บทความเกี่ยวกับ ครอบครัว
คนเป็นคนที่ - 5497 [Date : 17 เม.ย. 2553 ]   
 
อยู่...หรือหย่า
 
วันที่ 17 เม.ย. 2553   โดย พญ.สุพัฒนา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา
 
 
อยู่...หรือหย่า
 

[ คัดลอก จากนิตยสาร fitness ปีที่ 9 ฉบับที่ 99 พ.ศ.2541 ]

อยู่...หรือหย่า

พญ.สุพัฒนา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา


 
อ่านคู่มือ
อยู่หรือหย่า
แล้วถามใจคุณดูให้ดี    
ชีวิตคู่ครั้งนี้...
ใครกำหนด

สถิติการหย่าร้างในประเทศไทยสูงขึ้นเช่นเดียวกับ ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก การหย่าร้าง เป็นการสิ้นสุดอย่างหนึ่ง ของชีวิตสมรส... ชีวิตสมรสอาจสิ้นสุดได้    แต่ครอบครัว จะสิ้นสุดมิได้   ครอบครัวจะดำรงอยู่ต่อไป โดยมีผู้นำที่เป็น ทั้งพ่อและแม่ ในคนคนเดียวกัน  ไม่ว่าลูกจะอยู่กับ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด  

การหย่าร้างไม่ควรเป็นผลสืบเนื่องจากอารมณ์ชั่ววูบของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ยามโกรธ   ยามน้อยใจ ยามแค้นใจ   คนเรามีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดอย่างมาก   การพิจารณาว่าหย่าร้าง จึงมิใช่เรื่องด่วนแต่อย่างใด

    การเตรียมตัวก่อนหย่าร้าง
1.   เตรียมปรับตัวต่อค่านิยมของสังคม
    สังคมไทยแต่โบราณไม่ยอมรับการหย่าร้าง   ทั้งนี้เพราะผู้ใหญ่ มีค่านิยม และเจตคติ ในทางลบด้านเดียว   ต่อการหย่าร้าง โดยเฉพาะต่อฝ่ายหญิง   จนถึงกับใช้คำว่า "แม่ม่ายผัวทิ้ง"

ปัจจุบันอาจเป็นเพราะว่าบทบาทหน้าที่ของสตรีเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจสังคม  ผู้หญิงพึ่งตนเองได้   จึงหย่าร้างได้ง่ายกว่าสตรีสมัยย่ายาย     แม้ว่าสังคมเริ่มจะเข้าใจ และมีแนวคิดกว้างขึ้น แต่ผู้ที่คิดจะหย่าร้าง ควรเตรียมใจเผชิญกับความไม่ยอมรับ ของสังคมไว้ด้วย    โดยเฉพาะฝ่ายหญิง  วิธีเตรียมตัวที่ดีอย่างหนึ่ง คือ   การบอกตนเองว่า   "ฉันได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว  ฉันได้ตัดสินใจถูกต้องแล้ว  คนอื่นอาจไม่เข้าใจ สถานการณ์ เขาอาจไม่รู้ว่า ฉันได้พยายามแก้ไขปัญหา อย่างดีที่สุดแล้ว"  

ความจริงคนอื่น   เขามีเจตนาดี   อยากเห็นเราอยู่ด้วยกันต่อไปอย่างมีความสุข  ตามค่านิยม ของเขาเท่านั้นเอง   แต่เขาไม่มีโอกาสเข้าใจสถานการณ์ของเรา     เรื่องการหย่าร้าง ไม่ใช่เรื่องที่คนอื่นควรแสดงความยินดี หรือแสดงความเสียใจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

