ในยุคที่ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลรักษาโรคต่างๆ อย่างมากมายมาให้รับรู้กัน แล้วถ้าคำแนะนำที่ได้มีความแตกต่างไม่เหมือนกัน คุณผู้อ่านจะมีวิธีเลือกใช้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินอย่างไร คราวนี้ขอชวนคิดชวนคุยเรื่องนี้กันครับ
เมื่อพูดถึงการดูแลรักษาผู้ป่วย ในความคิดของหมอผู้ดูแลรักษาก็คือ อยากให้การรักษาอย่างดีที่สุดเช่นกัน และถ้าคิดในแง่ของผู้มารับบริการไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามทุกคนก็อยากได้รับการรักษาที่ดีทีสุด ให้หายดีที่สุดเช่นเดียวกัน
แต่ในโลกของความเป็นจริง ในการรักษาโรคหนึ่งๆ มันมีปัญหามากมาย ทั้งในแง่ที่ว่าโรคแต่ละโรคที่เป็นกันแต่ละคนอาจมีความรุนแรงไม่เท่ากัน โรคบางโรคมีวิธีการรักษาได้หลายวิธี โรคบางโรคไม่ต้องรักษาก็หายก็มีนอกจากนี้เมื่อเวลาเปลี่ยนไปความก้าวหน้าในการดูแลรักษาโรคก็เปลี่ยนแปลงไปตามด้วย วิธีการรักษาที่เคยเชื่อว่าดีในสมัยก่อนกลับเป็นวิธีการรักษาที่พบภายหลังว่าไม่มีประโยชน์หรือมีโทษก็มี
ในปัจจุบันถ้าคุณแม่ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดูแลรักษาโรคต่างๆ อยู่เป็นประจำจะพบว่ามันมีมากเสียจนติดตามกันไม่หวาดไม่ไหว นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้มาก็ยังมีปัญหาอีกสารพัดเช่น ข้อมูลบางอย่างก็อ้างงานวิจัยที่ไม่บอกรายละเอียดของการวิจัยว่าทำอย่างไร ข้อมูลบางอย่างก็เขียนลอยๆ โดยไม่ระบุแหล่งที่มา ข้อมูลบางอย่างก็อ้างงานวิจัยที่ไม่บอกรายละเอียดของการวิจัยว่าทำอย่างไร ข้อมูลบางอย่างก็ส่อเจตนาชวนเชื่อให้ใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท และยังมีปัญหาจิปาถะอีกมากมายจาระไนไม่หมด
ในวงการแพทย์เองก็มีปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลในการรักษาผู้ป่วยเหมือนกันว่า จะเชื่อข้อมูลไหนดี ถ้าข้อมูลที่มีสอดคล้องกันก็ค่อนข้างง่ายในการตัดสินใจ แต่ถ้าข้อมูลขัดแย้งกันชนิดตรงกันข้ามเลย อย่างนี้หมอก็เครียดเหมือนกันว่าจะเอาวิธีไหนดีในการรักษาผู้ป่วย
เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ในวงการแพทย์เองจึงมีผู้พยายามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยกันอย่างขะมักเขม้น โดยรวบรวมงานวิจัยต่างๆ ที่คัดสรรเอาเฉพาะที่เชื่อถือได้ แล้วนำมารวมกันเพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุดสำหรับการดูแลรักษาแต่ละโรค
ข้อมูลในการรักษา
ในปัจจุบันวงการแพทย์ได้แบ่งกลุ่มวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคต่างๆ ออกเป็น 6 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
· การดูแลรักษาที่มีประโยชน์แน่นอน
· การดูแลรักษาที่น่าจะมีประโยชน์
· การดูแลรักษาที่มีทั้งประโยชน์และโทษในเวลาเดียวกัน
· การดูแลรักษาที่ยังสรุปไมได้ว่ามีประโยชน์หรือโทษอย่างไรหรือไม่
· การดูแลรักษาที่ไม่ค่อยจะมีประโยชน์หรืออาจมีอันตรายได้บ้าง
· การดูแลรักษาที่มีประโยชน์แน่นอน หรือมีอันตรายซ้ำเติมด้วย
จากแนวคิดที่กล่าวข้างต้น ผมอยากจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการดูแลรักษาคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในบางประเด็นที่คิดว่าถูกถามบ่อยๆ ว่าควรทำอย่างไร
