บทความเกี่ยวกับ ครอบครัว
คนเป็นคนที่ - 2318 [Date : 17 เม.ย. 2553 ]   
 
สาเหตุการเป็นภรรยาน้อย
 
วันที่ 17 เม.ย. 2553   โดย นงพงา ลิ้มสุวรรณ
 
 
สาเหตุการเป็นภรรยาน้อย
 

สาเหตุการเป็นภรรยาน้อย



วัตถุประสงค์ ของการศึกษาวิจัยครั้งนี้เพื่อสำรวจหาปัจจัยหรือหาสาเหตุที่เป็นแรงจูงใจ หรือผลักดันให้ผู้หญิงเป็นภรรยาน้อยและยังคงเป็นภรรยาน้อยอยู่ต่อไป

วิธีการศึกษา ผู้ศึกษาได้เก็บข้อมูลจากผู้ป่วยที่มาขอรับการบำบัดรักษาที่คลินิกจิตเวช และมีสถานภาพเป็นภรรยาน้อยจำนวน 20 รายโดยวิธีการสัมภาษณ์และตรวจสภาพจิต เพื่อการวินิจฉัยทางจิตเวช และได้ใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบลึกถึงข้อมูลพื้นฐานของบุคลิกภาพ ปัจจัยหรือสาเหตุที่ชักจูงหรือผลักดันให้มาเป็นภรรยาน้อย ตลอดจนความเห็น ความรู้สึกต่างๆ ต่อสถานภาพการเป็นภรรยาน้อย ข้อมูลได้รับเก็บและวิเคราะห์อย่างมีระบบ

ผลการศึกษา พบว่าเหตุผลของการเป็นภรรยาน้อยตามที่ตัวผู้ให้สัมภาษณ์ตอบได้เอง คือต้องการความรักความอบอุ่นและอยากมีที่พึ่งพิงทางใจ ถูกสามีหลอกหรือฉุดไปข่มขืนหรือหลอกว่า ยังไม่มีภรรยา ต้องการเงินหรือมีผู้อุปการะ และสาเหตุอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ส่วนปัจจัยที่ได้จากการวิเคราะห์ จากประวัติและคำให้สัมภาษณ์คือ ภรรยาน้อยเหล่านี้มีปัญหาทางบุคลิกภาพที่มีส่วนผลักดัน หรือทำให้ไม่เลิกจากการเป็นภรรยาน้อย กล่าวคือบุคคลเหล่านี้มักมีบุคลิกภาพต้องการพึ่งพาคนอื่นสูง รู้สึกเศร้าง่าย มีวุฒภาวะไม่สมอายุ หุนหันพลันแล่น ชอบเรียกร้องความสนใจ

สรุปผลการศึกษา การขาดความรักความอบอุ่นในวัยเด็ก หรือความผิดหวังในคู่ครองคนก่อน ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้พยายามแสวงหาความรักความอบอุ่นจากสามี แม้ต้องเป็นภรรยาน้อยก็ยอม ปัญหาบุคลิกภาพและความยากจนก็เป็นปัจจัยสำคัญ สิ่งที่จะช่วยป้องกันคือการเลี้ยงดูเด็กให้มีความอบอุ่น มีครอบครัวที่อบอุ่น มีบุคลิกภาพที่ดีมีความสามารถที่จะเลือกคู่ครองได้อย่างเหมาะสม นอกเหนือจากการเลี้ยงดู และการมีครอบครัวที่อบอุ่น ระบบการศึกษาที่ดีช่วยอบรมและส่งเสริมให้เกิดบุคลิกภาพที่ดี มีวุฒิภาวะสมวัย สามารถมีความคิดแบบมีวิจารณญาณ มีการตัดสินใจที่ถูกต้องเหมาะสมก็จะช่วยป้องกันได้ ส่วนที่รัฐจะช่วยได้คือแก้ปัญหา ความยากจนของประชากรให้ได้ผลก็จะช่วยลดปัญหานี้ได้อีกส่วนหนึ่ง อย่างแน่นอน

บทนำ

ปัญหาอย่างหนึ่งในสังคมไทยที่บ่อนทำลายความมั่นคงของสถาบันครอบครัว คือ ปัญหาภรรยาน้อย ปัญหานี้พบเห็นได้ดาษดื่น มีคนได้รับความทุกข์ทรมานจากปัญหานี้มาก โดยเฉพาะภรรยาหลวงและลูก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสามีและภรรยาน้อยจะไม่มีความทุกข์เสียเลยทีเดียว โดยสรุปทุกคนเกี่ยวข้อง ย่อมได้ผลกระทบจากปัญหานี้ไม่มากก็น้อยเสียสุขภาพจิตกันไปหมดไม่มากก็น้อย อาจจะมีเพียงส่วนน้อย ในยุคปัจจับันที่เรื่องนี้ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตกับผู้เกี่ยวข้องโดยทุกคนยอมรับภาวะเช่นนี้ได้ ถึงแม้ว่าจากประวัติศาสตร์ไทยและจากวรรณคดีไทยต่างๆ เช่น พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน ได้บ่งบอกว่าผู้หญิงไทยยุคก่อนนั้นยอมรับการมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนของชายไทยก็ตาม แต่ในยุคปัจจุบันค่านิยมในสังคมไทยได้เปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมตะวันตกคือผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ ไม่ยอมรับการมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนของชายไทย จึงเป็นเหตุให้จิตแพทย์ได้รับการปรึกษา จากครอบครัวที่มีปัญหานี้อยู่บ่อยครั้ง ทำให้ผู้เขียนเกิดแรงจูงใจที่จะศึกษาวิจัยปัญหานี้ในสังคมของเรา ขณะที่ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ผู้ศึกษาไม่สามารถหาตัวเลขว่ามีชายไทยจำนวนเท่าใดที่มีภรรยาน้อยเพราะไม่มีผู้ศึกษาไว้ แต่มีตัวเลขในสหรัฐอเมริกาอ้างไว้ในหนังสือ The Anatomy of Relationships ของ Michael Argyle และ Monika Henderson หน้า 149 ว่ามีการศึกษาในคนอเมริกัน 16,000 คนพบว่าผู้ชาย 50% มีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่นไม่ใช่ภรรยาของตน (extra-marital affair) ซึ่งความหมายไม่ตรงทีเดียวนัก กับการมีภรรยาน้อยในสังคมของเราผู้เขียนคิดว่าน่าจะตรงกับการมีชู้มากกว่า เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้อยู่กินกัน เช่นสามีภรรยา อาจเป็นเพียงความสัมพันธ์ลับๆ ชั่วคราวแล้วเลิกกันไป

