บทความเกี่ยวกับ คู่มือเลี้ยงลูก
คนเป็นคนที่ - 10264 [Date : 18 ม.ค. 2551 ]   
 
สายตาสั้นลูกเล็กก็เป็นได้
 
วันที่ 18 ม.ค. 2551   โดย ชุติมา สมสืบ
 
 

 

 

“ดวงตา” เป็นเสมือนประตูเปิดโลกกว้างสำหรับเด็ก แต่ทำไมทุกวันนี้มองไปทางไหนก็เห็นเด็กตัวเล็กๆ ใส่แว่นกันหนาตาขึ้น จนพานคิดไปเองว่าเด็กไทยสายตาสั้นแต่อายุยังน้อยและมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จะจริงหรือไม่ ต้องไปหาคำตอบจาก ผศ.นพ.ธรรมนูญ สุรชาติกำธรกุล ที่จะมาบอกเรื่องนี้ให้เข้าใจกันอย่างกระจ่างแจ้งเชียวล่ะค่ะ

 

MM : ทุกวันนี้เห็นเด็กตัวเล็กๆ ใส่แว่นกันมากขึ้น จริงๆ แล้วจำนวนของเด็กเล็กที่สายตาสั้นมีมากน้อยแค่ไหนคะ

คุณหมอ : จริงๆ แล้วเด็กที่เกิดมาส่วนใหญ่กว่า 40% จะสายตายาวครับ จากนั้นสายตาที่ยาวจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนเป็นสายตาปกติเมื่ออายุประมาณ 7-8 ปี เพราะฉะนั้นเด็กเบบี๋ที่เกิดมาแล้วตรวจพบว่าสายตาสั้นเลยนั้นพบค่อนข้างน้อย ยกเว้นเด็กบางกลุ่ม เช่น คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกคลอดน้อยไม่ถึง 1,500 กรัม หรือจอประสาทตาเสื่อมตั้งแต่แรกเกิด ซึ่ง 3 กลุ่มนี้จะพบว่าสายตาสั้นได้ตั้งแต่เล็กครับ

 

MM : ต้นตอของภาวะสายตาสั้นในเด็กเกิดจากอะไร

คุณหมอ : ต้องบอกว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคือ ทารกที่คลอดก่อนกำหนด และน้ำหนักแรกคลอดน้อย และจอประสาทตาเสื่อมตั้งแต่แรกเกิดอย่างที่บอกไปแล้ว ส่วนสาเหตุที่แท้จริงของภาวะสายตาสั้นในเด็กเล็กนั้นยังไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจาก 3 สาเหตุด้วยกันคือ

1. พันธุกรรม หากสังเกตจะพบว่าคุณพ่อคุณแม่มีคนใดคนหนึ่งสายตาสั้น ลูกสายตาสั้นได้ 25% หรือสายตาสั้นทั้งคู่นั้น ลูกที่เกิดมาก็จะมีโอกาสที่จะสายตาสั้น 30-40%

2. การใช้สายตาเพ่งมากๆ เด็กที่ชอบใช้สายตาเพ่งมองใกล้ๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ดูทีวี ฯลฯ ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่เสี่ยงทำให้สายตาสั้นได้

3. โรคที่ดวงตา เช่น เด็กทารกที่มีหนังตาตก มีต้อกระจก มีต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม หรือเลือดออกในลูกตาที่เกิดจากอุบัติเหตุต่างๆ เป็นต้น

จาก 3 สาเหตุข้างต้น สาเหตุที่ 1 กับ 2 นั้นถือว่าเป็นภาวะสายตาสั้นที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ถือว่าเป็นโรค แต่สาเหตุที่ 3 นั้นเป็นภาวะสายตาสั้นแบบเป็นโรคทางดวงตาครับ

 

MM : คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตรู้ได้อย่างไรคะว่าลูกสายตาสั้น

คุณหมอ : ถามว่าเด็กเล็กๆ ที่สายตาสั้นมีอาการอะไรไหม คงไม่ครับ เพราะเด็กอายุ 1-2 เดือนจะยังมองเห็นไม่ชัดเจนอยู่แล้วตามพัฒนาการจึงไม่ค่อยมีปัญหาแม้จะอายุ 6 เดือนไปแล้ว ก็ยังมองเห็นแค่ระยะไกลเท่าเอื้อมมือลูก แม้จะสายตาสั้นก็ยังเห็นชัดเจนในที่ใกล้ครับ แต่อาการสายตาสั้นที่คุณแม่จะสังเกตได้ก็ต่อเมื่อลูกมองไกลขึ้น

อาการที่คุณแม่จะสังเกตเห็น ถ้าเป็นลูกเบบี๋ 3-4 เดือน ลูกจะไม่มองหน้าพ่อแม่ ถ้ามองก็เหม่อลอยร่วมกับมีอาการตาสั่น เมื่อคุณพ่อคุณแม่พามาพบคุณหมอก็อาจจะตรวจเจอได้เลยว่าจอประสาทตาเสื่อมหรือสายตาสั้นมากๆ แต่ถ้าเป็นลูกวัยอนุบาล 3-4 ปีขึ้นไป มักจะมีอาการหยีตามอง เพราะเวลาที่ลูกมองตรงลูกจะมองไม่ชัดแต่ถ้ามองเอียง จะเหมือนมองผ่านรูเล็กๆ ซึ่งจะทำให้มองเห็นชัดเจนมากกว่าครับ

 

