หลังส่งลูกเข้านอนด้วยนิทานแล้ว คุณพ่อคุณแม่คงจะวางใจว่าคืนนี้คงเป็นนิทราแสนสุขของลูก... แต่แล้วเจ้าตัวเล็กกลับส่งเสียงดังโวยวายกลางดึก บางคืนก็ลุกจากเตียงลงมาเดิน... แบบนี้จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของลูกหรือเปล่านะ
นิทรา ละเมอ
การสะดุ้งตื่นกลางดึก การเดินออกมานอกบ้านโดยตื่นเช้ามาไม่รู้ว่าทำอะไรลงไป จำเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นไม่ได้ หรือที่เรียกว่าละเมอ เชื่อแน่ว่าผู้ใหญ่หลายคนคงต้องเคยมีประสบการณ์เรื่องนี้กันมาบ้างทั้งจากตัวเอง คนข้างตัว หรือเพื่อนๆ
แต่สำหรับเจ้าตัวเล็กนี่สิคะ การนอนละเมอเกิดได้บ่อยตั้งแต่วัยอนุบาล (preschool) ทีเดียว ซึ่งเป็นปัญหาการนอนอย่างหนึ่งแต่ไม่เป็นเรื่องผิดปกติร้ายแรง สามารถแก้ไขได้โดยอาศัยความร่วมมือของพ่อแม่ เพือช่วยปรับพฤติกรรมการนอนที่ดีให้ลูกๆ ค่ะ
การนอนของเด็กๆ จะมี 2 ช่วงคือ ช่วงหลับตื้น REM sleep (Rapid Eye Movement) เป็นช่วงที่ดวงตากะพริบเร็วและปิดไม่สนิท เด็กจึงมักฝันร้ายได้ในการนอนระยะนี้ ส่วนการหลับลึก Non-REM sleep นั้นจะเป็นระยะหลังจากหลับไปแล้ว 3 ชั่วโมงซึ่งการละเมอก็เกิดในการนอนแบบหลับนี้แหละค่ะ
ต้นเหตุละเมอ
แม้ว่าการนอนละเมอจะเกิดได้กับทุกวัย แต่ถ้าเกิดกับวัยคิดส์แล้วก็น่าจะมาจาก 2 สาเหตุๆ คือ</p>
1. สิ่งกระตุ้นจากภายนอก เช่น หนังเขย่าขวัญ ภาพน่ากลัวหรือกิจกรรมในตอนกลางวันชวนที่ตื่นเต้นจนเกินไป ทำให้เขาฝังใจแม้ยามหลับก็ยังนึกถึงอยู่
2. พัฒนาการของระบบประสาท ซึ่งจะเกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กบางคนที่ระบบประสาทยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จึงทำให้ละเมอตื่นกลางดึก
เมื่อวัยส์คิดนอนละเมอ
ปัญหาการนอนละเมอในเด็กช่วง 3-6 ขวบ แบ่งได้ 2 แบบค่ะ
1. ละเมอฝัน (night terror) หรือการนอนละเมอตื่นกลัวในตอนกลางคืน เกิดขึ้นในช่วงที่เด็กหลับลึก Non-REM sleep คือ หลังจากชั่วโมงที่ 3 ของการนอน จะแตกต่างจากฝันร้ายก็ตรงที่เด็กจะจดจำอะไรในฝันไม่ได้ ซึ่งมักไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เข้ามากระตุ้นปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นมักจะมาจากตัวเด็กเอง เช่น ระบบประสาทยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้การจัดเรียงข้อมูลในสมองทำงานไม่เป็นระเบียบ เขาจึงละเมอฝันในช่วงเวลาเดียวกันขณะหลับ
วิธีดูว่าลูกละเมอฝันหรือไม่นั้น จะต้องแยกระหว่างฝันร้าย และนอนละเมอฝันออกจากกันให้ได้ เพราะวิธีแก้ไขนั้นจะแตกต่างกันหากว่าเขาตกใจตื่นกลัวกลางดึก ลุกมากรีดร้อง แต่ก็ไม่รู้ตัวหลังถูกปลุกให้ตื่น และจำอะไรไมได้ อาการแบบนี้คือ ละเมอ
Help !
การพยายามปลุกให้ลูกตื่นจากฝัน ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง นอกจากจะไม่ช่วยแก้ไขอะไรแล้ว อาจยิ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกมีอาการนี้นานขึ้น หมายความว่าแทนที่จะปล่อยให้ลูกตื่นมาร้องแค่ 5 นาที ต่อๆ ไปก็จะกินเวลาถึง 15 นาทีได้
วิธีที่ถูกต้องก็เพียงแต่อุ้มลูกขึ้นมา โยกตัวเบาๆ ตบก้นลูกและพยายามปลอบให้เขานอนต่อ เพราะถึงอย่างไรเขาเองก็จะจำฝันนี้ไมได้ในวันรุ่งขึ้น
ก่อนนิทราแสนสุข
1. ให้ลูกฟังเพลงก่อนนอนจะช่วยให้นิทรานี้มีความสุข
2. มีตารางการนอนที่เป็นเวลา และต้องทำให้ได้ทุกวันนะจ๊ะ
3. ให้ลูกดื่มน้ำเยอะๆ ในตอนเย็น และควรจะเข้าห้องน้ำก่อนนอน เพราะบางทีการละเมอเริ่มต้นจากการปวดฉี่ก็มีค่ะ
2. ละเมอเดิน (Sleepwalking) เกิดช่วงหลับลึกเช่นเดียวกับการละเมอฝันค่ะ โดยลูกจะเดินรอบห้อง หรือเดินไปข้างนอกห้องหรือนอกบ้าน ทั้งที่ไม่รู้ตัว และเมื่อตื่นก็จะจำอะไรไมได้เช่นกันซึ่งถือว่าอันตรายมาก เพราะเขาจะไม่ตื่นเพราะถูกปลุกด้วยเสียง เช่น ละเมอฝัน
Help !
