บทความเกี่ยวกับ คู่มือเลี้ยงลูก
คนเป็นคนที่ - 2935 [Date : 10 ก.พ. 2551 ]   
 
กะเตงลูกน้อยขึ้นเครื่องบิน
 
วันที่ 10 ก.พ. 2551   โดย Mita’s diary
 
 

 

 

วันนี้ครอบครัว Kelder เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นค่ะ ทริปนี้เป็นทริปที่ 7 ของมิราเบล ที่เดินทางโดยเครื่องบิน ครั้งแรกๆ ที่ต้องเดินทางโดยเครื่องบินกับมิราเบล แม่มิต้ามีคำถามและความกังลวลล้านแปดอยู่ค่ะ แต่ตอนนี้เริ่มเชี่ยว(ชาญ) แล้ว จึงกล้ามาเล่าให้ฟังค่ะ เพราะตอนนี้มิราเบลอายุ 8 เดือนแล้วเคยเดินทางมาทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น

·        เดินทางไปอินโดนีเซียโดยเรือ ไปกลับ 2 รอบ

·        เดินทางไปมาเลเซียโดยรถ (ส่วนตัว) 8 ชั่วโมง รถวิ่ง

·        เดินทางโดยเครื่องบิน

·        สิงคโปร์ ไป-กลับ ไทย 2 รอบ

·        สิงคโปร์ ไปกระบี่ 1 รอบ

·        สิงคโปร์ ไป-กลับ ญี่ปุ่น 1 รอบ

·        เดินทางโดยรถไฟ (ชิงกันเซน) Kyoto ไป Tokyo

·        เดินทางโดยสารรถทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น รถไฟฟ้า, รถเมล์, รถแม่ ก็ขึ้นมาแล้วค่ะ แต่ที่นี่กังวลที่สุดก็คือเครื่องบิน เคยเห็นไหมคะบนเครื่องบิน เวลาเครื่องขึ้นหรือตอนเครื่องจะลง ลูกเด็กเล็กแดงจะแผดเสียงร้องกรี๊ดๆ  (บางคนไม่เข้าใจ เขาก็อาจจะรำคาญเสียงเด็กร้องน่ะค่ะ) เด็กเค้าร้องเพราะว่าเค้าเจ็บในหู เราคนเป็นแม่เห็นลูกร้องไห้ด้วยความทรมาน ไม่รู้จะช่วยยังไง (แม่ยิ่งทรมานใจยิ่งกว่า อุ้มก็แล้ว โอ๋ก็แล้ว ลูกก็ยังร้อง (ว๊ากๆ) แม่เดินเป็นหนูติดจั่นเลยล่ะทีนี้ ถ้าไม่อยากตกอยู่ในสถานการณ์นี้ตามมิต้ามาดูการเตรียมตัวก่อนขึ้นเครื่องบินกันนะคะ

 

วิธีการซื้อตั๋วเครื่องบิน

ไม่ว่าจะซื้อผ่าน Traval Agency, internet หรือซื้อกับสายการบิน

ราคาตั๋วเครื่องบิน (สายการบินส่วนใหญ่) ช่วงของเด็กแรกเกิดถึง 2 ขวบ จะเป็น 10% ของราคาเต็ม ส่วนเด็กที่โตกว่า 2 ขวบ ต้องจ่ายเท่าผู้ใหญ่ค่ะ

ถ้าเราซื้อตั๋วประเภท Low-cost Airline หรือ Promotion แล้วนั้น ราคาตั๋วของเด็กยังคงเป็นราคาคงที่ ทั้ง Business Class แล้ว Economy คือ 10% ของ Class นั้น

ที่นั่ง เราจ่าย 10% ของราคาเต็มเพื่อเด็กนั้น ไม่ได้แปลว่า เด็กได้ 1 ที่นั่งนะคะ ลูกจะต้องนั่งบนตักเราหรือบน Box, Cot ที่สายการบินเตรียมไว้ให้