MM : อาการสายตาสั้นของลูกจะเริ่มปรากฏเมื่ออายุเท่าไร

คุณหมอ : เด็กที่ตรวจพบบ่อยๆ ว่ามีภาวะสายตาสั้นแบบไม่เป็นโรคทางสายตาคืออายุประมาณ 5-6 ปีครับ เพราะภาวะสายตาสั้นนี้ตรวจหาสาเหตุยาก และอาจจะหาสาเหตุไม่เจอถ้าไม่ได้ส่งตรวจด้วยการวัดสายตากับจักษุแพทย์เพราะเด็กจะไม่มีอาการอะไรนอกเหนือจากที่กล่าวมา หรือมีก็เพียงแค่บ่นว่ามองกระดานไม่ชัดเจน

ส่วนเด็กหลังคลอดที่น้ำหนักน้อยกว่า 1,500กรัมหรือคลอดก่อนกำหนดเด็กกลุ่มนี้ถ้าให้จักษุแพทย์ตรวจตั้งแต่แรกคลอดก็อาจจะพบภาวะสายตาสั้นได้ทันที หรือเด็กที่อายุประมาณ 3 เดือน แล้วไม่มองหน้าพ่อแม่บวกกับลูกสายตาสั้น พวกนี้บ่งบอกได้ว่ามีความผิดปกติทางการมองเห็นแน่นอนอาจจะสั้นมากๆ เป็น 1,000 (-10 Diopters) ร่วมกับมีจอประสาทเสื่อมร่วมด้วย เพราะฉะนั้นอายุน้อยที่สุดพบว่าสายตาสั้นคือประมาณ 3-4 เดือน ซึ่ง 2 กลุ่มหลังนี่มักจะเป็นกลุ่มสายตาสั้นแบบเป็นโรคทางสายตานะครับ

 

MM : เมื่อคุณหมอตรวจพบแล้วว่าลูกสายตาสั้น จะมีวิธีรักษาหรือแก้ไขภาวะสายตาสั้นอย่างไรบ้างคะ

คุณหมอ : การแก้ภาวะสายตาสั้นที่แนะนำสำหรับเด็กคือใส่แว่นครับ เพราะจะทำให้ลูกมองเห็นไกลๆ ชัดเจนขึ้น การใส่แว่นไม่ได้ทำให้สายตาของลูกสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจแต่อย่างใดเพราะลูกนัยน์ตาคนเรา เมื่อร่างกายเติบโตขึ้นลูกตาก็จะโตตาม สายตาที่สั้นอยู่แล้วก็จะสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนหยุดสั้นก็ต่อเมื่ออายุ 20-30 ปี

แว่นตาสำหรับเด็กแนะนำว่าควรใช้เลนส์และกรอบแบบพลาสติก เพราะเด็กๆ จะเล่นกันตลอด ถ้ามีอุบัติเหตุเลนส์และกรอบแว่นตาพลาสติกจะไม่แตก ไม่มีอันตรายและป้องกันอุบัติเหตุกับดวงตาลูกได้ และแว่นตาสำหรับลูกไม่จำเป็นต้องมีเลนส์ที่ราคาแพงมากนะครับ เพราะเด็กส่วนใหญ่ใช้แบบไม่ได้ดูแลรักษาและจะเปลี่ยนแว่นปีละ 2-3 อันครับ

 

MM : คุณหมอช่วยแนะนำคุณแม่ถึงวิธีป้องกันไม่ให้ลูกสายตาสั้นด้วยค่ะ

คุณหมอ : อย่างที่บอกครับว่าเรายังไม่ทราบสาเหตุสายตาสั้นในเด็กที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นจึงยังไม่มีวิธีป้องกันสายตาสั้น ยกเว้นสาเหตุที่มาจากการคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักแรกคลอดน้อย ที่คุณแม่จะสามารถป้องกันได้โดยต้องฝากครรภ์และพบคุณหมอตามระยะเวลาที่นัดอย่างสม่ำเสมอ ดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีระหว่างตั้งครรภ์ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ทารกในครรภ์น้ำหนักขึ้นได้ดี ส่วนสาเหตุอื่นๆ ยังไม่มีวิธีป้องกันเลยครับ

ก่อนจบการสัมภาษณ์คุณหมอยังฝากถึงคุณแม่ผู้อ่าน Modern Mom ด้วยว่าไม่อยากให้คุณแม่กังวลเรื่องสายตาสั้นในเด็กเล็กมากเกินไป เพราะสายตาสั้นไม่ได้เป็นโรคร้าย แต่อาจจะเจอได้บ่อย 30-40% และสามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่แว่นให้มองเห็นชัดเจนขึ้น ส่วนเด็กสายตาสั้นมากๆ เพราะเป็นโรคทางสายตา จะมีเพียงกลุ่มน้อยเท่านั้นค่ะ

 

ถ้าลูกสายตาสั้นมากๆ โรคที่จะตามมา...

·        ต้อหิน เกิดจากความดันภายในลูกตาสูง ทำให้ขั้วประสาทตาเสื่อมและเกิดภาวะต้อหิน

·        จอประสาทลอก จะเห็นแสงแวบเหมือนฟ้าแลบ ตามมาด้วยจุดดำๆ ลอยไปมาแล้วตาก็มัวเหมือนม่านปิดจากบนลงล่างซ้ายไปขวา และมืดไปในที่สุด

·        จอประสาทตาเสื่อม เกิดจากสายตาสั้นมากๆ จนมีรอยฉีกขาดที่จอประสาทตา

·        ตาขี้เกียจ เป็นภาวะตาบอดในเด็กที่สามารรักษาได้ค่ะ โดยต้องรักษาอาการสายตาสั้นก่อนแล้วจึงจะรักษาตาขี้เกียจให้หายได้

 
 

[ ที่มา...นิตยสารดวงใจพ่อแม่ Vol.12 No.144 October 2007 ]

URL Link : http://www.planpublishing.com

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]