อาหารเสริมและวิตามิน
มีผู้พยายามศึกษากันมากมายที่จะสรรหาที่คิดว่ามีประโยชน์ในการบำรุงครรภ์และช่วยให้ลูกมีพัฒนาการของร่างกายและสมองที่ดี ข้อมูลที่มีในขณะนี้พบว่าการให้ผู้หญิงที่คิดจะตั้งครรภ์รับประทานกรดโฟลิกหรือโฟเลตเสียตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน มีประโยชน์อย่างแน่ชัดในการป้องกันโรคที่เกิดจากการสร้างสมองส่วนไขสันหลังผิดปกติ
ส่วนการรับประทานอาหารเสริมหรือวิตามินอื่นๆ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม สังกะสี หรือน้ำมันปลา ข้อมูลที่มีขณะนี้ยังบอกไม่ได้หรือไม่รู้ว่ามีประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์จริงหรือไม่ ที่เห็นโฆษณากันส่วนมากก็มักได้ข้อมูลจากการศึกษาที่มีคุณภาพยังไม่ดีพอเกือบทั้งนั้น
การรับประทานวิตามินบางอย่างในปริมาณสูงๆ เช่นวิตามินเอ ซึ่งมีมากในน้ำมันตับปลา พบว่านอกจากจะไม่มีประโยชน์มากมายอะไรแล้ว ยังมีอันตรายต่อทั้งแม่และลูกอีกด้วย เพราะอาจจะทำให้เกิดปับหาผิวลอก ไตวายได้
การตรวจอัลตราซาวนด์
การตรวจอัลตราซาวนด์ในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์พบว่า ช่วยบอกอะไรได้หลายอย่าง เช่น อายุครรภ์ โอกาสที่จะแท้งความผิดปกติของทารกในครรภ์ ซึ่งผลการตรวจจะช่วยให้การวางแผนดูแลรักษาของคุณหมอทำได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการตรวจพร่ำเพรื่อพบว่าประโยชน์ที่ได้ไม่ชัดเจน แต่ที่แน่ๆ คือเสียเงินค่าตรวจไม่น้อย
การใช้ยาแก้ท้องลาย
ผู้หญิงกับความงามเป็นของคู่กัน เวลาตั้งครรภ์ปัญหาหนึ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่อยากเจอเลยก็คือ ท้องลาย หลายคนจึงพยายามหาสารพัดครีมหรือยามาทาป้องกันหรือรักษากันอย่างไม่ยอมย่อท้อ บริษัทผู้ผลิตยาหรือครีมเหล่านี้ก็พยายามโฆษณาว่ายาหรือครีมของตัวมีประสิทธิภาพดี ป้องกันหรือรักษาท้องลายได้ชะงัด
ข้อมูลที่มี ณ ปัจจุบัน ยังไม่มียาหรือครีมชนิดใดเลยที่ได้ผลในการป้องกันหรือรักษาท้องลายได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ไอ้ที่คุยว่ากันท้องลายได้ก็ไม่แน่จริงหรือเปล่าเพราะบางคนไม่ทายาท้องก็ไม่ลายอยู่แล้ว ผมมีคุณแม่บางคนที่ฝากท้องกับผมแล้วซื้อครีมกระปุกละหมื่นบาทมาทาตั้งแต่ก่อนจะตั้งท้องด้วยซ้ำ เวลาท้องผมก็เห็นท้องลายเต็มไปหมดเลยก็มีขณะที่บางคนไม่ใช้ครีมอะไรแต่ท้องไม่ลายก็มีเยอะไป
เกี่ยวกับการคลอด
เดิมทีเวลาคลอดคุณแม่มักจะถูกรับตัวไว้ในห้องคลอดโดยห้ามญาติหรือสามีเข้าไปอยู่ด้วย เพราะเกรงใจว่าจะไปเกะกะการทำงาน หรือเอาเชื้อโรคจากภายนอกเข้ามาในห้องคลอด แต่ปัจจุบันงานวิจัยส่วนมากให้ข้อสรุปในแนวเดียวกันเกือบทั้งหมดว่า การอนุญาตให้สามีหรือญาติเข้าไปอยู่ด้วยขณะเจ็บครรภ์คลอดเป็นสิ่งที่คุณหมอควรสนับสนุนเพราะทำให้คุณแม่ลดความกลัว ความวิตกกังวล ความเครียดลงได้อย่างมาก ช่วยให้การคลอดดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่เจ็บทรมาน และเวลาเบ่งคลอดคุณแม่ส่วนมากก็จะให้ความร่วมมืออย่างดี ทำให้การคลอดราบรื่นและจบลงด้วยความสุข
สมัยก่อนเวลาจะคลอด คุณแม่มักจะได้รับการโกนขนบริเวณปากช่องคลอดและท้องน้อยรู้สึกว่าถ้ามีขนมันดูสกปรก ขณะนี้มีข้อมูลชัดเจนจากการวิจัย การโกนขนจะยิ่งสร้างปัญหา เพราะการโกนขนออกจะทำให้เกิดรูที่ผิวหนังทำให้เชื้อโรคเข้าไปง่ายขึ้นด้วยซ้ำ
