บทความเกี่ยวกับ ผู้หญิง ผู้หญิง
คนเป็นคนที่ - 2965 [Date : 25 ม.ค. 2551 ]   
 
ข้อเสื่อมผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย 3 เท่า!!!
 
วันที่ 25 ม.ค. 2551   โดย Coco
 
 

 

 

ตามสถิติโลกชาวอเมริกันเป็นโรคปวดข้อประมาร 16 ล้านคน ส่วนในประเทศไทย 3.5% จากประชากรไทยหรือใน 60 กว่าล้านคนจะมีคนเป็นโรคปวดข้อประมาณ 3 ล้านคนตัวเลขที่สูงขนาดนี้โรคปวดข้อคงเป็นโรคที่คุณแม่อย่างเราอดจับตามองไม่ได้แน่ๆ

 

“ข้อ” ก็สำคัญ

ข้อมีความสำคัญกับร่างกายของคนเรามากค่ะแต่ดูเหมือนว่าเราจะหลงลืมอวัยวะส่วนนี้ไปแล้วนะคะ ข้อในร่างกายคนเรามีอยู่ประมาณ 70 ข้อ นี้ยังไม่รวมข้อเล็กๆ ตามนิ้วมือและนิ้วเท้านะคะ เมื่อเด็กในครรภ์มีอายุได้ราว 4-5 เดือน จะเริ่มมีการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยที่คุณแม่จะรู้สึกได้ว่าลูกในครรภ์เริ่มดิ้น หรือหมายความว่าข้อของมนุษย์เราเริ่มทำงานและจะเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งคลอดออกมาเติบโตขึ้นเป็นหนุ่มสาวลากยาวถึงวัยชรา

ชวนคุณแม่ลองมาสำรวจตัวเองดูกันหน่อยไหมคะว่า ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าจนถึงเข้านอนตอนกลางคืน ทั้งตอนที่คุณแม่ชงนม ซักผ้าอ้อม ไกวเปล ยกของ อุ้มลูก ทำกับข้าว ฯลฯ จะเห็นว่าข้อต่างๆ ในร่างกายต้องทำงานอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่งานเบาๆ จนถึงงานหนักๆ ข้อส่วนใหญ่จึงมีเวลาพักผ่อนเฉพาะเวลาเรานอนพักหรือนอนหลับเท่านั้น โดยเฉพาะข้อกระดูกสันหลัง ข้อสะโพก ข้อเท้าและหัวเข่าข้อเหล่านี้จะเสื่อมและปวดได้ง่าย ถ้าได้รับแรงกระแทกจากของหนักๆ หรือใช้ข้อไม่ถูกวิธีมีโรคปวดข้อชื่อแปลกๆ ว่า “โรคข้อศอกนักเทนนิส” หรือ Tennis Elbow เกิดในคนที่ต้องใช้กำลังแขนทำงานหนักมากๆ เช่น ช่างไม้ ช่างตีเหล็ก นักพุ่งแหลน นักทุ่มน้ำหนัก ฯลฯ พูดถึงตรงนี้คุณแม่หลายคนคงจะรู้สึกสงสารข้อน้อยๆ ที่ต้องทำงานนักอยู่ตลอดเวลา เป็นอย่างนี้ข้อจะไม่เสื่อมได้อย่างไรเล่าคะ

 

ทำไมปวด

“ตอนสาวๆ ดิฉันเคยลื่นล้มที่บ้านสะโพกกระแทกอย่างแรกจนตอนนั้นต้องเข้าเฝือกตั้ง 3 เดือน ตอนนี้มีลูกแล้วก็ยังรู้สึกขัดๆ เวลาเดินหรือลุกนั่งอยู่บ้าง คุณหมอก็บอกให้ระวังอย่าออกกำลังกาย หรือวิ่งเร็วๆ เราที่เคยเป็นสาวบ้าพลังเลยจ๋อย วิ่งตามลูกเร็วๆ ก็ไม่ได้ ลูกกำลังอยู่ในวัยซนเลย รู้อย่างนี้ระวังตัวไม่ลื่นล้มดีกว่า”