แม้จะเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า เป็นปัญหาที่พบบ่อยมีความสำคัญต่อสถาบันครอบครัว มีความสำคัญต่อสังคม มีความสำคัญทางคลินิก แต่ก็พบว่าไม่เคยมีการศึกษาเรื่องนี้เลยในประเทศไทยว่า ทำไมปัญหานี้จึงเกิดขึ้น มีปัจจัยอะไรเกี่ยวข้อง เหตุใดจึงมีมากในสังคมไทย แต่กลับมีน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลยในประเทศตะวันตก จึงไม่มีเอกสารอ้างอิงเรื่องนี้ในลักษณะเดียวกับการศึกษานี้ จากประเทศตะวันตกด้วย ทั้งนี้โดยผู้เขียนได้ค้นหา จากการค้นหางานวิจัยโดย MEDLINE ตั้งแต่ปี 1966-1994 (28 ปี) และค้นหาจากฐานข้อมูล J-dex ซึ่งรวบรวมบทความทางการแพทย์ภาษาไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2494-2533 (39 ปี) จัดทำโดยหอสมุดคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ไม่พบการศึกษาเรื่องภรรยาน้อยเลย การศึกษาครั้งนี้น่าจะเป็นการศึกษาครั้งแรกในประเทศไทย

เหตุผลหนึ่งที่น่าจะทำให้ไม่มีใครทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้มาก่อน ก็คือ มีความยากลำบากในการศึกษา ประการแรกเป็นการยากที่จะหาประชากรภรรยาน้อยมาศึกษา เพราะผู้ที่เป็นภรรยาน้อยจะไม่ยอมเปิดเผยตัวเอง เนื่องจากความอายไม่ต้องการให้ภรรยาหลวงทราบ หรือไม่ต้องการทำให้สามีตกอยู่ในฐานะลำบาก ในการศึกษาครั้งนี้ที่ได้ประชากรจำนวน 20 รายมาศึกษา ก็ต้องใช้เวลาเก็บข้อมูลนานถึง 6 ปีครึ่ง คือ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2530 ถึง 18 กุมภาพันธ์ 2537 และต้องอาศัยปัจจัยสภาพแวดล้อมจำเพาะอีกหลายประการ คือ ผู้ศึกษาเป็นจิตแพทย์ เป็นผู้ที่ภรรยาน้อยไว้วางใจ ให้การปรึกษาแก้ปัญหาให้พวกเธอเหล่านั้น และได้รับความไว้วางใจในเรื่องที่ผู้ศึกษามีจรรยาบรรณที่จะเก็บรักษาความลับของตนไว้ไม่ทำให้เกิดความอับอาย และเดือดร้อน ดังนั้นประชากรของการศึกษาครั้งนี้จึงมีข้อจำกัดว่าเป็นภรรยาน้อยที่มีปัญหาทางจิตเวช ที่มาปรึกษาผู้ศึกษาในฐานะจิตแพทย์ และผู้ศึกษาต้องใช้ประชากรที่เป็นผู้มาปรึกษาด้วยเท่านั้น เพราะต้องใช้ประชากรที่เป็นผู้มาปรึกษาด้วยเท่านั้นเพราะต้องใช้การสัมภาษณ์แบบลึกด้วยตนเองทุกราย ถึงปัจจัยต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้องและมีความเชื่อถือได้

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาครั้งแรก จึงจำเป็นจะต้องใช้การศึกษาเชิงพรรณนา (descriptive study) เพราะยังไม่มีข้อมูลพื้นฐานมาก่อน วัตถุประสงค์การศึกษาครั้งนี้ คือ หาข้อมูลพื้นฐานด้านจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด ค่านิยม วิธีคิด ปัจจัยทางสังคมและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยคาดหวังว่าผลที่ได้อาจนำไปสู่การป้องกัน เพื่อลดปัญหาภรรยาน้อยในครอบครัวและสังคม ซึ่งเป็นการช่วยให้สุขภาพจิตของผู้เกี่ยวข้องดีขึ้น ครอบครัวและสังคมโดยรวมก็จะได้รับผลดีตามไปด้วยในที่สุด

คำจำกัดความของคำว่าภรรยาน้อยในการศึกษานี้ คือ ผู้หญิงที่ใช้ชีวิตอย่างสามีภรรยา กับชายที่มีภรรยาอยู่แล้ว

วิธีการศึกษา

  • กลุ่มตัวอย่าง
เป็นผู้ป่วยหญิงทางจิตเวชจำนวน 20 ราย จากโรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งได้มาปรึกษาผู้ศึกษาในฐานะจิตแพทย์ด้วยตนเองหรือมีแพทย์สาขาอื่นส่งต่อมาปรึกษาจิตแพทย์ ด้วยเห็นว่าอาการที่เป็นอยู่ เช่น ความเครียด การนอนไม่หลับและอื่นๆ นั้นน่าจะเกิดจากปัญหาจิตใจ หรือโรคทางจิตเวช ทั้งนี้โดยแพทย์ที่ส่งต่อมาไม่ทราบว่าผู้ป่วยเหล่านี้เป็นภรรยาน้อย จากการสัมภาษณ์ และตรวจสภาพจิตเพื่อหาสาเหตุและการวินิจฉัยปัญหาทางจิตเวช ทำให้ทราบถึงฐานะการเป็นภรรยาน้อย ของผู้ป่วย เมื่อทราบแล้วผู้ศึกษาได้ขออนุญาตผู้ป่วยเรื่องการเก็บข้อมูล โดยอธิบายวัตถุประสงค์ว่า เป็นการศึกษาวิจัย และอธิบายการเก็บรักษาความลับของผู้ป่วยด้วย

  • วิธีเก็บข้อมูล
ผู้ศึกษาได้ใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบลึก (indepth interview) ถึงประวัติในอดีต ความรู้สึกนึกคิด ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เหตุผลการนำมาสู่สถานภาพการเป็นภรรยาน้อย ข้อมูลที่เก็บแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ
1. ข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ วันที่เก็บข้อมูล เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา อายุ การศึกษา ภูมิลำเนา อาชีพ รายได้ จำนวนพี่น้อง เป็นบุตรลำดับที่เท่าไรในครอบครัว
2. สภาพชีวิตคู่ว่ามีความสุขหรือความทุกข์อย่างไร ความเห็นเรื่องผู้ชายควรมีภรรยาครั้งละกี่คน ความคิดเห็นและความรู้สึกเมื่อทราบว่าตัวเองเป็นภรรยาน้อย ตลอดจนสภาพสมรสของบิดามารดาว่า บิดามีภรรยาน้อยหรือไม่ มารดาเป็นภรรยาน้อยหรือไม่ รวมทั้งการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชของประชากรที่ศึกษานี้
3. ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุผลการเป็นภรรยาน้อย ปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ชักจูงหรือผลักดันให้เป็นภรรยาน้อย บุคลิกภาพพื้นฐานเดิมซึ่งอาจมีส่วนผลักดันหรือส่งเสริมการเป็นภรรยาน้อย และอายุที่เริ่มต้นเป็นภรรยาน้อย

