บทความเกี่ยวกับ คู่มือเลี้ยงลูก
คนเป็นคนที่ - 4053 [Date : 25 ก.พ. 2551 ]   
 
โรคเบาหวานกับเด็กอันตรายที่ป้องกันได้
 
วันที่ 25 ก.พ. 2551   โดย ผศ.พญ.จีรันดา สันติประภพ
 
 

 

 

เมื่อพูดถึงโรคเบาหวาน คนส่วนใหญ่มักนึกถึงกลุ่มผู้ใหญ่วัยเกิน 40 ปี คนอ้วน ผ้าสูงอายุ แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่เท่านั้นที่เป็นโรคเบาหวาน เพราะที่โรงพยาบาลศิริราชพบเด็กอายุ 8 ขวบ เป็นโรคเบาหวานเหมือนกับผู้ใหญ่

 “เบาหวาน” เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง...ป้องกันได้

กระทรวงสาธารณสุขรายงานจากการสำรวจสภาวะสุขภาพคนไทย ครั้งที่ 3 ปี พ.ศ. 2547 ประมาณการว่ามีผู้ป่วยเบาหวาน 3.9 ล้านคน แต่มีเพียง 1.7 ล้านคน ที่เข้าถึงบริการทางการแพทย์ ซึ่งยังไม่รวมผู้ที่มีสภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานอีก 2 ล้านคน

เด็กและวัยรุ่นเกี่ยวข้องกับเบาหวานอย่างไร

เบาหวานที่พบในเด็กและวัยรุ่น แบ่งเป็น 2 ชนิด 

ชนิดที่ 1 เบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน

เบาหวานชนิดนี้พบบ่อยที่สุดในเด็กและวัยรุ่น เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้

อินซูลินเป็นฮอร์โมนทำหน้าที่นำน้ำตาลเข้าไปใช้ในเซลล์ ทำให้เกิดพลังงาน ถ้าร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ เซลล์ต่างๆ ของร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลที่เกิดจากการกินอาหารพวกคาร์โบไฮเดรต (เช่น ข้าว แป้ง)ไปใช้เป็นพลังงานได้ ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เกิดเป็นโรคเบาหวาน

ชนิดที่ 2 เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน

โรคเบาหวานชนิดนี้ร่างกายผลิตอินซูลินได้ แต่เซลล์ต่างๆ ไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน (ดื้อต่ออินซูลิน) เรียกว่าเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน พบบ่อยในผู้ใหญ่และเด็กวัยรุ่นที่เป็นโรคอ้วน

สมัยก่อนถือว่าเบาหวานชนิดนี้เป็นโรคของผู้ใหญ่และเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ครอบครัวที่มีโรคเบาหวานชนิดนี้ โอกาสที่ลูกจะเป็นเบาหวานก็มีมาก แต่มักจะเป็นในผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 40 ขึ้นไปและสัมพันธ์กับโรคอ้วน เนื่องจากภาวะอ้วนทำให้ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน

ปัจจุบัน เด็กเป็นโรคอ้วนกันมาก ทำให้พบโรคชนิดนี้มากขึ้นในเด็กและวัยรุ่น

ข้อมูลของโรงพยาบาลศิริราชที่พบเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 เป็นอย่างไร

จากข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2530 ถึง ธันวาคม พ.ศ. 2547 พบว่า

มกราคม พ.ศ. 2530 – ธันวาคม พ.ศ. 2539

เบาหวานชนิดที่ 1 ร้อยละ 93

เบาหวานชนิดที่ 2 ร้อยละ 5

มกราคม พ.ศ. 2540 – ธันวาคม พ.ศ. 2542

เบาหวานชนิดที่ 1 ร้อยละ 93

เบาหวานชนิดที่ 2 ร้อยละ 18

มกราคม พ.ศ. 2546 – ธันวาคม พ.ศ. 2547

เบาหวานชนิดที่ 1 ร้อยละ 70

เบาหวานชนิดที่ 2 ร้อยละ 28

จากข้อมูลนี้พบว่ามีสัดส่วนของผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สัมพันธ์กับเด็กเป็นโรคอ้วนมากขึ้นในประเทศไทยอย่างชัดเจน