น้ำหนักของสัมภาระ สายการบินให้โควต้าของสัมภาระเด็กเพื่อ Check In 10 กิโลกรัม ส่วนน้ำหนักของกระเป๋า Hand Carry (ถือขึ้นเครื่อง) ให้รวมกับแม่คือ 7 กิโลค่ะ แต่ถ้าเป็น Low-cost Airline เช่น Tiger airway ที่มิราเบลเคยบินจากสิงคโปร์ไปกระบี่ (ไม่มีทางเลือกเพราะเป็นสายการบินเดียวที่มี Flight จากสิงคโปร์-กระบี่) นั้น ไม่ให้สิทธิ์ของสัมภาระเด็กเลย แค่สมบัติส่วนตัวที่จำเป็นของมิราเบล เช่น ผ้าอ้อมก็ปาเข้าไป 4-5 กิโล แล้ว นี่ยังโชคดีนะคะที่มิราเบลกินนมแม่ ถ้ากินนมผง ยังต้องมีนมผง อุปกรณ์นึ่งขวดนม

อุปกรณ์ทำความสะอาด ฯลฯ หนักกว่านี้เยอะ คราวนั้นโดนค่าปรับที่น้ำหนักเกิน ซึ่งค่าปรับที่เกินสามารถมาซื้อตั๋วผู้ใหญ่ได้ 1 ที่นั่ง แต่เราซื้อตั๋วเด็กไปแล้ว ก็นั่งไม่ได้ (ต้องนั่งตักแม่) เพราะฉะนั้น หากเราจะซื้อตั๋ว ต้องคำนวณให้ดีค่ะ บางทีซื้อตั๋วผู้ใหญ่ไปอีก 1 ที่ ยังถูกกว่า แถมลูกเรายังได้ที่นั่งเป็นของตัวเองอีกด้วย (กรณีนี้เรียก เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย)

รายละเอียดอื่นๆ เช่น ถ้าคุณแม่เดินทางพร้อมเด็กเล็ก และคุณแม่กำลังตั้งครรภ์น้องอีกคน อย่าลืมใบรับรองแพทย์ว่าอายุครรภ์กี่สัปดาห์แล้ว เพราะแต่ละสายการบินมีระเบียบไม่เท่ากัน สำหรับหญิงมีครรภ์ค่ะ

หรือถ้าคุณแม่ท่านใดเป็นมังสวิรัติ ต้องแจ้งไปตั้งแต่ตอนซื้อตั๋วเลยค่ะ เพราะถ้าเราไปบนเครื่องแล้ว เขาไม่มีให้ และถ้าคุณแม่ต้องให้นมบุตรเองแล้วบิน Flight ไกลๆ หลายชั่วโมงถ้าคุณแม่กินอาหารธรรมดาไม่ได้ร่างกายไม่ผลิตน้ำนม จะเป็นผลเสียกับลูกค่ะ แต่บางทีแอร์โฮสเตสใจดีก็จะพยายามรวบรวมหาอาหารผัก (กรณีเป็นมังสวิรัติ) จาก First Class หรือ Business Class มาให้ค่ะ

 

4 เรื่องที่ต้องเตรียมก่อน Check in

1. เตรียมเวลา เมื่อคุณแม่ต้องเดินทางพร้อมเด็กเล็ก ต้องเผื่อเวลาไว้เยอะๆ หน่อยค่ะ เพราะเด็กๆ เขามีสัมผัสพิเศษ รู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลง บางทีเขาอาจจะคลื่นเหียนเวียนหัว อาเจียน และปัญหาอีกนานาชนิด ที่อาจจะทำให้เราตกเครื่องบินได้

2. เลือกที่นั่ง โดยส่วนใหญ่สายการบินจะสำรองที่นั่งแถวแรกสุกของ Class นั้นๆ เพื่อผู้โดยสารที่เดินทางมาพร้อมเด็ก เราไม่ควรขอนั่งริมหน้าต่าง เพราะคุณแม่ต้องอุ้มลูกเข้า-ออก เดินไป –มาบ่อยๆ ซึ่งจะเป็นเรื่องลำบากทั้งของตนเอง และผู้โดยสารที่นั่งอยู่ข้างๆ เราด้วยค่ะ ถ้าวันนั้นเที่ยวบินไม่เต็ม และไม่มีผู้โดยสารอื่นนั่งติดกับเรา เราก็จะได้นั่งที่ข้างๆ นั้นให้ลูกน้อยโดยปริยาย (ไม่ต้องซื้อที่นั่งอีก 1 ที่)