ผลการศึกษา

กลุ่มตัวอย่างทั้ง 20 ราย มีสัญชาติไทยและนับถือศาสนาพุทธ มีเชื้อชาติไทย 16 ราย มีเชื้อชาติไทย-จีน 2 ราย มีเชื้อชาติจีน 2 ราย ส่วนภูมิลำเนาเดิมเป็นคนกรุงเทพฯ 11 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 9 ราย ขณะแรกพบจิตแพทย์มีอายุระหว่าง 22-38 ปี โดยมีอายุต่ำกว่า 30 ปี 9 ราย อายุมากกว่า 30 ปี 11 ราย จำนวนพี่น้องมากตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มี 11 ราย โดยมาจากครอบครัวพี่น้องมาก ระหว่าง 8-11 คนถึง 5 ราย จำนวนพี่น้อง 0-3 คน มี 9 ราย เป็นลูกคนโต 4 ราย เป็นลูกคนเล็ก 2 ราย เป็นลูกคนเดียว 1 ราย จะเห็นได้ว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างคนที่เติบโตในกรุงเทพฯ หรือเติบโตที่ต่างจังหวัด และไม่แตกต่างระหว่างคนที่มีพี่น้องมากและคนที่มีพี่น้องน้อยคนส่วนลำดับว่าเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ ของครอบครัวก็กระจายตั้งแต่ลูกคนโตถึงลูกคนเล็ก

อาชีพเป็นนักเรียนนักศึกษา 2 ราย ทำงานรัฐวิสาหกิจ 2 ราย รับราชการ 3 ราย แม่บ้าน 3 ราย ทำงานอิสระหรือบริษัทเอกชน 10 ราย ซึ่งได้แสดงรายละเอียดไว้ในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 อาชีพของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 20 ราย

อาชีพจำนวน
นักเรียน นักศึกษา
ทำงานรัฐวิสาหกิจ
รับราชการ
แม่บ้าน
อาชีพอิสระและบริษัทเอกชน
นักบัญชี
นักธุรการ
นักออกแบบเสื้อสตรี
นักหนังสือพิมพ์
ช่างทำผมสตรี
เจ้าของร้านอาหาร
เจ้าของร้านขายหนังสือ
ชาวไร่มันสัมปะหลัง
2
2
3
3
10
3
1
1
1
1
1
1
1

แม่บ้าน 3 รายนี้มี 2 รายที่เดิมก่อนเป็นภรรยาน้อยก็มีอาชีพทำอยู่แล้ว
โดยคนหนึ่งเคยเป็นนางแบบและนักร้องอีกคนเคยรับราชการเป็นนักบัญชี

ระดับการศึกษาของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 ราย มีการศึกษาค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศคือ มีจบประถมศึกษาคนเดียว (ประถมศึกษาปีที่ 3) มีผู้ที่จบระดับการศึกษามัธยมหรืออาชีวศึกษามากที่สุดคือ 65% (13 ราย) และจบปริญญามากรองลงมาคือ 40% (8 ราย) โดยมีรายหนึ่งจบปริญญาโท จะเห็นได้ว่าการมีระดับการศึกษาที่สูงไม่ช่วยให้คนเหล่านี้พ้นสภาพการเป็นภรรยาน้อยเลย รายละเอียดการศึกษาได้แสดงไว้ในตารางที่ 2

ตารางที่ 2 ระดับการศึกษาของกลุ่มตัวอย่าง

ระดับการศึกษาจำนวนร้อยละ (%)
ประถมศึกษา
1
5
มัธยม
ปวช, ปวส
4
9
65
อนุปริญญา
ปริญญาตรี
ปริญญาโท
1
4
1
30


ตารางที่ 3 รายได้ต่อเดือนของกลุ่มตัวอย่าง

ระดับรายได้ต่อเดือน จำนวนร้อยละ (%)
ต่ำกว่า 5,000 บาท
5,000-9,999 บาท
10,000-19,999 บาท
มากกว่า 20,000 บาท
ไม่ยอมให้ข้อมูลเรื่องรายได้
4
6
6
3
1
20
30
30
15
5

รายได้ต่อเดือนของคนเหล่านี้พบว่ารายได้ต่ำสุดตั้งแต่ 4,450 บาท ถึงสูงสุด 40,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ไม่ได้เก็บข้อมูลแยกว่าเป็นรายได้จากการทำงานของตนเองหรือรายได้รวมกับที่สามีให้เพิ่มเติม จากข้อมูลที่เก็บได้พบว่าส่วนใหญ่มีรายได้อยู่ในเกณฑ์ดี คือ 45% (9 ราย) มีรายได้ระหว่าง 10,000-40,000 บาท 30% (6 ราย) มีรายได้ระหว่าง 5,000-9,999 บาท 20% (4 ราย) ที่มีรายได้ต่ำกว่า เดือนละ 5000 บาท มี 1 รายไม่ยอมให้ข้อมูลเรื่องรายได้ พบว่ารายได้ของทุกรายสูงกว่า รายได้ประชาชาติของประเทศไทย คือปี 2531 (ปีที่เริ่มเก็บข้อมูลของการศึกษานี้) รายได้ประชาชาติของประเทศไทย คือ 28,256 บาท ต่อปีหรือ 2,355 บาทต่อเดือน และปี 2535 รายได้ประชาชาติของประเทศ คือ 47,749 บาทต่อปี หรือ 3,979 บาทต่อเดือน ทั้งนี้จากรายงานรายได้ประชาชาติของประเทศไทย ฉบับพ.ศ.2535 ของสำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

ผลการศึกษาด้านความคิดเห็น ความรู้สึกนึกคิดในด้านต่างๆ ของกลุ่มตัวอย่างพบดังนี้ คือ ความเห็นว่าผู้ชายควรมีภรรยาได้กี่คนนั้น 50% (10 ราย) ตอบว่าผู้ชายควรมีภรรยาคนเดียว 25% (5 ราย) ตอบว่าผู้ชายควรมีภรรยาครั้งละหนึ่งคน แต่มีได้มากกว่าหนึ่งครั้ง มีเพียง 10% (2 ราย) ตอบว่า ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้มากกว่าหนึ่งคน อีก 15% (3 ราย) ไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ จะเห็นว่าภรรยาน้อยส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับการให้ผู้ชายมีภรรยาน้อยแต่ตัวเองก็เป็นภรรยาน้อยเสียเอง

ความรู้สึกต่อภาวะการเป็นภรรยาน้อยของตนพบดังนี้ มีจำนวนสูงถึง 65% (13 ราย) ที่รู้สึกผิดหรือเสียใจ มีเพียง 15% (3 ราย) ที่บอกรู้สึกเฉยๆ ไม่รู้สึกว่าผิดอะไรไม่ต้องทำอะไร 5 ราย รู้สึกโกรธที่ถูกหลอก มีบางรายที่มีความรู้สึกมากกว่าหนึ่งอย่าง คือทั้งโกรธและรู้สึกผิด มีอีก 4 รายที่ไม่ได้ตอบเป็นความรู้สึก แต่ตอบเป็นการตัดสินใจ 2 รายตอบว่า ตนจะตัดสินใจว่าจะอยู่กับสามีต่อไปหรือไม่เมื่อทราบว่า ตนเป็นภรรยาน้อย อีก 2 รายตอบว่าให้สามีเป็นคนเลือกว่าจะอยู่กับภรรยาคนไหน