สังเกตอย่างไรว่าผู้ป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2

อาการของผู้ป่วยเบาหวานมีมากน้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยเบาหวานที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงไม่มากอาจไม่มีอาการแต่อย่างใด แต่ตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี ในรายที่มีรับน้ำตาลในเลือดสูงจะมีอาการดังต่อไปนี้

1. ปัสสาวะบ่อย ทำให้หิวน้ำบ่อย

2. น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ (ปัสสาวะออกมากสูญเสียน้ำตาลทางปัสสาวะ)

3. บางรายอาจจะมาด้วยเป็นแผลเรื้อรัง เพราะระดับน้ำตาลสูงในเลือดจะทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานกำจัดเชื้อโรคได้ไม่ดี เป็นแผลหายยาก

4. บางรายมาด้วยเป็นเชื้อรา ติดเชื้อราตามผิวหนัง เชื้อราที่ช่องคลอด

5. บางรายมาด้วยอาการน้ำตาลในเลือดสูงมากจนกระทั่งร่างกายขาดน้ำรุนแรง มีภาวะช็อก มีภาวะเลือดเป็นกรดได้

อาการมีตั้งแต่รุนแรงมาก จนกระทั่งไม่มีอาการอะไรเลย

รายที่ไม่มีอาการอะไรเลย ส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์เพราะอ้วนมาก  คุณหมอที่ดูแลหรือคุณพ่อคุณแม่กังวลเรื่องอ้วน มักจะมีประวัติในครอบครัวเป็นเบาหวาน เมื่อมีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก็พบว่าเป็นเบาหวาน

ปัจจัยสำคัญของเบาหวานชนิดที่ 2 คือ ภาวะอ้วน

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นที่มาพบแพทย์ด้วยโรคอ้วนที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยเป็นโรคอ้วน อายุตั้งแต่ 6-18 ปี 125 รายน้ำหนักเฉลี่ย 80 กิโลกรัม

พบว่ามีร้อยละ 3 เป็นเบาหวานแล้ว แต่ไม่มีอาการเลย

ร้อยละ 21 ตรวจน้ำตาลพบว่าผิดปกติ แต่ยังไม่ถึงขั้นเบาหวาน ซึ่งผู้ป่วยที่เริ่มมีระดับน้ำตาลสูงผิดปกติแต่ยังไม่ถึงขั้นเบาหวาน มีโอกาสเป็นเบาหวานในอนาคต ถ้าไม่สามารถลดน้ำหนักได้

พ่อแม่สามารถสังเกตลูกหลานของตนเองได้อีกวิธีหนึ่งก็คือ ถ้าลูกเริ่มมีภาวะอ้วน ร่วมกับสังเกตที่ต้นคอเด็ก จะเห็นรอยดำๆ หนาๆ ถูเท่าไหร่ก็ไม่ออกบางคนคิดว่าเป็นขี้ไคล

รอบคอที่ดำเป็นปื้นหนานี้บ่งบอกว่า เริ่มมีภาวะดื้อต่ออินซูลินแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเบาหวานทุกราย แค่ถ้าสังเกตพบปุ๊บจะต้องให้หมอตรวจระดับน้ำตาลดูว่าสูงผิดปกติหรือไม่ ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะไม่มีประวัติเป็นเบาหวานก็ตาม

น้ำตาลในเลือดเท่าไหร่ถือว่าปกติ

น้ำตาลปกติคือ น้อยกว่า 100 มก./ดล.

การทดสอบน้ำตาลในเลือดมี 2 วิธีคือ

1. เจาะเลือดตรวจน้ำตาล หลังงดน้ำ งดอาหาร ประมาณ 8 ชั่วโมง

จะถือว่าเป็นเบาหวาน ถ้าน้ำตาลหลังงดน้ำ งดอาหาร มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก./ดล.

แต่ถ้าอยู่ระหว่าง 100-125 เรียกว่า เริ่มผิดปกติ

2. ให้กินกลูโคส และอีก 2 ชั่วโมงเจาะเลือดตรวจน้ำตาล

หลังกินกลูโคส คนปกติน้ำตาลต้องน้อยกว่า 140 มก./ดล.

