บทความเกี่ยวกับ เบี่ยงเบน
คนเป็นคนที่ - 6116 [Date : 19 เม.ย. 2553 ]   
 
ลูกเบี่ยงเบนทางเพศหรือเปล่า
 
วันที่ 19 เม.ย. 2553   โดย ผศ.นพ.พนม เกตุมาน
 
 
ลูกเบี่ยงเบนทางเพศหรือเปล่า
 

ลูกเบี่ยงเบนทางเพศหรือเปล่า


คุณแม่หลายคนมาปรึกษาผมว่า

ผศ.นพ.พนม เกตุมาน

พอลูกชายเริ่มเข้าวัยรุ่น ชักเริ่มสนใจเพื่อนต่างเพศ มีโทรศัพท์มาบ่อยๆ จากสาวที่ไหนก็ไม่รู้ ทำเอาเสียการเรียนไปบ้าง ไม่อยากให้ลูกมีความรักในวัยนี้เลย จะทำอย่างไรดี

ผมก็ได้แต่ให้กำลังใจว่า สมัยนี้วัยรุ่นปกติจะมีความสนใจเพศตรงกันข้ามครับ ดีเสียอีก ถ้าลูกชายคุณสนใจสาวๆ ไม่ใช่สนใจผู้ชายด้วยกัน แสดงว่าลูกเราคงไม่เบี่ยงเบนทางเพศแบบที่เรียกว่า รักร่วมเพศ คุณแม่ยังนึกว่าผมพูดเล่น ผมพูดจริงนะครับในยุคนี้ ถ้าเลี้ยงลูกให้ถึงวัยรุ่นโดยไม่เบี่ยงเบนได้ นับว่าเก่งแล้ว เพราะการเป็นรักร่วมเพศเกิดขึ้นบ่อยมาก และปัจจัยส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูนี่เอง

ในเพศหญิงก็เช่นกัน อันตราการเกิดรักร่วมเพศแบบที่คนทั่วไปรู้จักกันว่า เลสเบี้ยน หรือทอม-ดี้ ก็พบได้บ่อย แม้จะน้อยกว่าเพศชาย บางแห่งถึงกับตั้งเป็นชมรมกันก็มี เรื่องนี้ในประเทศทางตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกาจะเปิดเผยกันมาก และมีการเรียกร้องกันจนไม่ได้จัดภาวะการเป็นรักร่วมเพศ หรือ Homosexuality นี้เป็นโรคจิตเวชเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในสมัยก่อน

การเบี่ยงเบนทางเพศหรือรักร่วมเพศนี้ เป็นความไม่ปกติอย่างหนึ่งของจิตใจ แต่ก็ไม่ใช่โรคทางจิตเวช เป็นเพียงความพึงพอใจทางเพศที่ไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ ซึ่งผู้ที่เป็นชายจะชอบผู้หญิง และผู้ที่เป็นหญิงจะชอบผู้ชาย (ในเชิงชู้สาวหรือทางเพศ) ภาวะนี้เรียกว่า Heterosexuality ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนทางเพศ ที่จะกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เพศ และนำมาถึงการมีเพศสัมพันธ์เพื่อให้ตั้งครรภ์ ดำรงเผ่าพันธ์มนุษย์ต่อไป

ในคนที่เป็นโฮโมเซ็กซ์ชวลจะมีความพึงพอใจทางเพศเช่นกัน แต่จะเกิดกับคนที่เป็นเพศเดียวกันเท่านั้น

ทีนี้ในช่วงวัยรุ่นๆ เด็กๆ เองก็อาจมีความสนิทสนมผูกพันกับเพื่อนๆ ซึ่งเป็นเพศเดียวกัน ความสนิทสนมผูกพันนี้ บางทีก็ดูภายนอกว่ามากจนน่าเป็นห่วงว่าจะเป็นรักร่วมเพศ แต่จริงๆ แล้วส่วนใหญ่ไม่ใช่ แต่เป็นความสัมพันธ์ฉันเพื่อนสนิทธรรมดานี้เอง วัยรุ่นหญิงจะเห็นชัด ในข้อนี้เหมือนกัน เช่น มีการไปไหนมาไหนด้วยกัน กินด้วยกัน นอนด้วยกัน หรือมีการให้ดอกไม้ ของขวัญแก่รุ่นพี่ (เพศเดียวกัน) แต่เมื่อติดต่อกันไปก็ไม่ได้เป็นความสัมพันธ์รักร่วมเพศ

