บทความเกี่ยวกับ คู่มือเลี้ยงลูก
คนเป็นคนที่ - 15739 [Date : 08 ม.ค. 2551 ]   
 
ผื่น...ลมพิษ
 
วันที่ 08 ม.ค. 2551   โดย อาราดา
 
 

 

 

หลายคนคิดว่าผื่นตามผิวหนังของลูกที่เรียกว่า “ลมพิษ” นั้นเกิดขึ้นเองและหายไปเองได้ แต่นั่นเป็นแค่ความจริงเพียงบางส่วนค่ะเพราะลมพิษมีอาการหลากหลายรูปแบบมากกว่าที่เราเคยรู้

รศ.นพ.มนตรี อุดมเพทายกุล รองผู้อำนวยการศูนย์ผิวหนัง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จะพาเราไปรู้จักลมพิษ ซึ่งเป็นโรคที่มีสาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากการแพ้ มีโอกาสกับเด็กเล็กๆ ได้ เพื่อคุณพ่อคุณแม่จะสามารถสังเกตอาการและดูแลเจ้าตัวเล็กของคุณได้อย่างถูกต้องค่ะ

 

Q : โรคลมพิษเป็นอย่างไรคะ

A : โรคลมพิษ คือโรคหรืออาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับสิ่งกระตุ้น (ส่วนใหญ่เป็นสารก่อภูมิแพ้) เข้าไป ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อผิวหนังหรือในบางกรณีอาจส่งผลต่อระบบอวัยวะภายในได้ครับ

เมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ก็เกิดการหลั่งสารฮีสตามีนและสารอื่นๆ อีกหลายชนิด ถ้าเป็นที่ผิวหนังก็จะทำให้มีอาการคันจนเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ในบางรายที่เกิดขึ้นกับอวัยวะภายในก็จะทำให้หลอดลมบวมแล้วตีบทำให้หายใจลำบากหัวใจและเส้นเลือดเกิดภาวะช็อก แต่กรณีนี้มีโอกาสเกิดในเด็กน้อยมาก

 

Q : ลมพิษมีกี่ชนิดคะ

A : ลมพิษแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. ลมพิษเฉียบพลัน ผื่นลมพิษมักจะหายไปภายใน 24 ชั่วโมงซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจาก อาหาร ยา การติดเชื้อบางชนิดหรือการได้รับสารก่อภูมิแพ้

2. ลมพิษเรื้อรัง ผื่นลมพิษเรื้อรังนั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม มักจะมีอาการเป็นๆ หายๆ ต่อเนื่องกันเกิน 6 สัปดาห์หรือประมาณเดือนครึ่ง

 

Q : สาเหตุของโรคลมพิษล่ะคะ

A : มีหลายสาเหตุดังนี้ครับ

กรรมพันธุ์ ถ้าคนในครอบครัวมีประวัติภูมิแพ้ ก็จะทำให้เด็กเกิดมามีโอกาสแพ้ได้มากกว่าเด็กทั่วไป เช่น แพ้สารสูดดมที่มาจากละอองเกสร ฝุ่น เชื้อรา หรือแมลงสาบ ทำให้เกิดการระคายเคืองที่ระบบทางเดินหายใจและเป็นผื่นคันชนิดลมพิษก็ได้

 

อาหาร เช่น นม ไข่ อาหารทะเล สารกันบูด สีผสมอาหารบางชนิด ก็ทำให้เกิดลมพิษได้</p>

ยา ปฏิกิริยาจากยาบางชนิดอาจทำให้เกิดผื่นลมพิษได้เช่นกันตัวอย่างเช่นยาในกลุ่มปฏิชีวนะ เพนนิซิลิน แอสไพริน โดยทั่วไปเด็กเล็กๆ จะมีโอกาสแพ้ยาได้น้อย เนื่องจากไม่ค่อยได้พบเจอกับยามากมายเหมือนผู้ใหญ่

อาการอักเสบติดเชื้อในร่างกาย เช่น ไข้หวัด ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบหายใจส่วนบน เช่น ทอมซิลอักเสบ ฟันผุ โรคไซนัสอักเสบ โรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี ซี ก็อาจทำให้มีการปล่อยเชื้อแบคทีเรียแล้วร่างกายเราก็สร้างภูมิต้านทาน ซึ่งก่อให้เกิดลมพิษเรื้อรังได้เหมือนกันครับ