หากคุณพ่อคุณแม่รู้ได้เร็วว่าลูกอาการขั้นเล็กน้อย สามารถจะปรับสภาพแวดล้อมและการนอนเพื่อป้องกันขั้นพื้นฐานไว้ก่อนโดย
· จัดสภาพแวดล้อมห้องนอนให้โล่ง เพื่อจะป้องกันไม่ให้เดินชนสิ่งกีดขวาง แต่ประตูหน้าต่างต้องแน่นหนาเพื่อไม่ให้ลูกเดินไปข้างนอก หากลูกเป็นหนัก เป็นบ่อยๆ ต้องเลี่ยงเตียงสองชั้น หันมาใช้ฟูกหรือเตียงธรรมดาแทน และไม่ให้ลูกนอนคนเดียวค่ะ
· ไม่แนะนำให้ใช้ยา แม้ว่ามีอาการมาก เพราะผู้ใหญ่ยังหลีกเลี่ยงเลยค่ะคุณหมอบอกว่า การนอนละเมอมักเกิดในช่วงเวลาเดิมๆ เช่น ช่วง 5 ทุ่มของทุกวัน เมื้อรู้ดังนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรปลุกลูกน้อยก่อนมีอาการประมาณ 15 นาที แล้วปล่อยให้ตื่นสัก 5 นาที จากนั้นค่อยให้นอนหลับต่อ ทำเช่นนี้ติดต่อกันประมาณ 7-10 วัน อาการละเมอที่ลูกเป็นจะเริ่มน้อยลง แต่ก็คงไม่ถึงกับหายขาดอาการจะค่อยๆ ลดลงคือ จากระดับ 10 ก็อาจจะลดลงเหลือแค่ระดับ 3 หรือ 2 เท่านั้นค่ะ
อย่างนี้...อาการหนัก
ถ้าละเมอครั้ง สองครั้ง อาจเป็นแค่เรื่องขำๆ ไว้เล่าสู่กันฟังว่าตอนเป็นเด็กเคยนอนละเมอนะ แต่หากทำสถิติได้ถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้นเป็นระยะ (อาจจะหายเป็นพักๆ แล้วกลับมาละเมอใหม่) เห็นทีคงต้องพาไปพบคุณหมอกันหน่อยแล้วล่ะค่ะ เพราะผลจากการละเมอบ่อยๆ จะทำให้เด็กพักผ่อนไม่เต็มที่
ถ้าเป็นเดือนละครั้งหรือสัปดาห์ละครั้ง ก็ถือเป็นเรื่องปกติของเด็กวัยนี้ อย่างที่บอกวิธีแก้ไขทำได้ไม่ยาก ดังนั้น จึงไม่ควรกังวลจนกินไม่ได้นอนไม่หลับไปอีกคนนะคะ
ละเมอส่งผลต่อพัฒนาการ
เด็กที่มีปัญหาในการนอน และก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง จะส่งผลถึงพัฒนาการโดยอ้อม แม้ยังไม่มีงานวิจัยระบุไว้อย่างแน่ชัดว่า การที่เด็กละเมอหรือตื่นบ่อยจะมีผลกับพัฒนาการที่เห็นเด่นชัดหรือไม่ สำหรับเด็กที่นอนไม่ได้คุณภาพ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) จะทำงานได้ไม่ดี ยิ่งเป็นเด็กวัยเรียน เขาจะไม่สดชื่นหลังจากตื่นนอน เล่นกับเพื่อนก็ไม่สนุก หลับในห้องเรียน เข้ากลุ่มกับเพื่อนไม่ได้ ไม่พร้อมเรียนรู้ส่งผลให้พัฒนาการด้านการเรียนรู้น้อยลง มีปัญหาการเข้าสังคมซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ถ้าเป็นมากก็ต้องพบแพทย์ค่ะ
ถ้าคุณพ่อคุณแม่และคุณหมอร่วมด้วยช่วยกันปรับ และแก้ไขพฤติกรรมการนอน ให้ความช่วยเหลืออย่างถูกต้องแล้ว อาการก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่อย่าเพิ่งตกใจนะคะ หากว่าอาการละเมอจากการฝันร้ายยังเกิดขึ้นอีกเป็นระยะๆ เพราะการพัฒนาของระบบประสาทของลูกยังเติบโตไม่เต็มที่ค่ะ แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นไปตามพัฒนาการที่เติบโตตามวัย โดยเฉพาะหลังจากเข้าโรงเรียนช่วงอายุ 7 ขวบขึ้นไปก็จะดีขึ้นค่ะ