เกี่ยวกับความรู้สึกของการใช้ชีวิตคู่ว่ามีความสุขความทุกข์อย่างไร ได้ผลการสำรวจว่า รู้สึกว่าความสุขและทุกข์พอๆ กันมากที่สุดประมาณหนึ่งในสามคือ 35% (7 ราย) รองลงมาคือ รู้สึกทุกข์มากกว่าสุข 25% (5 ราย) ลำดับสามคือ รู้สึกมีความสุข 20% (4 คน) รู้สึกมีความทุกข์อย่างเดียว 15% (3 ราย) และสุขมากกว่าทุกข์ 5% (1 ราย) แต่กับคำถามที่ว่า ชีวิตคู่ของตนนั้นมีปัญหาหรือไม่ทุกรายตอบว่า มีปัญหาเช่นปัญหากับภรรยาหลวง ปัญหาเงินไม่พอใช้ สามีมีเวลาให้ไม่พอ รู้สึกเครียด สามีไม่ยอมให้คบใคร บิดามารดาบังคับให้เลิกเป็นภรรยาน้อย สามีข่มขู่ว่าจะเลิก สามีไม่ยอมพาออกสังคมและอื่นๆ

การสำรวจว่าสภาพสมรสของพ่อแม่ของกลุ่มตัวอย่างนี้เป็นอย่างไร พบว่าบิดามารดาของกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ มีคู่ครองรองเพียงคนเดียวเป็นจำนวน 70% (14 ราย) มีเพียง 20% (4 ราย) ที่บิดามีภรรยาหลายคน และ 20% (4 ราย) ที่มารดาเป็นภรรยาน้อยของบิดา จะเห็นได้ว่าอุบัติการการมีภรรยาน้อย และการเป็นภรรยาน้อยนั้นสูงพอสมควร เพราะมีเพียง 70% ที่บิดามารดามีคู่ครองคนเดียว รายละเอียดเรื่องคู่ครองของบิดามารดาของกลุ่มตัวอย่างได้แสดงไว้ใน ตารางที่ 4

ตารางที่ 4 จำนวนคู่ครองของบิดามารดาของกลุ่มตัวอย่าง

ประเภทจำนวนบิดาร้อยละ (%) จำนวนมารดาร้อยละ (%)
มีคู่ครองคนเดียว
มีภรรยาน้อย
เป็นภรรยาน้อย
ไม่ตอบคำถามนี้
14
4
-
2
70
20
-
10
14
-
4
2
70
-
20
10


ตารางที่ 5 การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชของกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 20 ราย

การวินิจฉัยจำนวน
Depreesion :
15
Adjustment disorder with depressed mood
7
Major depression
4
Dysthymia (Depressive neurosis)
3
Double depression (Major depression and
depressive neurosis)
1

Personality disorder
Dependent personality disorder
2
Histrionic personality disorder
2
Psychoactive substance use disorder
2
อื่นๆ
Atypical psychosis
1
Hyperventilation syndrome (Psychological
factors affecting physical condition)
1

Dissociative disorder NOS
1

จำนวนรวมแล้วเกิน 20 ราย เพราะบางรายมีการวินิจฉัยมากกว่าหนึ่งอย่าง
ใน 20 รายนี้มี suicide attempt ร่วมด้วย 25% (5 ราย)
การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชของประชากรกลุ่มที่ศึกษานี้ประกอบไปด้วยอาการซึมเศร้ามากที่สุด คือ 15 ราย มีบุคลิกภาพผิดปกติ 4 ราย มีการใช้สารเสพติด 2 ราย และอื่นๆ อีก 3 ราย ตามรายละเอียดในตารางที่ 5

การวินิจฉัยได้ใช้หลักการวินิจฉัยของ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders ฉบับปรับปรุง (DSM-III-R) ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน

ผลการวิจัยส่วนที่สามซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการศึกษาครั้งนี้ คือ สาเหตุหรือเหตุผลที่ชักจูง หรือผลักดันให้ผู้หญิงเหล่านี้ เข้าสู่สถานภาพการเป็นภรรยาน้อย ผลการศึกษาที่ได้นั้นน่าสนใจมาก เพราะผลออกมาแตกต่างจากความรู้สึกของคนทั่วไปว่า ผู้หญิงที่ยอมเป็นภรรยาน้อยเพราะว่าเป็นวิธีที่ง่าย ที่จะมีทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนต้องการไม่ต้องมาสร้างฐานะกับสามีตั้งแต่ต้นเหมือนภรรยหลวงเพราะสามีนั้น จะมีฐานะดีแล้ว หรือพูดอีกอย่างว่าสามีนั้นสำเร็จรูปมาแล้ว ผู้เป็นภรรยาน้อยจะสบาย ไม่ลำบาก เพียงเอาเรื่องเพศเข้ามาแลกเท่านั้น ผลการศึกษากลับพบว่า สาเหตุสำคัญที่สุดคือความต้องการความรัก ความอบอุ่นและอยากมีที่พึ่งพิงทางใจ มีจำนวนถึงหนึ่งในสามคือ 35% (7 ราย) สาเหตุรองลงไปคือ ถูกสามีหลอกลวงว่ายังไม่มีครอบครัว ยังไม่ได้แต่งงาน หรือถูกสามีหลอกลวงไปข่มขืน มีจำนวนถึงเกือบหนึ่งในสาม คือ 30% (6 ราย) มีเพียงหนึ่งในสี่ คือ 25% (5 ราย) ที่สมัครใจเป็นภรรยาน้อย เพราะต้องการเงิน ต้องการผู้อุปการะและยังมีเหตุผลอื่นๆ เพียง 10% คือหนึ่งรายหอบผ้าหนีตามสามี เพราะประชดพี่สาวที่ว่าตนได้เสียกับสามีแล้วอีกหนึ่งรายยอมเป็นภรรยาน้อยเพราะต้องการให้สามีช่วย ในกิจการธุรกิจ และเรื่องส่วนตัวต่างๆ เพราะมีบุคลิกพึ่งพาผู้อื่นสูงมาก เดิมก็เคยพึ่งพามารดา แต่มารดาเสียชีวิตลงจึงหันมาพึ่งสามีโดยยอมเป็นภรรยาน้อย ในกลุ่มที่สมัครใจเป็นภรรยาน้อย ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจนั้น พบว่าทั้งหมดต้องมีภาระเลี้ยงตัวเองและครอบครัวของตน เช่น ต้องเลี้ยงดูมารดา ต้องส่งน้องเรียนหนังสือหรือมีการเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องใช้เงินรักษามาก บ้างก็มีหนี้สินอยู่ การต้องใช้เงินมากๆ ไม่สามารถไปทำอาชีพอื่นให้ได้เงินตามที่ต้องการ รายละเอียดของสาเหตุต่างๆ แสดงไว้ในตารางที่ 6

ตารางที่ 6 สาเหตุการเป็นภรรยาน้อย

ปัจจัยหลักในการเป็นภรรยาน้อยจำนวนร้อยละ(%)
ต้องการความรักความอบอุ่นและอยากมีที่พึ่งพิงทางใจ
7
35
ถูกสามีหลอก
สามีหลอกหรือฉุดไปข่มขืน
สามีหลอกว่ายังไม่มีภรรยา

4
2

20
10
ต้องการเงิน/ผู้อุปการะ
5
25
อื่นๆ
ประชดพี่สาว
ต้องการพึ่งพิงสามีในเรื่องต่างๆ