ถ้าเป็นเบาหวานคือ มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก./ดล.

ถ้าอยู่ระหว่าง 140 จนถึง 199 ถือง่าเริ่มมีภาวะผิดปกติแล้ว

จากข้อมูลของผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นที่ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช พบว่ามีผู้ป่วยเด็กประมาณร้อยละ 21 อยู่ตรงกลาง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ก็มีโอกาสเป็นเบาหวานในอนาคตได้ เรียกว่ากลุ่มเสี่ยง เพราะถ้าปล่อยไว้และอ้วนขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มนี้มีสิทธิ์เป็นเบาหวานถือว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ป้องกันได้ไม่ให้เกิดเป็นเบาหวาน ถ้าสามารถลดน้ำหนักได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

เบาหวานในเด็กและผู้ใหญ่ต่างกันหรือไม่

คำว่า “เด็กเป็นเบาหวาน” ก็เหมือนกับผู้ใหญ่เป็นเบาหวาน โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังตลอดชีวิต มีภาวะแทรกซ้อนตามมา เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนเหมือนผู้ใหญ่ เช่น

·        เบาหวานขึ้นจอตา ทำให้ตามองเห็นไม่ชัดอาจจะต้องมีการยิงเลเซอร์รักษา

·        โรคไต การเป็นโรคเบาหวานนานๆ และคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ทำให้ไตเสื่อม ปัจจุบันเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้เกิดโรคไตวายในคนไทย

·       ปลายประสาทเสื่อม มีอาการชา การรับความรู้สึกที่มือ เท้า ลดลง

·        หลอดเลือดแดงตีบแข็งกว่าปกติ โอกาสจะเป็นหลอดเลือดสมองขาดเลือดหรือ อัมพาต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย มากขึ้น

จุดเริ่มต้นจากเบาหวาน จะไปสู่สาเหตุของโรคเรื้อรังอื่นๆ แต่สามารถชะลอและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี

สิ่งที่สำคัญมากคือ ผู้ป่วยเบาหวาน จะต้องดูเรื่องของผลน้ำตาล ดูแลตนเองให้ระดับน้ำตาลอยู่ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เพื่อป้องกันและชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เหล่านั้น

เบาหวานชนิดที่ 1 มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดเป็นโรคที่ยังไม่สามารถป้องกันได้

แต่เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคที่เกี่ยวกับภาวะอ้วนพฤติกรรมการกิน พฤติกรรมการใช้ชีวิต ป้องกันได้

เด็กเริ่มมีภาวะอ้วนจะต้องลดน้ำหนัก อย่าให้อ้วนมากไปกว่านี้ หรือกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยงเริ่มมีน้ำตาลสูงผิดปกติแล้ว สามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคเบาหวานได้ ถ้าให้เด็กได้ออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดูทีวี เล่นเกมคอมพิวเตอร์ให้น้อยลง ใช้ชีวิตกลางแจ้งให้มากขึ้น กลุ่มนี้สามารถกลับมามีน้ำตาลปกติได้

อยู่กับเบาหวานอย่างไร

เบาหวานชนิดที่ 1 วิธีการรักษาคือจะต้องมีการฉีดยาอินซูลิน ผู้ป่วยจะต้องเรียนรู้วิธีการฉีดยา การออกฤทธิ์ของยาอินซูลิน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ฉีดยาวันละ 2-3 ครั้ง บางรายอาจจะต้องฉีด 4 ครั้งต่อวัน เพื่อจะควบคุมให้ระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ที่ดีได้

เรียนรู้โรคเบาหวาน วิธีการดูแลตนเองจะต้องทำอย่างไรบ้าง นอกจากเรื่องการฉีดยาอินซูลินแล้ว ก็จะต้องมีการเจาะเลือดที่ปลายนิ้วเพื่อจะดูระดับน้ำตาลวันละ 3-4 ครั้ง จะได้มีการปรับยา ปรับอ่าหารให้เหมาะสมกับระดับน้ำตาล