2.   เตรียมปรับตัวต่อปัญหาเศรษฐกิจ
คู่สมรสส่วนมากโดยเฉพาะฝ่ายที่มีรายได้น้อยกว่า   จะเกิดปัญหาการเงินในการเลี้ยงลูก ไม่มากก็น้อย   หรือบางคนแม้แต่เลี้ยงตนเองให้รอด   ควรทำความตกลงที่มีผล ตามกฎหมาย เสียก่อน ในขณะเดียวกันหาทางช่วยตนเอง   โดยเพิ่มรายได้ให้สามารถ พึ่งตนเองได้เต็มที่   เช่น ทำงานพิเศษบางอย่าง   โดยคำนึงถึงเวลาที่ต้องใช้ในการ อบรมเลี้ยงดูลูกด้วย    มิฉะนั้น เด็กจะยิ่งรู้สึกถูกทอดทิ้ง   ถ้าลูกยังเล็กมากควรหางาน ที่รับมาทำที่บ้านได้ เช่น  การรับปักเสื้อโหล  การประดิษฐ์ดอกไม้  เป็นต้น

    ขอย้ำว่า   การเงินไม่ใช่เรื่องเล็ก  
การวางแผนรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญมากในระยะเตรียมตัวก่อนหย่าร้าง   ผู้หญิงหลายคนมีความทุกข์เนื่องจากไม่ได้วางแผนแก้ปัญหาเศรษฐกิจไว้ก่อน   เมื่อวางแผนแล้วต้องลงมือขวนขวายติดต่อเพื่อปรับรายได้ทันที   เพื่อนและญาติเป็นผู้ที่ เราอาจขอความช่วยเหลือได้ เขาจะให้ข้อมูลแหล่งงานและอาจฝากฝังให้ด้วย

3.   เตรียมปรับอารมณ์และจิตใจ
        "แม่ม่ายผัวหย่า"  กับ   "แม่ม่ายผัวตาย"   มีความทุกข์จากการสูญเสีย ด้วยกันทั้งคู่   แต่พื้นฐานความรู้สึก จะแตกต่างกัน ผู้เป็นม่ายจากการหย่าร้าง จะรู้สึกอ้างว้าง   โดดเดี่ยว   ด้วยว่าถูกทิ้งให้เผชิญความทุกข์อยู่แต่เดียวดาย ไร้ผู้คนล้อมรอบแสดงความเห็นใจ   คนที่หย่าร้างใหม่ๆ จะมีความรู้สึกคล้ายๆ กัน   ดูเสมือนว่าได้สูญเสีย อะไรบางอย่าง ที่เคยอยู่ใกล้ใจของตน และรู้สึกเสมือนว่า ตนพ่ายแพ้หรือล้มเหลว

    การหย่าร้าง   มิใช่   เครื่องตัดสินค่าของความเป็นคน
 เพียงแต่แสดงว่าคนสองคนได้พิจารณาถ่องแท้แล้วว่าการยุติการอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา จะช่วยให้เขาทั้งคู่มีความสงบสุข และพอใจในชีวิตมากกว่าที่เป็นอยู่     ควรเตรียมหากิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อลดความรู้สึกเหงา     ระวัง อย่าวางแผนว่า   จะแก้เหงาด้วยการทุ่มเทเวลาและจิตใจทั้งหมดให้แก่ลูก   อาจทำให้กลายเป็นพ่อติดลูก หรือแม่ติดลูก  โดยไม่รู้ตัว    การให้ความรักความอบอุ่นเป็นเรื่องดีที่ควรกระทำ   แต่การทำให้ใครติดหรือติดใครไม่ควรทำ  เพราะจะทำให้ต่างคนต่างพึ่งพิงกันและกัน อย่างจะขาดเสียซึ่งกันและกัน มิได้เลย  ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา

4.  เตรียมลูก
           การหย่าร้างที่มีการเตรียมตัวดีจะช่วยลดผลกระทบต่อเด็ก   เมื่อพ่อแม่แยกทางกัน ลูกอาจคิดว่าเขาเป็นตัวสาเหตุ   หรืออาจคิดผิดๆ ว่า   ถ้าพ่อแม่เลิกรักกันได้   พ่อแม่ก็คง จะเลิกรักเขาได้เช่นกัน  เด็กอาจเกิดความรู้สึกหวาดหวั่น   ไม่รู้ว่าชีวิตของเขาจะดำเนิน อย่างไรในวันข้างหน้า   ถ้าไม่มีพ่อหรือแม่อยู่ด้วย   เด็กอาจรู้สึกโกรธฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง   และเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่ง   เด็กอาจโกรธตนเองที่เขาไม่สามารถช่วยกู้สถานการณ์ได้   ถ้าไม่มีการเตรียมก่อน   เด็กอาจตกใจและว้าวุ่น   บางคนการเรียนตกต่ำลง   บางคนซึม  เหม่อลอย   แต่บางคนอาจหงุดหงิด   ก้าวร้าว   ซึ่งล้วนเป็นปฏิกิริยาต่อการสูญเสีย และความว้าวุ่นใจของเด็ก   ซึ่งแล้วแต่วัยและพื้นฐานทางอารมณ์ของเขา

    การตรียมลูกจะช่วยลดปฏิกิริยาดังกล่าวทั้งด้านความรุนแรงและระยะเวลา   การพูดให้เด็กเข้าใจสถานการณ์ควรพิจารณาอายุของเด็ก   ที่สำคัญ ควรตอบปัญหาข้องใจ ของเขาให้ชัดเจน   เรียบง่าย และเหมาะสมแก่วุฒิภาวะ ทางอารมณ์ และสติปัญญาของเขา   ท่าทีของพ่อแม่ในขณะสื่อความก็มีความสำคัญ   ควรพบเขาในห้องส่วนตัวขณะมีอารมณ์สงบ   แสดงให้ลูกเห็นว่าพร้อมที่จะเข้าใจความรู้สึกของเขา   ไม่พูดให้ร้าย หรือกล่าวโทษพ่อ หรือแม่ของเขา   ประการสำคัญที่สุด  บอกให้เขารู้ว่า  พ่อกับแม่จะไม่ได้อยู่ด้วยกันต่อไป   แต่ทั้งพ่อและแม่ก็จะยังรักเขาเหมือนเดิม   และให้เขาเข้าใจว่า  การที่พ่อกับแม่ ตัดสินใจ จะไม่อยู่ด้วยกันนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับตัวเขาเลย  

การหย่าเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ใหญ่สองคนเท่านั้น    บอกให้เขารู้ด้วยว่า   เขาจะมีโอกาสพบพ่อหรือแม่ ซึ่งไม่ได้อยู่กับเขาได้เมื่อใดและอย่างไร     พ่อและแม่ควรอยู่พร้อมหน้ากันในโอกาสสำคัญๆ ของลูก  เช่น  ในวันเกิด   วันรับปริญญา   หรือในยามลูกเจ็บป่วย   ไม่ว่าพ่อแม่จะยังโกรธหรือขมขื่นต่อกันเพียงใด