1
1

5
5

เนื่องจากกลุ่มที่หนึ่งซึ่งมีจำนวนสูงสุดมีเหตุผลว่าต้องการความรักความอบอุ่นนั้นมีปัจจัยทางจิตใจ เป็นเหตุผู้ศึกษาจึงวิเคราะห์จากข้อมูลต่อถึงสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่สภาวะรู้สึกขาดความรักขาดความอบอุ่น ในวัยผู้ใหญ่ ว่ามีต้นเหตุมาจากอะไรซึ่งน่าจะใช้ประยุกต์เพื่อการป้องกันต่อไปก็พบว่าทุกคนมีเหตุให้ ขาดความรักความอบอุ่นด้วยเหตุต่างๆ กัน ทำให้รู้สึกขาดแคลนทางจิตใจ (psychological deprivation) จนต้องมาแสวงหาเอาจากสามีแม้จะเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องและสังคมไม่ยอมรับก็ตาม พบว่ามี 2 สาเหตุใหญ่ สาเหตุแรกเป็นการขาดความรักความอบอุ่นตั้งแต่วัยเด็กมาแล้ว (4 ราย) ด้วยเหตุต่างๆ เช่น กำพร้าแม่ บิดามารดาเลี้ยงอย่างห่างเหิน ไม่ใกล้ชิดแม้จะอยู่ด้วยกัน ครอบครัวแตกแยกหย่าร้าง บ้างก็ไปเติบโต ห่างไกลบิดามารดา บางรายก็รู้สึกขาดพ่อเพราะพ่อติดสุรา เมาอาละวาด ทำให้ครอบครัวไม่อบอุ่น สาเหตุที่สองที่ทำให้รู้สึกขาดแคลนความรัก ความอบอุ่น หรือว้าเหว่ (3 ราย) คือเมื่อแต่งงานแล้ว รู้สึกผิดหวังในคู่ครอง เพราะสามีเจ้าชู้ บ้างก็ทำร้ายร่างกาย ขาดความรักความเข้าใจ ไม่ให้เกียรติเช่นไปด่าว่าอาละวาดภรรยาที่ทำงาน บ้างก็แต่งงานโดยไม่ได้รักสามีแต่บิดามารดาบังคับ

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเป็นภรรยาน้อยอีกอย่างคือ เรื่องบุคลิกภาพพื้นฐาน ของผู้ที่ในที่สุดมีสถานภาพเป็นภรรยาน้อยก็พบว่าน่าสนใจเช่นกัน เพราะเป็นแรงผลักดันอีกอย่างหนึ่ง จากการวิเคราะห์พบว่ามีปัญหาบุคลิกภาพค่อนข้างชัดเจนมาก (personality trait) ถึง 85% (17 ราย) ในจำนวนนี้มีปัญหาบุคลิกภาพมากถึงขั้นผิดปกติ 20% (4 ราย) คือเป็น Dependent personality disorder 10% มีเพียง 15% (3 ราย) ที่มีบุคลิกภาพ "ปกติ" คือไม่เห็นความผิดปกติชัดเจนแต่ถึงกระนั้นก็ตามทุกราย มีลักษณะเป็นตัวของตัวเองน้อย มีลักษณะยอมคน (passive) และมีลักษณะต้องการพึ่งพาผู้อื่น เพียงแต่ไม่มากถึงกับเป็น dependent personality trait ใน 3 ราย ที่เรียกว่า "ปกติ"

ใน 85% ที่มีปัญหาของบุคลิกภาพ พอสรุปได้ว่ามี personality trait ที่เห็นได้ชัดเจนคือ -dependent มีความต้องการพึ่งพาผู้อื่นสูง -depressive รู้สึกเศร้าง่าย และบ่อย -poor self-esteem รู้สึกตัวเองไม่ค่อยมีคุณค่า -immature มีวุฒิภาวะต่ำกว่าอายุ -impulsive มีลักษณะหุนหันพลันแล่น -histrionic มีปฏิกิริยาต่อสิ่งต่างๆ มากเกินเหตุและชอบเรียกร้อง ความสนใจ

ปัจจัยต่อไป คือ เรื่องอายุที่เริ่มต้นการเป็นภรรยาน้อยพบว่าส่วนใหญ่มากถึง 70% (14 ราย) เริ่มเมื่อมีอายุระหว่าง 20-30 ปี เริ่มเป็นภรรยาน้อยเมื่ออายุน้อยกว่า 20 ปีมีเพียง 15% (3 ราย) เริ่มเป็นภรรยาน้อยเมื่อสูงกว่าอายุ 30 ปีก็มีเพียง 15% (3 ราย) ตามใน ตารางที่ 7

ตารางที่ 7 อายุที่เริ่มเป็นภรรยาน้อย

อายุ จำนวนร้อยละ (%)
ต่ำกว่า 20 ปี
20-30 ปี
มากกว่า 30 ปี
3
14
3
15
70
15


เพื่อให้เห็นถึงปัจจัยต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้นในกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา ผู้เขียนจะ ยกตัวอย่างประกอบสัก 4 ราย

รายที่ 1 ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่เป็นภรรยาน้อยเพราะต้องการความรัก ความอบอุ่นจากสามี ผู้ป่วยอายุ 22 ปี จบ ปวช. เป็นคนกรุงเทพฯ ทำงานการเงินในรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งได้เงินเดือน 5600 บาท แต่งงานกับสามีคนแรก ได้ 3 ปี ไม่มีความสุขเพราะสามีเจ้าชู้มาก มีผู้หญิงอื่นเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตลอดเวลาซ้ำบางครั้งสามีก็ไปเอะอะ โวยวายที่ทำงาน ไม่ให้เกียรติ บางครั้งก็ทำร้ายร่างกายผู้ป่วย ผู้ป่วยจึงออกเที่ยวดื่มเหล้าแล้ว มาพบสามีคนปัจจุบันซึ่งมีภรรยาอยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยเห็นเป็นผู้ใหญ่ อยากให้สามีเป็นที่พึ่ง อยากได้ความรักความเข้าใจ จึงเลิกกับสามีคนแรกมาอยู่กับสามีคนปัจจุบัน แม้จะรู้สึกผิดและเสียใจ เพราะรู้ว่าสามีก็มีภรรยาอยู่แล้วก็ตาม