3. แจ้งขอ Cot หรือ Box จะต้องแจ้งตอน Check in อีกครั้งว่าขอ Cot (เตียงนอนของเด็ก) เพราะบางสายการบิน หากเป็น Flight สั้นๆ เขาจะไม่มีให้ค่ะ หรือถ้าดวงไม่ดี มีผู้โดยสายพร้อมเด็กเล็กเยอะ Cot อาจจะไม่พอก็ได้

4. Request ถ้าเราให้นมลูกด้วยนมแม่ เราสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตอน Check in ว่าเรา Breast Feeding ถ้ามีผู้โดยสารอื่นนั่งติดกับเรา ขอเป็นผู้หญิง เพื่อเราจะได้ให้นมลูกได้ เจ้าหน้าที่เค้าจะช่วยค่ะ

 

การเตรียมสัมภาระที่ใช้บนเครื่องบิน

รถเข็นเด็ก ไม่ต้อง Check in รถเข็น พร้อมกับกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ เราสามารถใช้รถเข็นได้ในแอร์พอร์ทจนไปถึงประตูขึ้นเครื่องแล้วเจ้าหน้าที่สนามบินจะรับรถเข็นจากเจ้าหน้าที่หน้าประตูเครื่องไปรวมกับสัมภาระเข้าใต้ท้องเครื่องบิน แต่เวลารับรถเข็นคืน ส่วนใหญ่จะคืนพร้อมกับกระเป๋าที่สายพานสัมภาระ

รถเข็นประเภทมีลมในล้อ บางสายการบินจะปล่อยลมในล้อออกเพื่อความปลอดภัย เพราะอากาศข้างบนเบาบาง ทำให้ลมที่อยู่ในล้อขยายตัวขึ้น และทำให้ล้อระเบิดได้ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่รถเข็นมิราเบลโดนเจาะยาง (ไม่ขอเอ่ยชื่อสายการบิน) คือเรา Check in รถเข็นที่หน้าประตูเครื่องบินใกล้เวลาเครื่องออก เจ้าหน้าที่อาจจะปล่อยลมไม่ทัน เลยวิธีเอาปากกาลูกลื่นจิ้มล้อ 3 ล้อเลย (แง....) เพราะว่าเมื่อตอนที่รับรถเข็นกลับมา ล้อแฟบทั้ง 3 ล้อ ก็เป็นความลำบากอย่างสูง เพราะเดินทางคนเดียวกับลูกเล็ก กระเป๋าก็ใหญ่ ลูกต้องอุ้มหลับค่าบ่า, ส่วนรถเข็นก็ล้อแฟบใช้การไม่ได้ ทุกอย่างกระเตงไปขึ้น Taxi แล้วไปหาปั๊มน้ำมันสูบลมล้อรถลูกเรา ปรากฏว่าสูบลมไม่ขึ้น เพราะเมื่อคุณลุงร้านปะยางตรวจดูทั้ง 3 ล้อแล้วบอกว่า ล้อถูกปากกาลูกลื่นจิ้มทั้ง 3 ล้อเลย เศร้าใจจังแล้วยางในของรถเข็นเด็กก็เป็นขนาดเฉพาะ หาซื้อลำบากมาก มิราเบลเลยไม่มีรถเข็นใช้อยู่เป็นอาทิตย์แน่ะค่ะ

รถเข็นแบบไม่มีลมในล้อ รถเข็นแบบนี้ สามารถนำขึ้นเครื่องมาได้เลย (ขนาดของรถเข็นเมื่อพับแล้วไม่ใหญ่ไปกว่าขนาดของ Hand Bag มาตรฐาน) สามารถเก็บบน Cabin เหนือที่นั่งได้ค่ะ หรือถ้าเอาให้ชัวร์ก็ให้โทร.ไปเช็คกับสายการบินนั้นๆ ก่อนเพื่อความมั่นใจว่า เมื่อเครื่องลงแล้วไม่ต้องอุ้มลูกแถมลากกระเป๋า ฯลฯ เพราะบางสายการบินไม่จอดเข้า Gate ต้องต่อรถบัสมาที่ตัวสนามบินและบางสนามบินก็ยาวเป็นกิโลอีกค่ะ

