ในเดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์ หรือสัปดาห์ที่ 5-8 นี้ ตัวอ่อนในครรภ์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และยังเป็นช่วงที่คุณแม่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษด้วย เรามาดูกันค่ะว่าในช่วง 4 สัปดาห์นี้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นในครรภ์บ้าง
สัปดาห์ที่ 5
สัปดาห์นี้ตัวอ่อนจะมีประมาณ 1.25 มิลลิเมตร เมื่อวัดจากส่วนบนสุดของศรีษะไปถึงส่วนก้น และจากที่เคยมองเห็นเป็นเซลล์รูปร่างกลมๆ ก็จะเริ่มขยายออกตามยาวสามารถแยกแยะได้แล้วว่าส่วนไหนคือส่วนหัว ในระยะนี้ระบบประสาทส่วนกลางก็เริ่มมีการพัฒนา สมองและเส้นประสาทไขสันหลังก็เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้วในช่วงเดือนที่ 2 นี้ สมองจะมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมากสมองซีกซ้ายและขวาจะเริ่มเจริญเติบโตและแตกสาขาของเส้นประสาทที่ต่อออกมาจากสมอง จะมีเยื่อบางๆ มาหุ้มสมองเอาไว้ซึ่งมีของเหลวอยู่รอบๆ เพื่อป้องกันกลุ่มเซลล์เล็กๆ นั้น เมื่อสิ้นสุดเดือนที่ 2 สมองก็จะเริ่มทำงาน และสั่งให้ทารกการเคลื่อนไหว นอกจากนี้จะเริ่มมองเห็นเค้าโครงของดวงตาและหูปรากฏให้เห็นบริเวณด้านข้างของส่วนหัวด้วย ส่วนอวัยวะภายในที่สำคัญอย่างเช่น ตับและไตก็เริ่มมีการพัฒนาเป็นรูปร่างขึ้น เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อและกระดูก แต่กระดูกของตัวอ่อนในระยะนี้จะยังไม่แข็งมากนัก หัวใจก็เริ่มทำงาน ทำให้มีการไหลเวียนของเลือดไหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
สัปดาห์ที่ 6
สัปดาห์นี้เมื่อวัดขนาดความยาวของตัวอ่อนจากส่วนบนสุดของศรีษะมาถึงส่วนก้นจะได้ความยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร การเติบโตของตัวอ่อนจะเป็นไปอย่างรวดเร็วรูปร่างของตัวอ่อนจะมีลักษณะคล้ายกับลูกอ๊อดที่มีหลังโค้งและมีหาง ตอนนี้หัวใจดวงเล็กๆ ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาสามารถเต้นได้เองแล้ว ส่วนอวัยวะที่สำคัญๆ ต่างๆ รวมถึงตับและไตก็ยังคงพัฒนาต่อไป ส่วนท่อประสาทซึ่งต่อกับสมองและเส้นประสาทไขสันหลังก็ปิดแล้ว และส่วนหัวของตัวอ่อนก็เริ่มมองเห็นเป็นรูปร่างของศีรษะแล้ว เช่นเดียวกับระบบย่อยอาหาร ท้อง หน้าอกและ กระดูกสันหลังก็มีการพัฒนาในระยะนี้ด้วย ส่วนแขนและขาที่ยังเจริญไม่เต็มที่ จะมองเห็นเป็นส่วนเล็กๆ ที่ยื่นออกมาจากร่างกาย
สัปดาห์ที่ 7
ช่วงนี้ตัวอ่อนจะมีขนาดความยาวจากส่วนบนสุดของศรีษะถึงส่วนก้นประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ซึ่งตัวอ่อนจะเริ่มมีรูปร่างเหมือนคนมากขึ้น ส่วนหางก็เริ่มหายไป แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนหัวของตัวอ่อนยังคงขรุขระและโค้งไปด้านหน้าส่วนจุดดำที่เห็นอยู่ด้านข้างทั้งสองด้านของหัวก็คือตาและรูสงรูที่เห็นก็จะพัฒนาไปเป็นจมูก ริมฝากและลิ้นเริ่มสังเกตเห็นได้ แขนและขาเริ่มยาวขึ้น และส่วนปลายเริ่มพัฒนาเป็นมือและเท้า ระยะที่อวัยวะส่วนต่างๆ กำลังพัฒนานี้ถือเป็นระยะที่อ่อนแอ เพราะฉะนั้นคุณแม่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายและมีผลกระทบต่อพัฒนาการของตัวอ่อน ระยะนี้หัวใจเริ่มมีการแบ่งเป็นห้องซ้ายและขวา และมีอัตราการเต้นปราณ 150 ครั้งต่อนาที ตับ ไต ปอด ลำไส้ และอวัยวะสืบพันธุ์ กำลังพัฒนาจนใกล้จะสมบูรณ์แล้ว