เคยมีผู้วิจัยพฤติกรรมการเป็นรักร่วมเพศนี้พบว่า ในพฤติกรรมวัยรุ่นที่ผูกพันกับเพศเดียวกันมากๆ จนน่าสงสัยนั้นมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เป็นรักร่วมเพศจริงๆ

ตามสถิติพบว่า ผู้ชายจะเป็นรักร่วมเพศประมาณ 1 ใน 10 หรือ 10 คนใน100 คน ผู้หญิงจะเป็นประมาณ 3 คนใน 100 คน น้อยกว่าเพศชายมากครับ

ในคนที่น่าสงสัยว่าจะเป็นรักร่วมเพศนั้น พอถึงวัยรุ่นเขาจะรู้ตัวเองว่าเป็นหรือไม่เป็น ปัญหาคือถ้าเขารู้ตัวว่าเป็นแล้ว มักจะแก้ไขไม่ได้

การรู้ตัวว่าตนเองมีเอกลักษณ์ทางเพศแบบใดนั้น จะเกิดเมื่อมีความรู้สึกทางเพศ

ในเพศชายปกติ จะเกิดความรู้สึกทางเพศกับเพศหญิงเมื่อได้เห็น ได้อยู่ใกล้ชิด แล้วรู้สึกพอใจ ต้องการรู้จักสนิทสนมอยู่ใกล้ๆ คิดถึง ฝันถึง และอาจมีจินตนาการทางเพศถึงได้ ปฏิกิริยาตอบสนองทางเพศ จะเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งกระตุ้นทางเพศจากเพศตรงข้าม เช่น เห็นรูปโป๊ เห็นภาพกระตุ้นทางเพศ หรือภาพยนต์ทางเพศ หรืออาจเกิดจากจินตนาการทางเพศก็ได้

ในเพศหญิงก็เช่นเดียวกัน ความรู้สึกทางเพศจะเกิดกับเพศชาย

ในรักร่วมเพศ ความรู้สึกทางเพศจะเกิดกับเพศเดียวกัน ในพวกตุ๊ดแต๋วก็จะรู้สึกปิ๊งกับหนุ่มๆ ในทอม-ดี้ก็จะชอบสาวๆ ด้วยกัน

ในความเป็นรักร่วมเพศนั้น ก็ยังมีความเป็นชายหญิงซ่อนอยู่ด้วยเช่นกัน

โฮโมเซ็กชวลชาย ก็จะมีแบ่งเป็นเกย์คิงกับเกย์ควีน
เกย์คิงก็คือ พวกที่เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับเกย์ด้วยกัน จะแสดงบทบาทเป็นชาย คือผู้กระทำ
เกย์ควีนก็คือ พวกที่เวลามีเพศสัมพันธ์ จะแสดงบทบาทเป็นหญิง หรือผู้ถูกกระทำ
ในเกย์คิงจะไม่ค่อยเห็นความผิดปกติเมื่อมองดูจากภายนอก บางคน (และส่วนมาก) เป็นชายแท้ๆ ดูท่าทางไม่ออกเลย ตรงกันข้ามกับเกย์ควีน ซึ่งส่วนมากจะแสดงออกให้คนทั่วไปรู้ เช่น กิริยาท่าทาง การเดิน คำพูด หรือการแสดงออกอื่นๆ