 การปฏิบัติตนภายหลังการหย่าร้าง
   1.   ควรใช้ชีวิตในที่ทำงานอย่างปกติ   ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ หรือการแต่งกาย  อย่าแต่งกายซอมซ่อลง   เพราะจะเป็นการทำให้ ใจห่อเหี่ยว ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ตนเองต่ำต้อย  แต่การแต่งตัวมากขึ้นเพื่อหวังดึงดูดความสนใจจากเพศตรงข้าม จะยิ่งเป็นที่เพ่งเล็ง   และตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่ประสงค์ดีต่อเราได้ง่ายขึ้น  พึงระวังเพื่อนต่างเพศนักฉวยโอกาสซึ่งรู้ดีว่าคนเพิ่งหย่าร้างมักรู้สึกว้าเหว่
  2.   ออกไปพบปะญาติและเพื่อนตามปกติ   เราไม่ได้ทำอะไรผิด   เราไม่ใช่จำเลย   ไม่จำเป็นต้องหนีหน้าใคร
    3.   ตอบคำถามสั้นๆ อย่างสุภาพเมื่อมีใครถามถึงการหย่า   โดยเฉพาะผู้หญิงจะถูกถามอย่างแน่นอนทันทีที่เห็นนามสกุลเดิม     คำถามแรงอาจตอบสั้นๆ ว่า   "เป็นเรื่องส่วนตัวของเราที่ได้ตัดสินใจเป็นอย่างดีแล้ว"   ถ้ายังคงถูกถามละลาบละล้วง ก็อาจตอบด้วยอารมณ์สงบว่า   "ขอโทษเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างเราสองคน   ขอไม่พูดค่ะ"   แล้วเปลี่ยนไปพูดเรื่องงาน   หรือเรื่องอื่นใดที่เหมาะสมไปเสียเลย     คำถามเรื่องลูกเป็นคำถามที่แสดงค่านิยม ตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของผู้ถาม   อันที่จริง เขาก็มีเจตนาดี ห่วงใยเด็ก  ถ้าเป็นญาติ หรือเพื่อนสนิท ที่เคยรู้ปัญหาชีวิตสมรส ของเรามาก่อน   อาจชี้แจงสั้นๆ ว่า  การหย่าเป็นทางเลือก ที่ตนได้พิจารณารอบคอบแล้วว่า เหมาะสมที่สุด ในสถานการณ์ของตน   ส่วนบุคคลภายนอกที่ห่างตัว ไม่จำเป็นต้องอธิบาย   อาจบอกสั้นๆ แต่เพียงว่า  "เราได้เตรียมการทุกอย่างสำหรับลูกอย่างดีที่สุดแล้ว"
4.   ปฏิบัติต่อลูกด้วยความรักและให้ความอบอุ่นเหมือนเดิม  
ไม่ว่าเราจะเป็นผู้อยู่หรือผู้จากไป  ถ้าเป็นฝ่ายจากไปลูกอาจมีปฏิกิริยาบ้างเมื่อพบกัน   ให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา  อย่าแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบต่อลูกในทางลบเป็นอันขาด   เด็กจะค่อยๆ เข้าใจเอง และรับรู้ว่าเรายังรักเขาเหมือนเดิม
5 พยายามรักษาสภาพความเป็นอยู่ให้ใกล้เคียงชีวิตครอบครัวเดิมของลูก ให้มากที่สุดเท่าที่สถานการณ์จะเอื้ออำนวยให้ได้   เพื่อมิให้เด็กรู้สึกว่า   เมื่อเขาขาดพ่อ หรือแม่ของเขาไป  เขาจะต้องขาดทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดสิ้น   ถ้าเคยออกไปเดินเล่น สวนสาธารณะทุกวันอาทิตย์เป็นประจำ  ก็ควรพาเขาออกไปเช่นเคย
   6.   อย่าห้ามลูกมิให้พูดถึงพ่อหรือแม่ที่เขาขาดไป   เด็กมีสิทธิ์คิดถึงพ่อ หรือแม่ของเขา และคิดอยากให้กลับมา  ควรให้โอกาสเขาระบายความรู้สึก   เข้าใจ และเห็นใจในความต้องการของเขา  แล้วเขาจะถูดถึงน้อยลงเองตามเวลาที่ผ่านไป
7.   อย่ารีบร้อนแสดงหาคนรักใหม่เพื่อแทนที่คนเก่า ยามเหงา  ยามเศร้า   คนเรามักตัดสินใจ ผิดพลาดได้ง่าย  แต่พ่อม่าย และแม่ม่าย ก็ไม่จำเป็นต้อง "เข็ด"  ไปจนตาย เพียงแต่ควรพิจารณาให้รอบคอบยิ่งขึ้น

    การหย่าร้างไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยความว้าเหว่อย่างถาวร  ถ้าเราใฝ่แสดงกิจกรรม สร้างสรรค์แก่ตน และสังคม  บางคนค้นพบความถนัด และได้ใช้ศักยภาพของตน อย่างเต็มที่ ภายหลังการหย่าร้าง

พญ.สุพัฒนา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา

 
 

[ ที่มา...http://www.elib-online.com/doctors/mental_divorce1.html ]

URL Link : http://www.elib-online.com/doctors/mental_divorce1.html

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]