเรียนใกล้ๆ กัน มีโต๊ะหรือที่ทางประจำของตนเอง

ดังที่กล่าวในตอนก่อนๆ ว่า วัยสิบสี่ปีมีความกระตือรือร้นสูง อยากทดลองทำทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้น นอกเหนือจากการจัดการเรียนการสอนที่น่าสนใจสำหรับเขาแล้ว (วัยนี้จะสนใจวิชาที่เกี่ยวกับตัวเอง ชีววิทยา สรีระวิทยา จิตวิทยา เพราะเขาอยากรู้เรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง) โรงเรียนควรเป็นที่ที่จัดสร้างกิจกรรมต่างๆ ให้แก่เด็กอย่างหลากหลาย เพื่อตอบสนองต่อความสนใจที่แตกต่างกัน หลังเลิกเรียน เด็กควรมีโอกาสได้เรียนรู้ และพัฒนาทักษะทางสังคมด้วยการเข้าชมรมต่างๆ กีฬากลางแจ้ง ในร่ม ดนตรี ละคร ศิลป ฯลฯ การมอบหมายงานที่มีลักษณะโครงงาน ให้ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่ม ได้ค้นคว้าได้จัดการ เป็นลักษณะการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับพัฒนาการของเขา

น่าเห็นใจเด็กไทยที่ระบบการศึกษาไม่ถูกต้อง ระบบการสอบเอ็นทรานซ์ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาครอบงำ การเรียนการสอนในระดับมัธยมทั้งปลาย และลามลงมาจนถึงมัธยมต้น เด็กวัยสิบสี่ส่วนใหญ่ซึ่งเรียนอยู่ชั้น ม.2 ก็พลอยขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้ทักษะทางสังคม เลิกเรียนแล้วมีการบ้านมากมายจำนวนไม่น้อยต้องไปเรียนพิเศษ วันหยุดก็เช่นกัน

ดังนั้น จึงน่าที่จะสนับสนุนให้โรงเรียนสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ สำหรับเด็กวัยรุ่นให้เพียงพอ เพื่อว่าพวกเขาจะพัฒนาในทุกๆ ด้านได้อย่างสมดุล เพื่อที่จะก้าวผ่านต่อไปยังช่วงวัยรุ่นตอนกลาง และตอนปลายอย่างมั่นใจ

(update 9 มกราคม 2003)
[ ที่มา.. life & family   ปีที่ 6 ฉบับที่ 62 พฤษภาคม 2544 ]
 
 

[ ที่มา...http://www.elib-online.com/doctors46/teen_teen001.html ]

URL Link : http://www.elib-online.com/doctors46/teen_teen001.html

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]