เรียนรู้เรื่องอาหารการกินที่พอเหมาะ ให้เกิดสมดุลกับความต้องการของร่างกาย

ต้องเรียนรู้ว่า เวลาไม่สบาย กินไม่ได้ จะทำอย่างไรถ้าน้ำตาลสูงผิดปกติ ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ภาวะช็อก จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง

เด็กและวัยรุ่นที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และพ่อแม่จะต้องมีการเรียนรู้เรื่องเบาหวานเพื่อจะสามารถดูแลตนเองได้ จำเป็นต้องมีการปรับตัว เพราะต้องมีการฉีดยา เจาะเลือด ปรับลักษณะการกินและประเภทของอาหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยจึงจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี

สำหรับเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะอ้วน (พฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิตประจำวัน) และพันธุกรรม

พ่อแม่จะต้องสร้างวินัยในบ้าน นั่นคือลดการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ลดการดูโทรทัศน์ ไม่นอนดึก ฝึกนิสัยการกินที่ถูกต้อง ไม่กินจุบจิบตลอดเวลา

เด็กที่เป็นโรคอ้วนมักจะมาจากปัญหาการขาดวินัยในครอบครัว เด็กจะตื่นกี่โมงก็ได้ เด็กหาอาหารการกินเอง เด็กออกไปเล่นเกมกับเพื่อน...ครอบครัวอาจจะต้องมาใส่ใจว่าแต่ละวัน ลูกใช้ชีวิตอย่างไร ลูกกินอะไรบ้าง ลูกออกไปซื้ออะไรบ้าง เด็กบางคนไม่รู้จะทำอะไรจริงๆ บางทีอยู่กับเพื่อนก็ชวนกันกิน ชวนกันเล่นเกม บางคนอยู่บ้านไม่รู้จะทำอะไรก็นอนกับดูโทรทัศน์ เด็กบางคนชอบกินของมันๆ ทอดๆ ชอบดื่มน้ำอัดลม น้ำผลไม้ที่มีรสหวานๆ พ่อแม่จะต้องช่วยกันดู ช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกและสร้างนิสัยการกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งกระตุ้นให้เด็กได้มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การลดน้ำหนักโดยการคุมอาหารและออกกำลังกายเพิ่มขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่วนใหญ่คนอ้วนที่สามารถลดน้ำหนักลงได้ประมาณร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวก็จะส่งผลดีต่อร่างกายแล้ว แต่ต้องทำสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

เบาหวานชนิดที่ 2 ป้องกันได้จากพฤติกรรม

ถ้าไม่ป้องกันโรคเบาหวานตั้งแต่อยู่ในวัยเด็กอนาคตจะมีคนไทยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้นและเริ่มเป็นตั้งแต่อายุน้อยกว่า 10 ขวบ

มีข้อมูลจากการตรวจเลือดเด็กที่มารับบริการจากโรงพยาบาลศิริราชพบว่า 125 รายที่ตรวจวัดน้ำตาลมีร้อยละ 3 เป็นเบาหวานแล้ว และพบว่าผู้ป่วยเด็กที่อายุน้อยที่สุดก็คือ 8 ขวบ สามารถเป็นเบาหวานแบบผู้ใหญ่ได้แล้ว

เด็กที่เริ่มเป็นเบาหวานตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น ไตเสื่อม เบาหวานขึ้นจอตา ได้ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานตั้งแต่เด็กจะต้องอยู่กับโรคเรื้อรังนี้และภาวะแทรกซ้อนไปอีกนาน ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่แข็งแรงมีค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือป้องกันอย่าให้เด็กเป็นเบาหวาน

นั่นคือ อย่าให้ลูกอ้วน และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

ถ้าปล่อยให้เด็กเป็นเบาหวานแล้ว จะมานั่งเสียใจทีหลัง และเป็นตั้งแต่อายุน้อย ค่าใช้จ่ายมากโดยเฉพาะถ้าวันหนึ่งเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาแล้วไม่สามารถไปแก้ไขภาวะตรงนั้นได้

 
 

[ ที่มา...นิตยสารหมอชาวบ้าน ปีที่ 29 ฉบับที่ 343 พฤศจิกายน 2550 ]

URL Link : ผศ.พญ.จีรันดา สันติประภพ

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]