ลมพิษชนิดอนาไพแลคลิส (Anaphylaxis) เป็นลมพิษชนิดรุนแรง บางครั้งอาจจะเกิดจากผื่นลมพิษที่ผิวหนังร่วมกับอาการอักเสบบวมภายในร่างกาย หรือในบางรายก็ไปบวมภายในร่างกายเพียงอย่างเดียว การบวมที่หลอดลมจะทำให้ผู้ที่เป็นรู้สึกแน่น หายใจไม่ออก หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดอาการช็อค ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ถึงแม้ว่าลมพิษชนิดนี้มักจะพบในเด็กเล็กได้น้อยมาก คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการซึ่งอาจบ่งชี้ว่าลูกน้อยมีอาการของลมพิษอย่างรุนแรงคือ ถ้าหนูน้อยเพิ่งได้รับยา อาหารบางชนิด หรือโดนแมลงมีพิษกัด หลังจากนั้นอาจไม่มีผื่นหรือมีผื่นร่วมด้วย ประกอบกับมีอาการงอแงกระสับกระส่าย ร้องไห้ไม่หยุด เพราะยังบอกคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ว่าแน่นและหายใจไม่ออก กรณีนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยทันที</p>

อิทธิพลทางกายภาพ ผื่นลมพิษเกิดจากปฏิกิริยาของผิวหนังที่มีการตอบสนองผิดปกติต่อความร้อน ความเย็น แสงแดด และการกดรัด เป็นต้น

พิษจากแมลง ซึ่งแบ่งได้ 2 ชนิด คือ

1. แมลงตัวเล็ก เช่น มด ลิ้น ไร เห็บหมัด หากถูกกัดก็จะมีอาการคัน หรือแสบๆ คันๆ เกิดตุ่มลมพิษและตุ่มใสเป็นรอยกัดตามแขนขาที่โดนกัด

2. แมลงตัวใหญ่ เช่น ผึ้ง ต่อ แตน แมงมุมมีพิษ มดตะนอย มดคันไฟ ซึ่งอาจก่อให้เกิดลมพิษชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ได้

 

จากสาเหตุทั้งหมดนี้ในเด็กเล็กพบว่า มักจะเกิดจากการติดเชื้อและแมลงกัดต่อยครับ

 

Q : มีวิธีรักษาโรคลมพิษอย่างไรคะ

A : มีหลายวิธีครับ เช่น

·        หาสาเหตุและรักษาหรือหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษ

·        หลีกเลี่ยงการสัมผัส สูดดม สิ่งกระตุ้นให้เกิดลมพิษ

·        รักษาโรคติดเชื้อซึ่งอาจเป็นสาเหตุของลมพิษ เช่น ไข้หวัด ไซนัสอักเสบ ฟันผุ

·        ในรายที่เป็นลมพิษชนิดรุนแรงแพทย์ให้น้ำเกลือ ตามด้วยการให้ยาอะดรีนาลินเพื่อขยายหลอดลมรักษาอาการช็อค จากนั้นจึงให้ยาแก้แพ้

·        ใช้คาลาไมน์ทาบริเวณผื่นลมพิษเพื่อช่วยลดอาการคัน

·        ให้ใช้ใบพลู ใบตำลึงแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น หรือใช้ยาทาผื่นลมพิศสกัดจากใบพลูขององค์กรเภสัชกรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สะดวกไม่ต้องมานั่งตำเองแล้ว ยังสะอาดปลอดภัยอีกด้วย

 

ถึงแม้ลมพิษจะไม่ใช่โรคที่รุนแรง และพบไม่บ่อยในเด็กเล็กเมื่อเทียบกับภูมิแพ้ชนิดอื่น แต่คุณหมอก็แนะนำว่า เมื่อเด็กเกิดผื่นลมพิษขึ้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ต้องพาไปพบแพทย์เพราะอย่างน้อยจะได้ช่วยกันรีบหาสาเหตุของการเกิดผื่นลมพิษซึ่งหากพบว่าสิ่งใดคือสาเหตุที่ทำให้หนูน้อยเกิดลมพิษก็จะเป็นการช่วยไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีกได้

 
 

[ ที่มา...นิตยสารรักลูก ปีที่ 25 ฉบับที่ 298 พฤศจิกายน 2550 ]

URL Link : http://www.planpublishing.com

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]