แม่บ้าพลัง

 

 “แม่น้องมะตูมปวดเข่าอยู่ค่ะ เพื่อนบอกว่าสงสัยข้อเราจะเสื่อม แต่ไม่ถึงกับปวดมาก มันจะจี๊ดๆ เวลาเดินลงบันได หรือเดินเร็วหรือกระโดด (เวลาออกกำลังกาย) เราก็กังวลนะ ตอนนี้อายุแค่ 32 เอง แต่เราคิดว่าคงจะเป็นจากกรรมพันธุ์ เพราะยายกับแม่ของเราปวดเข่าเหมือนกันคิดว่าจะหาหมอเร็วๆ นี้ค่ะ”

แม่น้องมะตูม

“ก้อยเป็นพนักงานพิมพ์ดีดมาก่อนค่ะ ต้องพิมพ์ดีดทั้งวันวันละ 8 ชั่วโมง ทำอยู่หลายปี วันหนึ่งปวดข้อมือจนแทบขยับไม่ได้ ไปหาหมอ หมอบอกว่าข้ออักเสบต้องใส่ผ้ารัดข้อมือไว้ตลอด ปัจจุบันอุ้มลูกนานๆ ก็รู้สึกปวดแล้วเสียดายจังที่เราอุ้มลูกนานไม่ได้”

แม่ก้อย

 

อาการปวดข้อที่พบบ่อย

ข้อเสื่อม

ความเสื่อมของข้อเกิดขึ้นตามวัยและสังขารของคนเราค่ะ เมื่อเข้าสู่วัยชราหรืออายุ 50 ปีขึ้นไป หลังวัยหมดประจำเดือนพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่าค่ะ และอาจมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ ความอ้วน น้ำหนักมาก อาชีพที่ต้องใช้ข้อมาก เช่น อาชีพที่ต้องยืนนานๆ เป็นต้น แต่จะช้าหรือเร็วนั้นก็ขึ้นอยู่กับการทำงานหรือปฏิบัติตัวด้วยนะคะ ข้อที่เสื่อมได้ง่ายมักเป็นข้อที่รับน้ำหนักมาก ได้แก่ ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลัง ข้อกระดูกคอ เป็นต้น นอกจากนี้บางคนอาจเป็นตามข้อนิ้วมือ (ปลายนิ้วและกลางนิ้วมือ) ก็ได้ค่ะ

อาการข้อเสื่อมถือเป็นโรคเรื้อรังที่ไมได้อันตรายร้ายแรง แต่จะมีอันตรายทันที หากรักษาไม่ถูกวิธี โดยเฉพาะการกินยาแก้ปวดอย่างพร่ำเพรื่อ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตับได้

 

อักเสบจากอุบัติเหตุ&กระทบกระแทกบ่อยๆ

การยกของหนักๆ ทุกวัน การกระโดดของนักกีฬา อาจทำให้เยื่อบุข้ออักเสบบวมแดง ถ้ากระแทกรุนแรงมาก เช่น ข้อเท้าพลิกอาจเกิดการฉีกขาดของเอ็นหุ้มข้อ อาจปวดข้อมากจนเดินไมได้ หรือหกล้มก้นกระแทกพื้น ทำให้กระดูกสันหลังกดลงบนหมอนรองกระดูกสันหลังโดยตรง ทำให้ปวดหลังมากได้ค่ะ หรือผู้ที่ทำงานอยู่ท่าเดียวนานๆ เช่น ช่างเย็บรองเท้า ช่างเย็บเสื้อ คนขับรถแท็กซี่นั่งในท่านั้นๆ นานกว่า 3-4 ชั่วโมงติดต่อกัน จนทำให้มีอาการปวดข้อกระดูกสันหลังได้

 