นอกจากการโกนขนแล้ว ในอดีตคุณแม่ส่วนมากมักได้รับการสวนอุจจาระก่อนคลอดด้วย เนื่องจากความเชื่อที่ว่าเวลาเบ่งคลอดจะได้สะอาด ไม่มีอุจจาระมาปนเปื้อน แต่ความจริงที่ได้จากการวิจัยในปัจจุบันชี้ชัดว่าการสวนอุจจาระนอกจากไมได้ประโยชน์แล้ว ยังอาจมีโทษด้วยเพราะขณะคุณแม่เบ่งคลอด การสวนอุจจาระพุ่งเป็นน้ำ เลอะเทอะเปรอะเปื้อนได้ง่ายในขณะที่ถ้าไม่สวนคุณแม่จะถ่ายเป็นก้อน เก็บง่ายไม่กระจัดกระจาย ความเชื่อผิดๆ เหล่านี้ได้รับการปฏิบัติมาอย่างยาวนานในบ้านเรา ผมได้ข่าวว่าหลายโรงพยาบาลเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีวิธีการเตรียมคุณแม่ที่จะคลอดกันแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี
ระบบบริการคุณแม่ตั้งครรภ์
โรงพยาบาลบางแห่งมีหน่วยงานดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์มากมายเต็มไปหมดจะทำบัตร ตรวจโรค ฉีดยา เจาะเลือด รับยาตรวจครรภ์ ต้องไปติดต่อกับหลายหน่วยงานและกับหลายกว่าจะครบก็รากเลือดหรือหอบพอดี ระบบบริการแบบนี้ดูเผินๆ ก็เข้าท่าดีเพราะดูเป็นระบบแต่ข้อมูลจากงานวิจัยออกมาแล้วว่า การดูแลรักษาแบบนี้ไม่น่าจะเกิดประโยชน์ และออกจะมีโทษด้วยซ้ำ เพราะเป็นการรักษาแบบแยกส่วน ซึ่งทำให้คุณแม่รู้สึกว้าเหว่ เจอคนแปลกหน้าตลอดเวลาความสนิทสนมและความไว้วางใจก็ไม่เกิด เวลาไปคลอดที่ห้องคลอดก็ไม่รู้ว่าจะเจอใครบ้าง เป็นคนแปลกหน้าทั้งนั้นงานวิจัยในต่างประเทศบอกค่อนข้างชัดว่า การรักษาโดยกลุ่มคนน้อยๆ ไม่กี่คน แล้วให้การรักษาตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนหลังคลอด จะทำให้คุณแม่คุ้นเคยวางใจ สบายใจ ไม่เครียด ไม่กลัว แถมการดูแบบนี้ไม่ต้องใช้พื้นที่ของอาคารมากมายอะไรเลย
ทำไมข้อมูลไม่เหมือนกัน
ถ้าอ่านตรงที่ผมยกตัวอย่างผู้ป่วยไว้ตอนต้น จะเห็นว่าในปัจจุบันคุณแม่อาจจะได้รับข้อมูลจากคุณหมอต่างคนกันในลักษณะที่อาจคล้ายกัน แตกต่างกันบ้าง หรือตรงกันข้ามกันเลยก็มี ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? ผมขอเรียนว่าการที่ข้อมูลไม่ตรงกันมีสาเหตุได้หลายประการ เช่น การดูแลรักษาบางโรคทำได้หลายวิธี คุณหมอแต่ละคนก็มักจะเลือกทำวิธีที่ตนเองถนัดหรือคุ้นเคยเป็นหลักซึ่งอาจจะแตกต่างกับคุณหมอคนอื่น ประการต่อมาก็คือความรู้ทางการแพทย์มีพัฒนาการไปเร็วมาก วิธีการรักษาผู้ป่วยก็เปลี่ยนเร็วตามไปด้วย ถ้าหมอไม่ติดตามความรู้อย่างสม่ำเสมอและรักษาคุณแม่ด้วยวิธีการเดิมๆ ที่เคยชิน ก็อาจจะทำให้วิธีการแตกต่างกับคุณหมอที่ติดตามความรู้อย่างสม่ำเสมอ
ทางออก : สอบถามให้แน่นอนก่อนตัดสินใจ
ผมอยากจะบอกคุณแม่ทั้งหลายว่า ถ้าไม่แน่ใจ ไม่แน่ใจ ไม่เข้าใจกับการดูแลรักษาต่างๆ ของคุณหมอ ขอให้สอบถามเสียให้เข้าใจจะได้ไม่ต้องมาเครียดหรือกังวลใจภายหลัง
ผมยังงงๆ อยู่ไม่หายว่า ทำไมเวลาสงสัยคุณแม่ไม่ยอมถามคุณหมอที่ดูแล แต่ชอบไปถามคนอื่นที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวเกี่ยวกับการดูแลรักษาแทน และที่สำคัญมักจะเชื่อเสียด้วยสิ ถามหมอเถอะครับ แต่ละคนเรียนกันมานานทั้งนั้นและความรู้ก็ไม่น่าจะยิ่งหย่อนกว่ากันหรอกครับ
ภายหลังฟังข้อมูลแล้วถ้ายังไม่แน่ใจจะถามใหม่ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร ขอให้คุณแม่ทุกคนโชคดีครับ