และในกรณีที่เรา Check in หน้าประตูเครื่องเราต้องถามให้แน่ใจว่า “เวลารับคืนนั้น รับคืนที่หน้าประตูเครื่องบิน หรือรับคืนที่หน้าสายพานกระเป๋า?” แต่ละสายการบินระเบียบไม่เหมือนกัน ถ้าเค้าให้เราเลือก มิต้าขอแนะนำว่าเลือกรับรถเข็นคืนที่หน้าประตูเครื่องดีกว่าค่ะ เพราะเราไม่ต้องแบกลูกเดินไกลๆ แถมตอนที่ทำพิธีการตรวจคนเข้าเมืองนั้น เราต้องยื่นเอกสารล้านแปด พร้อมตอบคำถามเจ้าหน้าที่อีก ถ้ามืออุ้มลูกอยู่นั้นจะเตรียมเอกสารลำบากมาก บางครั้งเอกสารตกหล่นหรือสูญหาย (โดยเฉพาะพาสปอร์ต) จะเป็นเรื่องยุ่งทีเดียวค่ะ

 

Car seat

เก้าอี้คาร์ซีท ถ้าเด็กต่ำกว่า 2 ขวบ แล้วเราซื้อที่นั่งแยกให้เด็กๆ อีกหนึ่งที่ควรมีคาร์ซีทไปด้วยค่ะ ถึงอย่างไรก็ควรนำคาร์ซีทไปด้วยค่ะเพราะกฎหมายประเทศอื่นว่าด้วยการเดินทางโดยรถยนต์ และเด็กที่นั่งในรถนั้นเขาค่อนข้างตรวจเข้ม เอาคาร์ซีทไป ถ้าไม่ได้ใช้บนเครื่องบินก็ต้องใช้บนรถยนต์อยู่ดีค่ะ (แบกไปเถอะค่ะ ไม่เสียหลาย)

วิธีการวางคาร์ซีทของเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน (ขณะนั่งระหว่าง Flight) จะวางแบบกลับกน้ากลับหลัง เหมือนกับวิธีวางในรถยนต์ค่ะ

แต่ตอนหลังๆ นี้ มิราเบลได้รถเข็นคันใหม่ (จากประสบการณ์โดนเจาะยาง) เป็นเก้าอี้สำหรับนั่งเครื่องบินโดยเฉพาะ สามารถวางในที่นั่งในทุกสายการบิน แล้วกางล้ออัตโนมัติในขณะที่เด็กนั่งหลับอยู่ในเก้าอี้ เพื่อใช้เข็นเดินต่อได้เลยค่ะ พอจะขึ้นรถก็หุบล้อ แล้วเป็นคาร์ซีทได้ด้วย เรียกว่า 3 in 1 ไม่ต้องแบกคาร์ซีทแยกกับรถเข็น และเป็น Airplane Seat ได้ด้วย เย้! แม่ชอบ

เป็นอย่างไรบ้างคะ นี่แต่การเตรียมตัวและอัตถบริขารขึ้นเครื่อง จริงๆ นั้นไม่ยุ่งยากแต่อย่างที่คิด โดยเฉพาะคุณแม่ที่ให้นมลูกด้วยนมแม่ จะมีความคล่องตัวในการเดินทางสูง นี่แค่การเตรียมตัง “ขึ้นเครื่อง” เท่านั้นนะคะ ฉบับหน้าตามแม่มิต้าไปดูการเตรียม “เครื่องขึ้น” และ “เครื่องลง” ค่ะ

 
 

[ ที่มา...นิตยสารบันทึกคุณแม่ No.172 November 2007 ]

URL Link : http://www.familydirect.co.th

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]