ห้ามซื้อยากินเองเด็ดขาด

หากรู้สึกว่าปวดข้อ ถ้าจำเป็นต้องกินยาคุณแม่ควรเลือกกินยาแก้ปวดพาราเซตามอล แต่ไม่ควรกินยาเป็นประจำนะคะ ที่สำคัญห้ามซื้อยาชุด ยาแก้ปวดข้อ ยาแก้ปวดเส้น หรือยาลูกกลอนไทยมากินเองเด็ดขาด เพราะยาเหล่านี้มักมียาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ส่วนยาสเตียรอยด์เองอาจช่วยบรรเทาอาการปวดข้อได้ แต่หากกินเป็นประจำ ก็อาจเกิดผลข้างเคียงร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นเลือดออกในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารทะลุ เบาหวาน ความดัน โลหิตสูง กระดูกผุ ฟังแค่นี้ก็ขนลุกแล้วล่ะค่ะ

 

ดูแลข้อกันเถอะ

ภาวะข้อเสื่อมมักจะเป็นอยู่ตลอดไปไม่หายขาด ถ้าปวดแล้วก็มักจะมีอาการปวดเรื้อรัง บางคนอาจเคลื่อนไหวไม่สะดวกควรหาทางบรรเทาปวดข้อ ด้วยการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเองเป็นสำคัญค่ะ

·        ออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอบริหารกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อที่ปวดให้แข็งแรง เช่น ถ้าปวดหลังก็ให้บริหารกล้ามเนื้อหลัง ถ้าปวดเข่าก็บริหารกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้า การฝึกกล้ามเนื้อควรเริ่มทำเมื่ออาการปวดทุเลาลงแล้วนะคะ

·        หลีกเลี่ยงอิริยาบถหรือพฤติกรรมที่ทำให้อาการปวดกำเริบ เช่น ถ้านั่งพิมพ์งานนานๆ แล้วปวดข้อมือ ทำงานบ้านนานๆ แล้วปวดหลัง หรือเดินนานๆ แล้วปวดขาคุณแม่ควรเลิกทำพฤติกรรมเหล่านั้นให้น้อยที่สุดนะคะ เช่น หลังจากนั่งทำงานนาน 1 ชั่วโมง ควรพักและลุกขึ้นเดินสัก 2-3 นาทีหรือลองหาผู้ช่วยดู เพราะสุขภาพของเราสำคัญกว่านะ

·        ถ้าเป็นน้อยๆ ก็ใช้ยานวดทาบางๆ แช่น้ำร้อน หรือใช้น้ำร้อนประคบประมาณ 30 นาที หรือใช้ผ้ายืดพัน และพยายามเคลื่อนไหวบริเวณที่ปวดน้อยลงที่สุด จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้

·        ถ้าน้ำหนักเกินควรลดน้ำหนักลงด้วยค่ะ

 

Concern

ถ้าอาการปวดรุนแรงมาก บวมตามข้อหรือมีอาการปวดร้าวหรือชาตามแขน (ร่วมกับปวดคอ) หรือขา (ร่วมกับปวดหลัง) ควรไปโรงพยาบาลจะดีกว่าอาจต้องตรวจโดยการเอกซเรย์ดูการเปลี่ยนแปลงของข้อหรือถ้าบวมตามข้ออาจเจาะน้ำในข้อมาตรวจพิสูจน์ถ้าเป็นมากอาจฉีดสเตียรอยด์เข้าในข้อเป็นครั้งคราว (ไม่ควรเกินปีละ 2-3 ครั้งเพราะอาจทำให้กระดูกเสื่อมหรือสลายตัวเร็วขึ้น) และให้การรักษาทางกายภาพบำบัดในบางรายแพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ (สำหรับข้อเข่าหรือข้อสะโพก) ได้ค่ะ

 

อ่านจบแล้ว ควรรู้สึกว่าการดูแลข้อของเราไม่ใช่ยาก แต่หากลองปวดแล้ว รักษายากกว่าหลายเท่า คุณหม่อย่าลืมดูแลข้อให้ดีนะคะ อย่าให้ร้ายแรงถึงขั้นอุ้มลูกไม่เลยค่ะ

 
 

[ ที่มา...นิตยสารดวงใจพ่อแม่ Vol.12 No.144 October 2007 ]

URL Link : http://www.planpublishing.com

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]