รายที่ 2 เป็นผู้ป่วยอีกรายที่ต้องการความรัก เพราะขาดความรักความอบอุ่นตั้งแต่เด็ก ผู้ป่วยอายุ 26 ปี แพทย์ทั่วไปส่งต่อจิตแพทย์เพราะได้พยายามฆ่าตัวตายด้วยยาฆ่าแมลงและน้ำยาซักผ้าขาวไฮเตอร์ เนื่องจากสามีบอกเลิกเพราะภรรยาหลวงทราบแล้วบังคับให้สามีเลิกกับผู้ป่วย ประวัติตั้งแต่เด็กเติบโตมา อย่างรู้สึกว่าไม่มีใครรักใครสนใจ แม่ขายขนม มีนิสัยดุ ตีรุนแรง บางครั้งถึงหัวแตก แขนบวม พ่อก็เมาเอะอะ หยาบคายบ่อยๆ ระยะหลังพ่อก็ไปบวชกว่าสิบปีแล้ว ผู้ป่วยไม่ใกล้ชิดทั้งพ่อและแม่รู้สึกว่าต้องต่อสู้ชีวิตมามาก มาพบสามีเพียงสองเดือนก็มีความสัมพันธ์กันโดยไม่รู้ว่าสามีมีภรรยาแล้วเพราะถุกใจในความเป็นคนสุภาพ ไม่เหมือนพ่อตนและเข้าใจผู้ป่วยทุกอย่าง ผู้ป่วยว่ายินดีเป็นภรรยาน้อยจะเป็นฝ่ายไปหาสามีที่ทำงานแล้ว กลับบ้านด้วยกัน บางทีก็ให้เพื่อนโทรไปหาสามีที่บ้าน สามีไม่เคยให้เงินผู้ป่วย ผู้ป่วยรับราชการ มีเงินเดือน 10,000 บาท ผู้ป่วยมีความคิดว่าสามีไม่ควรต้องเลิกกับตนเลย คิดว่าภรรยาหลวงน่าจะยอมรับได้ ไม่รู้สึกผิดที่มีความสัมพันธ์กับสามีซึ่งมีภรรยาอยู่แล้ว

รายที่ 3 ซึ่งเป็นภรรยาน้อยเพราะถูกสามีหลอกไปข่มขืนในโรงแรม และเป็นคนมีปัญหาบุคลิกภาพ แบบ Histrionic personality disorder และได้รับการวินิจฉัยเป็น Dissociative disorder ด้วย ผู้ป่วยอายุ 22 ปี จบปริญญาตรี ทำงานธนาคาร ได้เงินเดือน 12,000 บาท เป็นคนจังหวัดกำแพงเพชร มาอยู่โรงพยาบาล ด้วยอาการหายใจหอบเหนื่อยเพราะเครียดงานเร่ง หาเอกสารไม่พบ เข้าโรงพยาบาลบ่อยๆ ในระยะ 2 เดือนนี้ ผู้ป่วยให้ประวัติว่าสามีมาหาที่หอพักขณะเป็นนักเรียนได้สองครั้ง แล้วอาสาพาผู้ป่วยไปโทรศัพท์ทางไกล กลับบ้านต่างจังหวัด แล้วชวนผู้ป่วยไปรับประทานอาหารต่อแล้วขับรถเข้าโรงแรมม่านรูดเลย ผู้ป่วยตกใจครั้งแรกไม่ยอมลงจากรถ แต่สามีบอกว่าเพียงแต่จะหาที่เงียบๆ คุยกันเฉยๆ พอเข้าไปในโรงแรมสามีก็ข่มขืน ได้พยายามต่อสู้แต่ไม่ไหว ไม่ได้ร้องให้คนช่วยเพราะทำอะไรไม่ถูก คิดว่าตอนนั้นตัวเองยังเด็ก (อายุ 19 ปี) หลังจากนั้นก็โกรธสามีอยู่ 6-7 เดือน แล้วจึงมีความสัมพันธ์กัน เรื่อยมาอีก เพราะคิดว่าเป็นภรรยาเขาแล้วอยากมีสามีคนเดียวและสามีก็บอกจะเลิกกับภรรยาคนแรก เพราะไม่ได้รักกัน แต่แต่งงานกับภรรยาคนแรกเพราะธุรกิจ ผู้ป่วยยอมรับว่าระยะหลังก็รัก และชอบสามีมากเพราะเป็นผู้ใหญ่ อายุมากกว่าผู้ป่วย 17 ปี เป็นที่พึ่งได้เป็นเหมือนพ่อด้วย เช่นมาอยู่โรงพยาบาลก็มาดูแลและเสียค่าใช้จ่ายให้ นอกจากนั้นผู้ป่วยยังบอกว่าตัวเองมีเทพผู้หญิง มาอยู่ในตัว 2 ปีแล้ว มาคอยบอกเวลาจะเกิดอันตราย เช่น ให้ไปรถทัวร์เที่ยวนั้นเพราะจะได้ไม่เกิดอุบัติเหตุ จะช่วยคนอื่นได้ บางครั้งก็เห็นผู้หญิงแก่นุ่งขาวห่มขาว เดินเฉียดให้เห็น ผู้ป่วยคิดว่าเป็นเทพองค์นั้น แต่ไม่เคยเห็นหน้าตรงๆ แต่ถ้าหลับตาจะเห็นหน้าผู้หญิงไว้ผมมวย บางครั้งก็หลับตาแล้วพูดโต้ตอบได้ ตลอดเวลาที่สัมภาษณ์ผู้ป่วยมีท่าทางมาก บางครั้งระทดระทวย สยายผม เล่นผมยาวของตน หน้าตาค่อนข้างสวย ขณะสัมภาษณ์ผู้ป่วยยังรอว่าสามีจะเลิกกับภรรยาซึ่งก็รอมา 3 ปีกว่าแล้ว แต่ผู้ป่วยยังเชื่อว่า สามีจะเลิกกับภรรยาคนแรกแน่ๆ

รายที่ 4 เป็นภรรยาน้อยด้วยเหตุผลที่ต้องการเงิน ต้องการผู้อุปการะ เป็นผู้ป่วยหญิงอายุ 35 ปี เป็นคนกรุงเทพ จบการศึกษาปริญญาตรี ทำงานเป็นครู มีหน้าตาสะอาด สูงโปร่ง แต่งตัวดี มาโรงพยาบาลเพราะรู้สึกเศร้า นอนไม่หลับ อยากตาย ผู้ป่วยให้ประวัติว่าเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน และแตกแยก พ่อแม่เดี๋ยวก็อยู่ด้วยกันเดี๋ยวก็เลิกกัน ผู้ป่วยต้องดิ้นรนหาเงินเองตั้งแต่เรียน ป.4 การเรียนก็เรียนๆ หยุดๆ ต้องทำงานดึกๆ พบผู้ชายหลายคนที่คอยช่วยเหลือ บางครั้งก็ตอบแทน โดยมีเพศสัมพันธ์ด้วยกับบางคน ปัจจุบันอยู่กับผู้ชายอายุ 50 กว่าปีมีภรรยาอยู่แล้ว ผู้ป่วยพอมีเงินก็พยายามโอบอุ้มแม่น้อง 4 คน และยาย ส่วนพ่อไม่ทราบไปอยู่ที่ไหนนานมาแล้ว ผู้ป่วยรู้สึกเหน็ดเหนื่อยมาก เบื่อหน่าย เพราะทุกคนสร้างปัญหาให้ เช่น น้องก็ทำหนี้สิน ขับรถชนคนตาย ต้องชดใช้ให้ ผู้ป่วยรู้สึกไม่มีใครเห็นใจ ไม่มีใครพยายามทำให้ผู้ป่วยสบายใจบ้างเลย และรู้สึกผิดที่มีความสัมพันธ์อยู่กินกับผู้ชายที่มีครอบครัวแล้ว และก็ไม่ได้สนใจเรื่องเพศจากสามี รู้สึกอยากมีพ่อ อยากให้สามีกอดก็มีความสุขแล้ว ดังนั้นในรายนี้ที่จริงนอกจากต้องการเงินแล้ว ก็ยังต้องการความรักความอบอุ่นด้วย เพราะรู้สึกขาดแคลนตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะความรู้สึกขาดพ่อ
อภิปราย