โฮโมเซ็กชวลหญิงก็เช่นกัน คนที่เป็นทอมก็จะแสดงบทบาทเป็นชาย ในขณะที่คนเป็นดี้ จะแสดงบทบาทเป็นหญิง (เมื่อมีเพศสัมพันธ์กัน) เมื่อเข้าใจเช่นนี้ จะพบว่าโฮโมเซ็กชวลครึ่งหนึ่ง จะสังเกตได้จากการแสดงออกภายนอก นั่นคือ พวกที่เป็นเกย์ควีน และพวกที่เป็นทอม และสองกลุ่มนี้พบว่ามักจะมีลักษณะแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก การพบว่าเด็กวัยประถมศึกษา มีพฤติกรรมว่าจะเบี่ยงเบนทางเพศ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ เขาจะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นจริงๆ

เด็กผู้ชาย ถ้าเงียบๆ เรียบร้อย ไม่เล่นกีฬา ไม่ชอบความรุนแรง ชอบเล่นตุ๊กตา ชอบเล่นกับเด็กหญิง แบบนี้น่าเป็นห่วงแล้วครับ ส่วนเด็กหญิงที่เป็นทอมๆ ก็เช่นเดียวกัน

เคยมีการวิจัยที่จะช่วยเหลือเด็กที่เบี่ยงเบนทางเพศแบบนี้ ตั้งแต่เด็กๆ วัยประถม พบว่า ถ้าช่วยกันได้เต็มที่สามารถป้องกันการเกิดรักร่วมเพศในวัยรุ่นได้ ขณะที่ถ้าปล่อยไว้เฉยๆ โดยไม่ช่วยเหลือ เด็กกลุ่มนี้จะเป็นรักร่วมเพศในที่สุด

ดังนั้น วิธีป้องกันรักร่วมเพศ ต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเข้าวัยเรียนครับ เมื่อพ่อแม่หรือครูสังเกตว่า เด็กเริ่มมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศและต้องช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องระยะยาว

วิธีการช่วยเหลือนั้นสรุปได้ว่าต้องทำดังนี้
  • หาสาเหตุภายในครอบครัว การเลี้ยงดู ทัศนคติของพ่อแม่ที่มีต่อลูกหญิงลูกชาย
  • ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อ (หรือแม่) เพศเดียวกัน
  • กระตุ้นกิจกรรมที่เหมาะสมกับเพศ
  • ลดกิจกรรมที่ผิดเพศ
การช่วยเหลือนี้ใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี จึงจะเห็นผลชัดเจน และผลจะคงอยู่ถาวรไปจนเด็กเข้าสู่วัยรุ่น

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรกระทำคือ สังเกตพฤติกรรมของลูกให้ดี ถ้ามีพฤติกรรมผิดเพศใดๆ ควรรีบพามาปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

สิ่งที่ควรสังเกตในเด็กวัยเรียน คือ
  • กิริยาท่าทาง คำพูด การทำไม้ทำมือ
  • กิจกรรมที่ทำ การเล่น
  • การคบเพื่อน เด็กวัยเรียนมักจะเล่นกับเพื่อนเพศเดียวกัน
  • จินตนาการเดียวกับเพศของตนเอง
ในเด็กวัยรุ่น ถึงแม้ว่าจะดูหมดหวังในการรักษา คือไม่สามารถเปลี่ยนเอกลักษณ์ ในด้านความพึงพอใจทางเพศได้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้คือ กิริยาท่าทาง คำพูด ซึ่งถ้าแสดงออกมากจนเกินไป อาจเกิดปัญหาในการปรับตัว ถูกล้อเลียนจากเพื่อนๆ

สิ่งที่พ่อแม่สังเกตได้ในวัยรุ่น คือ
  • การคบเพื่อน และรวมถึงการคบเพื่อนต่างเพศ
  • เรื่องที่สนใจทางเพศ เช่น บางคนจะสนใจรูปโป๊รูปเปลือยของเพศตรงข้ามถือว่าปกติ แต่ถ้าสนใจรูปเพศเดียวกันก็น่าสงสัยว่าจะเบี่ยงเบน
  • กิริยาท่าทาง คำพูด
แต่ในที่สุด การจะรู้ได้อย่างแน่ชัดว่า ลูกจะเบี่ยงเบนทางเพศหรือไม่ ก็จะได้จากการสารภาพของลูกเอง

คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้ลูกเปิดเผยเรื่องนี้ได้ โดยการวางตัวให้หนักแน่น ไม่ตีโพยตีพาย หรือแอนตี้ที่เขานักร่วมเพศ การซักถามอาจเริ่มต้นอย่างนี้ครับ
" เพื่อนลูกมีใครบ้าง ลองเล่าให้แม่ฟังบ้างซิ"
" ลูกมีเพื่อนต่างเพศกี่คน มีใครบ้าง"
" วัยนี้บางคนเขามีเพื่อนต่างเพศแล้ว แม่ว่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ลูกจะมีบ้างไหม"
" เพื่อนลูกใครมีแฟนแล้วบ้าง"
" มีใครที่ลูกสนใจเป็นพิเศษแบบเป็นแฟนบ้างไหม"
" มีใครมาแอบชอบลูกบ้างไหม"
" ลูกคิดอย่างไรเวลามีเพศตรงข้ามมาสนใจ"
" เพื่อนลูกคนนั้น ลูกคิดอย่างไรกับเขาบ้าง"
คำถามเหล่านี้จะกระตุ้นให้วัยรุ่นเปิดเผยข้อมูล แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ความนุ่มนวล เป็นกันเอง อย่าให้วัยรุ่นตกใจกลัวเสียก่อนนะครับ

คำถามต่อไปนี้ จะเฉพาะเจาะจงในเรื่องความพึงพอใจทางเพศมากขึ้น ได้แก่
" ลูกดูรูปนี้แล้วรู้สึกอย่างไร" (รูปโป๊ของเพศตรงข้าม)
" จินตนาการทางเพศเป็นเรื่องปกติ ลูกมีบ้างไหม เป็นอย่างไร"
" ความรู้สึกทางเพศของลูกเกิดขึ้นได้อย่างไร"
" ความรู้สึกทางเพศของลูกเกิดกับเพศหญิงหรือเพศชาย"
" รู้สึกอย่างไรกับความรู้สึกทางเพศแบบนั้น"
ถ้าคุณพ่อคุณแม่เริ่มได้ดี ความสัมพันธ์ดี วัยรุ่นก็จะเปิดเผยเหมือนกัน ข้อยากจะอยู่ที่พ่อแม่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ถ้าทำไม่ได้จริงๆ ก็อาจจะต้องชักชวนกันมาพบหมอ ให้หมอช่วยถาม แต่ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งนะครับว่า ถึงวัยรุ่นจะบอกความพึงพอใจทางเพศนี้ได้แล้ว แต่ถ้าเกิดเขาเป็นจริงๆ ต้องเผื่อใจยอมรับไว้ด้วยว่า อาจจะแก้ไขไม่ได้แล้ว

สิ่งที่หมอจะช่วยต่อไป ในเมื่อเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเขาได้ก็คือ ให้เขารู้วิธีการปรับตัว ในสังคมสิ่งแวดล้อมให้ได้ รู้วิธีควบคุมตนเอง ไม่ให้แสดงออกมากจนน่าเกลียดหรือถูกล้อเลียน หมอจะช่วยให้พ่อแม่ยอมรับความจริงข้อนี้ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกต่อไป

มาถึงจุดนี้ ใครรู้ว่าลูกวัยรุ่นของเราสนใจเพศตรงข้าม ร้องไชโยได้ดังๆ ครับ อย่างน้อย ลูกของท่านก็ไม่ผิดปกติให้หนักใจนะครับ

(update 3 พฤษภาคม 2001)


[ ที่มา...หนังสือรู้จักรู้ใจวัย 13 ถึง 15 ปี ฮอร์โมนร้ายของวัยรุ่น]
 
 

[ ที่มา...http://www.elib-online.com/doctors3/gay_homo02.html ]

URL Link : http://www.elib-online.com/doctors3/gay_homo02.html

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]