สัปดาห์ที่ 8
ในสัปดาห์ที่ 8 นี้ เราจะเรียกตัวอ่อนว่า ทารก แล้ว ช่วงนี้ส่นหัวของทารกยังคงมีขนาดใหญ่กว่าส่วนอื่นของร่างกาย ใบหน้าของทารกยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ ทารกมีลิ้นและจมูกแล้ว ส่วนขากรรไกรก็เริ่มมีการเชื่อมต่อกันเป็นปาก ส่วนปอด ทางเดินอาหาร ตับ ไต ระบบสำคัญๆ ของร่างกายภายในจะสมบูรณ์มากขึ้นเมื่อถึงปลายเดือนที่ 2 นอกจากนี้ร่างกายยังมีการพัฒนาของกระดูกและระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีการไหลเวียนเกิดขึ้น แม้ว่าทารกจะไม่ได้กินอะไรเข้าไปก็ตาม แต่กระเพาะอาหารก็ยังมีการหลั่งน้ำย่อยออกมา ตับมีการผลิตเม็ดเลือดและไขกระดูก ส่วนด้านในของหูก็มีการพัฒนาส่วนที่รับการได้ยินและการทรงตัวระยะนี้ทารกเริ่มมีการเคลื่อนไหวบ้างแล้ว แม้ว่าคุณจะยังไม่รู้สึกก็ตาม
ความเปลี่ยนแปลงของคุณแม่
เดือนที่สองนี้ คุณแม่ยังคงมีอาการแพ้ท้อง บางคนก็มีอาการเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งอาการโดยหลักๆ ก็คือ วิงเวียนศรีษะ อ่อนเพลีย หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน เหม็นกลิ่นต่างๆ ที่อาจไม่เคยรู้สึกเหม็นมาก่อน เช่น กลิ่นอาหาร กลิ่นน้ำหอม เป็นต้น นอกจากนี้คุณแม่อาจมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังดื่มน้ำหรือรับประทานอาหาร บ้วนน้ำลายตลอดเวลา น้ำหนักลด และปัสสาวะมีสีเข้ม
การดูแลร่างกาย
คุณแม่ควรรับประทานอาหารทีละน้อยแต่ทานบ่อยขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก และควรรับประทานอาหารเบาๆ ก่อนนอน เช่น นม โยเกิร์ต หรือ ขนมปัง เพื่อป้องกันอาการแพ้ท้องหลังตื่นนอนในตอนเช้า (Morning sickness) หลังตื่นนอนควรค่อยๆ ลุกจากที่นอน ไม่ควรลุกพรวดพราดเพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้ง่าย และไม่ควรแปรงฟันหลังอาหารทันทีเพราะจะทำให้อาเจียนได้ นอกจากนี้คุณแม่ควรหาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะในช่วงที่มีอาการแพ้ท้องร่างกายจะมีความอ่อนเพลีย คุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องมากๆ รับประทานอะไรไม่ได้เลย จนทำให้น้ำหนักลดลง ควรไปพบคุณหมอเพื่อหาวิธีช่วยเหลือต่อไป ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคุณหมอจะให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน และให้น้ำเกลือช่วย
เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับพัฒนาการในครรภ์เดือนที่ 2 คุณแม่จะเห็นได้ว่าอวัยวะๆ สำคัญๆ ต่างๆ จะมีการพัฒนาอย่างมากเดือนนี้ ฉบับหน้าเรามาติดตามกันต่อนะคะว่าทารกน้อยๆ ในครรภ์ของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีก และคุณแม่ต้องดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และคุณลูกค่ะ