ผลการศึกษาทำให้กระจ่างชัดขึ้นถึงสาเหตุ เหตุผล และปัจจัยชักนำผู้หญิงไทยจำนวน 20 คน เข้าสู่สภาวะการเป็นภรรยาน้อย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ต่างจากความเข้าใจของคนทั่วไปอย่างค่อนข้างชัดเจน แสดงให้เห็นถึงว่ามีปัจจัยมากมายหลายอย่าง ไม่ใช่จากเหตุผลทางเศรษฐกิจเพียงประการเดียว ตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน เหตุผลประการสำคัญนั้นเกี่ยวกับความต้องการด้านจิตใจของหญิงเหล่านี้ และที่น่าเป็นห่วงสำหรับสังคมและครอบครัวทั่วไป คือการที่ผู้หญิงถูกหลอกลวงหรือหลอกลวงไปข่มขืน ก่อนเป็นภรรยาน้อย ทำให้มีลักษณะตกกระไดพลอยโจนหลังจากนั้นเพราะผู้หญิงไทยจำนวนหนึ่งยังมีค่านิยมว่า เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายคนไหนแล้วก็ไม่ควรไปแต่งงานกับคนอื่นอีกแม้ผู้ชายคนแรกจะหลอกลวงตนก็ตาม นอกจากนั้นบุคลิกภาพที่บกพร่องต่างๆ มีส่วนช่วยเสริมสภาพการเป็นภรรยาน้อยอย่างมากพอควร เช่น การเป็นคนชอบพึ่งพาผู้อื่นก็ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจเลิกการเป็นภรรยาน้อยเสีย การไม่มีวุฒิภาวะสมอายุ ทำให้ถูกหลอกลวงได้ง่าย เชื่อคนง่าย ไม่รู้จักระมัดระวังให้เพียงพอ หรือทำให้ดุลยพินิจในการพิจารณาว่า ผู้ชายคนไหนสามารถไว้ใจเพียงใดบกพร่องไป แต่ความยากจนและปัญหาที่ผู้หญิงเหล่านี้ ต้องแบกรับภาระเลี้ยงตัวเอง บิดามารดา พี่น้องก็ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญอยู่ แต่ความถี่รองเป็นลำดับสาม จากการวิจัยในประชากรกลุ่มนี้ ส่วนปัจจัยเรื่องช่วงอายุที่เริ่มต้นการเป็นภรรยาน้อยมากที่สุด ระหว่างอายุ 20-30 ปีนั้น ก็ชี้ให้เห็นว่าแม้อายุจะบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การยับยั้งชั่งใจต่างๆ ก็ยังไม่ดีพอซึ่งอธิบายได้จากความบกพร่องทางบุคลิกภาพต่างๆ ที่กล่าวมา ทั้งนี้แม้ว่าปัจจัยต่างๆ มากมายมีอิทธิพลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ เช่น ปัจจัยทางชีวภาพ พื้นฐานทางอารมณ์ของเด็กอิทธิพลของพันธุกรรม แต่ก็มีปัจจัยที่สำคัญมากเช่นกันคือการเลี้ยงดูเด็ก ปัญหาครอบครัวนั้นมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของบุคลิกภาพแน่นอน

จะเห็นได้จากผลการศึกษาว่าภรรยาน้อยเหล่านี้ส่วนใหญ่รู้สึกผิด รู้สึกโกรธต่อสภาพการเป็นภรรยาน้อย แต่ก็ยังคงเป็นต่อไป ยิ่งเป็นการสนับสนุนว่าเป็นปัญหาบุคลิกภาพ ความต้องการทางจิตใจ การต้องการเงิน ทำให้คนเหล่านี้ไม่เลิกการเป็นภรรยาน้อยเสีย แม้ตัวเองจะรู้สึกขัดแย้งไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้ชายมีภรรยาน้อยก็ตาม เป็นการยืนยันค่านิยมส่วนใหญ่ของผู้หญิงไทยในปัจจุบัน ที่ไม่ยอมรับการมีภรรยาหลายคนของสามี

เหตุผลอีกประการหนึ่ง ที่สนับสนุนว่าภรรยาน้อยเหล่านี้ไม่มีความเข้มแข็งในตัวเอง ไม่กล้าตัดสินใจ มีปัญหาบุคลิกภาพคือ เมื่อสำรวจความรู้สึกทุกข์สุขของชีวิตคู่ พบว่ามีความทุกข์มากกว่าสุข หรือเพียงทุกข์สุขพอๆ กันถึง 75% (15 ราย) และทุกรายยังยอมรับว่าชีวิตแบบนี้มีปัญหา แต่ก็ยังคงอยู่ในความสัมพันธ์นี้ต่อไป

  • ข้อจำกัดของการศึกษา
ข้อจำกัดของการศึกษาครั้งนี้อาจมาจากที่ว่ากลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีอาการ หรือโรคทางจิตเวช ซึ่งอาจเป็นข้อท้วงติงว่าอาจไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงของภรรยาน้อยทั้งหมดในสังคมไทย ซึ่งอาจเป็นเช่นนั้นก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างเหล่านี้อาจเป็นตัวแทนได้เช่นกัน เพราะโรงทางจิตเวชของกลุ่มตัวอย่าง ดูเหมือนไม่มีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์เป็นภรรยาน้อยมากนัก เพราะโรคซึมเศร้าก็พบมาก ในเพศหญิงมากกว่าชาย และพบว่าโอกาสตลอดชีวิตที่จะเกิดโรคทางอารมณ์ทุกชนิด (affective disorder) นั้นประมาณ 20% ในผู้หญิงและประมาณ 10% ในผู้ชาย และถ้าให้ความหมายโรคซึมเศร้าโดยกว้างๆ แล้ว โอกาสที่จะเกิดอาการในตลอดชีวิตนั้นมีผู้ประมาณไว้ว่าอาจสูงถึง 30% และอีกประเด็นหนึ่งคือ โรคทางจิตเวชของกลุ่มตัวอย่างนั้นเกิดขึ้นภายหลังการเป็นภรรยาน้อยทั้งสิ้น เพียงแต่ทำให้อธิบายได้ว่า ภรรยาน้อยกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งมีการปรับตัวที่ไม่ดีด้วยบุคลิกภาพที่มีปัญหาทำให้ต้องมาพบจิตแพทย์ ส่วนภรรยาน้อยนอกกลุ่มนี้อาจมีการปรับตัวที่ดีกว่า เพราะอาจมีบุคลิกภาพที่ดีกว่า หรือแม้จะมีปัญหาทางจิตเวชก็อาจไม่มาถึงมือจิตแพทย์เพราะปกติแล้วมีผู้ป่วยทางจิตเวชเพียงไม่ถึง 20% ที่ได้รับการดูแลรักษาจากหน่วยงานที่เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิต

ข้อจำกัดอีกประการ ได้แก่ จำนวนภรรยาน้อยที่ศึกษามีเพียง 20 ราย แต่จะเห็นได้ว่า แม้เพียง 20 รายยังต้องใช้เวลาถึง 6 ปีครึ่ง จึงสามารถเก็บข้อมูลได้ครบ 20 ราย ซึ่งก็เป็นความยากลำบากของการศึกษาครั้งนี้ดังที่ได้กล่าวแล้ว

  • ประโยชน์
ประโยชน์ ที่ได้รับจากการศึกษาครั้งนี้ คือ การนำต้นเหตุที่พบไปแก้ไข ไม่ให้เกิดเหตุชักนำ หรือเกิดน้อยลง คือ

1. การช่วยให้ครอบครัวมีความสงบสุข ทำให้บิดามารดาเลี้ยงบุตรใกล้ชิด ให้บุตรได้รับความรัก ความอบอุ่นทางจิตใจ ไม่นำบุตรไปให้คนอื่นเลี้ยงดู ไม่นำเด็กเล็กไปอยู่โรงเรียนประจำ

2. ในการเลี้ยงดูบุตร บิดามารดาควรอบรมบ่มนิสัยให้เกิดบุคลิกภาพที่ดี เช่น มีความเป็นตัวของตัวเอง มีวิจารณญาณที่ดี ให้บุตรรู้เท่าทันคนโดยมีวุฒิภาวะให้สมอายุ ไม่หุนหันพลันแล่น ไม่หลงเชื่อคนง่ายๆ โดยไม่ตรวจสอบ ให้มีความสามารถเลือกคู่ครองให้ดีจะได้ไม่ผิดหวังในคู่ครอง

3. ในระดับชาติการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งก็เป็นปัญหาระดับชาติอยู่แล้ว ยังมีความสำคัญมากๆ ว่า ทำอย่างไรให้ประชากรในชาติที่เป็นผู้ใหญ่สามารถช่วยตัวเองได้ เลี้ยงตัวเองได้ สามารถเลี้ยงบุตรได้ ไม่ต้องเป็นภาระให้บุตรคนใดคนหนึ่งเลี้ยงดูทั้งครอบครัว ทำให้ลูกสาวต้องไปเป็นภรรยาน้อย ต้องไปเป็นโสเภณี ปัญหาความยากจนของประชากรจากเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ นั้นมีความยากจนในประชากรถึง 21.17% ในปี 2531 (ปีที่ผู้ศึกษาเริ่มเก็บข้อมูลวิจัย)

4. ปัญหาที่คิดว่าน่าจะเป็นปัญหาระดับชาติอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องการศึกษาจะเห็นได้จาก ในตัวอย่างการศึกษาครั้งนี้ว่าเป็นผู้มีการศึกษามากกว่าภาคศึกษาบังคับ คือประถมศึกษาปีที่ 6 ถึง 95% แต่การศึกษาดูเหมือนไม่ได้ช่วยให้คนเหล่านี้มีวุฒิภาวะดีขึ้น ไม่ช่วยให้เป็นคนที่มีการตัดสินใจที่ดีขึ้น จึงเป็นคำถามว่า ระบบการศึกษาน่าจะมีส่วนช่วยได้อย่างไรบ้าง ต่อการเสริมสร้างบุคลิกนิสัย ที่จะเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง ไม่เพียงศึกษาให้ได้ใบรับรองระดับการศึกษาต่างๆ เท่านั้นผู้วิจัยมีความเห็นว่ามีความล้มเหลวในระบบการศึกษาของสังคมเราอย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง

5. ประโยชน์สูงสุดของการวิจัยครั้งนี้คือ ถ้าลดปัญหาภรรยาน้อยได้ ก็จะลดปัญหาครอบครัว ของภรรยาหลวงอย่างมาก เพราะปกติแล้วผู้ที่เครียดมากจากปัญหานี้จนเกิดอาการและโรงทางจิตเวช จนต้องมาพบจิตแพทย์บ่อยกว่าภรรยาน้อยมากคือ ภรรยาหลวงและลูกๆ ที่ได้รับผลกระทบแล้ว ก็สร้างวัฏจักรใหม่คือ บุตรก็จะมีครอบครัวที่แตกแยกไม่อบอุ่น ทำให้เกิดปัจจัยเป็นโรคขาดความรัก ขาดความอบอุ่นในรุ่นลูก พอลูกโตก็สร้างปัญหาให้ตนเองและสังคมต่อไปไม่รู้จักจบ ได้มีการศึกษาถึงปัญหาสุขภาพจิตของภรรยาหลวงในประเทศไทย โดยคุณจารุวรรณ ต.สกุล รายงานไว้ว่าภรรยาหลวง 23 ราย ที่มารักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในปี พ.ศ.2529 พบว่ามีอาการต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ คิดมาก นอนไม่หลับ ซึมเศร้า หงุดหงิด ฉุนเฉียว พยายามฆ่าตัวตาย บ้างก็ทำร้ายสามี บ้างก็คิดทำร้ายบุตรด้วย มากกว่า 60% ของภรรยาหลวงได้รับการวินิจฉัย เป็นโรควิตกกังวลและซึมเศร้า (Anxiety with depression) และโรคประสาทวิตกกังวล (Anxiety neurosis) ในเมืองไทยยังมีการศึกษาของ นายแพทย์ สุชาติ พหลภาคย์ ที่ได้สนับสนุนว่าปัญหาในชีวิตสมรส ได้เป็นสาเหตุของโรคทางจิตเวชในคู่สมรส เช่น โรคซึมเศร้า (Major depression) โรค dysthymia และโรคการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment disorder) ฉะนั้นการป้องกันหรือการลดปัญหาในชีวิตสมรส ย่อมให้ประโยชน์มากอย่างไม่ต้องสงสัย

  • ข้อเสนอแนะสำหรับงานวิจัยในอนาคต
เนื่องจากการศึกษาครั้งนี้ยังมีจุดอ่อนดังได้กล่าวไว้ข้างต้น ควรจะมีการศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้น โดยอาจเก็บตัวอย่างมากขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลามากถ้าทำโดยจิตแพทย์คนเดียว ถ้าจิตแพทย์หลายๆ คน ร่วมมือกันทำวิจัยก็จะทำให้ได้ประชากรสำหรับการศึกษามากเท่าที่ต้องการในเวลาที่สั้นลง โดยต้องมีการเตรียมวิธีเก็บข้อมูลให้ครบถ้วน เชื่อถือได้ ให้เหมือนกับที่เก็บโดยจิตแพทย์คนเดียวกัน และถ้าจะมีทางใดที่เป็นไปได้ก็น่าจะเก็บข้อมูลจากประชากรภรรยาน้อยที่ไม่ใช่ผู้ป่วยทางจิตเวช ซึ่งผู้ศึกษายังมองไม่เห็นว่าจะทำได้อย่างไรในขณะที่เขียนนี้ จึงฝากไว้ให้ผู้ที่ต้องการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมคิดต่อไป

นงพงา ลิ้มสุวรรณ
ภาควิชาคณะแพทย์ศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

(update 23 ตุลาคม 2000)


[ ที่มา... วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปีที่ 30 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2537 ]
 
 

[ ที่มา...http://www.elib-online.com/doctors2/mental_family10.html ]

URL Link : http://www.elib-online.com/doctors2/mental_family10.html

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]